รศ.วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน เข้าร่วมงานมอบรางวัล BCG Award โครงการอุตสาหกรรม BCG ต้นแบบ ในงาน FTI Expo 2025 จัดโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ณ HALL 5-8 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยผู้ได้รับรางวัล คือบริษัทที่เข้าร่วมรับการประเมินตามโครงการอุตสาหกรรม BCG ต้นแบบ ซึ่งมีการนำเกณฑ์ BCG Indicators มาใช้ ประเมินผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจการตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ช่วยให้ผู้ประกอบการได้เข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อน แนวทางการพัฒนาตนเอง โอกาสในการพัฒนาธุรกิจ และสามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตและบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

รศ.วงกต ได้แนะนำถึงบทบาทและภารกิจของ สอวช. ที่เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายทั้งด้านการอุดมศึกษา ในส่วนของการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรม และด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงสังคมศาสตร์ด้วย โดย ฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน สอวช. ได้ร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ส.อ.ท. ในการออกแบบแนวทางการนำเครื่องมือและหลักเกณฑ์ประเมิน BCG มาประยุกต์ใช้ในระบบการประเมินผู้ประกอบการ เพื่อสร้างแนวทางการพัฒนาตนเอง พร้อมเชื่อมโยงไปสู่เครื่องมือทางการเงิน และสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากภาครัฐและภาคธนาคาร

หลังจากริเริ่มการขับเคลื่อนเรื่อง BCG มาแล้วระยะหนึ่ง ปัจจุบันมีความสำเร็จและเห็นทิศทางภาพอุตสาหกรรมมากขึ้น จึงเป็นที่มาของโครงการอุตสาหกรรม BCG ต้นแบบ ที่จะยกระดับผู้ประกอบการขึ้นมา นอกจากจะช่วยนำไปสู่เป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว ในอนาคต สอวช. ยังมีแนวทางพัฒนาและขยาย เป้าหมายต่อไปในมิติอื่น ๆ เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ซึ่งจะมีความซับซ้อนมากกว่าประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการด้าน BCG นั้น ส่วนที่รัฐบาลและ ภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกัน ได้แก่ 1. การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อส่งเสริมการลงทุนในงานวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง 2. การให้การสนับสนุนด้านการเงิน เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือการ สนับสนุนเงินทุนสำหรับธุรกิจที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3. การ พัฒนาบุคลากรและทักษะ เพื่อสนับสนุนการอบรมและพัฒนาทักษะของบุคลากรในภาคธุรกิจ 4. การสร้าง เครือข่ายและความร่วมมือระหว่างธุรกิจ องค์กรภาครัฐและเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และพัฒนาโซลูชันร่วม ในการส่งเสริม BCG 5. การสร้างความตระหนักและการตลาด เพื่อส่งเสริมการสร้างการรับรู้ในตลาดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ 6. การส่งเสริมการใช้พลังงาน ทดแทน เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้พลังงานหมุนเวียน และ 7. การสร้างนโยบายและมาตรการที่เอื้อต่อการลงทุน โดยการจัดตั้งนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนผู้ประกอบการด้าน BCG ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการสร้างระบบนิเวศที่ สอวช. ตั้งใจจะพัฒนาร่วมกับ ส.อ.ท. สสว. และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน
“สิ่งที่ สอวช. ต้องการและขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ อย่างแรกคือ การทำสิ่งที่ได้ทำมาต่อไปให้มีความยั่งยืน และอย่างที่สอง อยากให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้ ผ่านการถ่ายทอดความรู้เรื่อง BCG ให้กับห่วงโซ่อุปทาน โรงงาน และชุมชนโดยรอบ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ และหากในอนาคตมีการจัดตั้งโรงงานใหม่ ภาคประชาชนและสังคมก็จะมีความยินดี หากเกิดการจ้างงานที่อยู่บนความยั่งยืนมากขึ้น” รศ.วงกต กล่าวปิดท้าย
