กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางด้านพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (National Designated Entity: NDE) โดย ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. และ TNA Coordinator ประจำประเทศไทย ได้รับเชิญจาก Steering Committee Members ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ UN Environment Programme Copenhagen Climate Centre (UNEP-CCC) กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) และกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินโครงการประเมินความต้องการเทคโนโลยี (Technology Needs Assessment: TNA) ของประเทศไทยที่ผ่านมา และแนวทางการดำเนินโครงการ TNA ครั้งใหม่ในเฟส V เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568

ดร.สุรชัย ได้แบ่งปันประสบการณ์การนำเอา TNA เฟส I ไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายระดับประเทศ ในแผนการลดก๊าซเรือนกระจกระดับชาติของประเทศไทย (National Greenhouse Gas Emission Reduction Plan) และใน NDC (Nationally Determined Contribution) ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องรายงานแก่ UN โดยในการดำเนินโครงการ TNA ใหม่ (เฟส V) ทาง สอวช. และศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค วางแผนที่จะนำเครื่องมือคาดการณ์อนาคตมาดำเนินการร่วมกับการเพิ่มการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน โดยในการประชุมครั้งนี้ Committee ได้มีข้อเห็นด้วยต่อการที่ประเทศไทยจะนำเครื่องมือ Foresight มาใช้ในการทำงานร่วมกับ Guideline ที่ได้กำหนดไว้

ในการประชุมนี้ ดร.ศรีฉัตรา ไชยวงค์วิลาน นักยุทธศาสตร์ 1 สอวช. ได้นำเสนอหลักการและเหตุผลเพิ่มเติมที่จะนำเครื่องมือคาดการณ์อนาคตมาใช้ในการดำเนินโครงการ TNA เฟส V นี้

ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ TNA Global project เฟส 1 เมื่อปี ค.ศ. 2009-2012 เพื่อประเมินความต้องการเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งด้านการปรับตัว (Adaptation) และลดผลกระทบ (Mitigation) รวมถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการเทคโนโลยี (Technology Action Plan) และในปี 2023 ประเทศไทยเป็น 1 ใน 17 ประเทศที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก Global Environment Facility (GEF) ภายใต้โครงการ TNA Global project phase V ที่จะดำเนินการระหว่างปี ค.ศ. 2025-2027

