messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับ สรอ. สมอ. ส.อ.ท. เปิดรับฟังความเห็นการพัฒนามาตรฐานตัวชี้วัดผู้ประกอบการเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว สู่มาตรฐานแห่งชาติ ช่วยหนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่ผู้ประกอบการสีเขียว

กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับ สรอ. สมอ. ส.อ.ท. เปิดรับฟังความเห็นการพัฒนามาตรฐานตัวชี้วัดผู้ประกอบการเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว สู่มาตรฐานแห่งชาติ ช่วยหนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่ผู้ประกอบการสีเขียว

วันที่เผยแพร่ 11 กุมภาพันธ์ 2025 141 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.) สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นสำหรับการพัฒนามาตรฐานตัวชี้วัดผู้ประกอบการเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Green Enterprise Indicator: GEI) ภายใต้โครงการพัฒนาร่างมาตรฐานตัวชี้วัดสำหรับผู้ประกอบการเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้องประชุมหว้ากอ 2 สอวช. โดยมี ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุม และชี้แจงความเป็นมาและความสำคัญของการพัฒนามาตรฐานตัวชี้วัด GEI

ดร.สุรชัย กล่าวถึงนโยบายบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy) ที่คณะทำงานของ สอวช. ได้มีส่วนร่วมจัดทำสมุดปกขาวเกี่ยวกับนโยบายเรื่องนี้ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และได้ผลักดันไปสู่การเป็นนโยบายระดับชาติ ซึ่งที่ผ่านมาภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศต่างให้ความสนใจ และ สอวช. ได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2567 ระหว่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ออกแบบแนวทางการนำเครื่องมือและหลักเกณฑ์ประเมิน BCG หรือ BCG Indicator มาประยุกต์ใช้ในระบบการประเมินผู้ประกอบการ ซึ่งต่อมา สสว. ได้นำเครื่องมือและหลักเกณฑ์ประเมินต่อยอดไปสู่ Green SME Index ในปี พ.ศ. 2567

“สอวช. เห็นความสำคัญและความจำเป็นของมาตรฐานตัวชี้วัด GEI จึงได้ร่วมมือกับ สรอ. สมอ. และ ส.อ.ท. ในการพัฒนาร่างมาตรฐานตัวชี้วัดดังกล่าว โดยมีแนวคิดในการต่อยอดสู่มาตรฐานแห่งชาติ (มตช.) เพื่อสนับสนุนระบบนิเวศนวัตกรรมสำหรับการเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการ ให้เป็นเครื่องมือพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ พร้อมทั้งสร้างโอกาสทางการค้าและก้าวข้ามมาตรการกีดกันทางการค้าในตลาดโลก การประชุมกลุ่มย่อยครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ร่วมกันเสนอข้อคิดเห็น เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการร่างมาตรฐาน รวมถึงข้อเสนอแนะกลไก ให้สามารถนำไปวางแผนพัฒนามาตรฐานตัวชี้วัดสำหรับผู้ประกอบการได้อย่างแท้จริง” ดร.สุรชัย กล่าว

จากนั้น นางจุรีพร บุญ-หลง ผู้จัดการโครงการ สรอ. ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ ที่จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนามาตรฐานตัวชี้วัดสำหรับผู้ประกอบการเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อให้เกิดการยอมรับในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย นำไปสู่การดำเนินการควบคุมดูแลด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม และเพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักให้แก่ผู้ประกอบการในการประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมให้มีการนำมาตรฐานไปใช้และต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรม โดยตัวชี้วัดของโครงการคือ มีมารตฐานตัวชี้วัดสำหรับผู้ประกอบการเพื่อเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว และมีแผนที่นำทาง (Roadmap) การพัฒนาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงมีระบบการประเมิน แนวทางการสร้างการรับรู้และความตระหนัก ให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อใช้ตัวชี้วัดสำหรับผู้ประกอบเพื่อเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว

นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเสนอข้อเสนอการพัฒนามาตรฐานตัวชี้วัด GEI โดยข้อเสนอด้านโครงสร้างและรูปแบบของมาตรฐานฯ แบ่งหัวข้อประเมินเป็น 4 มิติ ประกอบด้วย 1. มิติการจัดการสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจหมุนเวียน (Environmental Management & Circular Economy) 2. มิติห่วงโซ่คุณค่าและความร่วมมือ (Value Chain & Collaboration) 3. มิติระบบบริหารจัดการและความโปร่งใส (Governance & Transparency) และ 4. มิตินวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่าน (Innovation & Transition) ซึ่งมีข้อเสนอแนะในการพัฒนาผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ 1. พัฒนาคู่มือและเครื่องมือสนับสนุนที่เหมาะสมกับขนาดและทรัพยากรของแต่ละผู้ประกอบการ 2. สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการเพื่อแบ่งปันความรู้และทรัพยากร 3. จัดหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนการปรับปรุงสมรรถนะการดำเนินงานตามแต่ละมิติของตัวชี้วัด และ 4. พัฒนาระบบการให้คำปรึกษาและสนับสนุนทางเทคนิค โดยการจัดประชุมครั้งนี้ ได้มีการรับฟังความเห็นจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนสถานประกอบการ ด้านเศรษฐกิจหมนุเวียน เศรษฐกิจสีเขียว และมีแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESG) รวมถึงผู้แทนสถาบันการเงิน

เรื่องล่าสุด