messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “ดร.สิริพร พิทยโสภณ” รองผู้อำนวยการ สอวช. ส่งต่อแรงบันดาลใจสู่หญิงไทย “อย่าหยุดพัฒนา อย่ายอมจำนนกับปัญหา” มองงานนโยบายไม่ใช่แค่ตัวเลขหรือเอกสาร แต่มันต้องมีชีวิต เผยอยากเห็นสตรีมี สัดส่วนเป็นผู้บริหารในทุกองค์กร

“ดร.สิริพร พิทยโสภณ” รองผู้อำนวยการ สอวช. ส่งต่อแรงบันดาลใจสู่หญิงไทย “อย่าหยุดพัฒนา อย่ายอมจำนนกับปัญหา” มองงานนโยบายไม่ใช่แค่ตัวเลขหรือเอกสาร แต่มันต้องมีชีวิต เผยอยากเห็นสตรีมี สัดส่วนเป็นผู้บริหารในทุกองค์กร

วันที่เผยแพร่ 18 มีนาคม 2025 142 Views

เนื่องในเดือนมีนาคม ถือเป็นเดือนสตรีสากล ดร.สิริพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เปิดเผยแนวคิดและประสบการณ์การทำงานที่ ครอบคลุมตั้งแต่นโยบายระดับประเทศไปจนถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับชุมชน พร้อมแสดงจุดยืน เกี่ยวกับบทบาทของสตรีในการบริหารองค์กร และแนวคิดเรื่อง “โรงเรียนพ่อแม่” และ “ศูนย์เด็กเล็ก”  ที่ ครอบคลุมทั้งในเมืองและชนบท

จุดเริ่มต้นในวงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

ดร.สิริพร เริ่มเข้าสู่แวดวงวิทยาศาสตร์ ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ฝ่ายวิจัยนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตั้งแต่ปี 2544 โดยได้รับผิดชอบให้จัดทำดัชนีวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศ และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดทำแผนกลยุทธ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (พ.ศ. 2547-2556) ฉบับแรก (เล่มสีแดง) ซึ่งมี การนำแนวคิดใหม่ ๆ มาผนวกในการจัดทำแผน

ในปี 2551  มีแนวคิดที่จะแยกหน่วยงานด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและ นวัตกรรมออกจาก สวทช. จึงได้มอบหมายให้ฝ่ายนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของ สวทช. เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และได้ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2551 จนสำเร็จ โดย ดร.สิริพร เองได้มีส่วนในการจัดทำสมุดปกขาว เพื่อใช้สนับสนุนการออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ และได้มีการจัดตั้ง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ขึ้นมา ในขณะนั้น ได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านการพัฒนากำลังคนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยขยายผลโรงเรียนเทคโนโลยี ฐานวิทยาศาสตร์ไปสู่ภูมิภาค และเป็นหนึ่งในทีมของการจัดทำแผนวิทยาศาสตร์เล่มเขียวเป็นแผนด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ซึ่งมุ่งเน้นนำ วทน. ไปช่วยในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ต่อมา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายดัชนีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในปี 2556 ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้ไปศึกษาต่อปริญญาเอกด้านนโยบายนวัตกรรม ถือเป็นช่วงที่ พักจากการทำงาน ไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งในระหว่างการเรียนที่ญี่ปุ่น ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ซึ่งท่านเป็นเลขาธิการ สวทน. ในขณะนั้นได้ รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ในช่วงระยะเวลาที่เรียนญี่ปุ่นมีโอกาสได้ช่วยงาน ดร.พิเชฐ เมื่อครั้งที่ท่านเดินทางมาปฏิบัติภารกิจที่ญี่ปุ่นด้วย และหลังจากเรียนจบปริญญาเอก ท่านก็ชวนให้ไปช่วยงานเป็นข้าราชการการเมือง นับว่าเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของชีวิต

ในปี 2560 ดร.สิริพร ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ สวทน. ก่อนเกิดการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อให้เกิดการบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อน และสามารถผลักดันให้มีการนำงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ได้มีการกำหนดให้มี สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ แล้วให้ สวทน. และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทำงานร่วมกันในฐานะเลขานุการ ซึ่ง ดร.สิริพรได้รับมอบหมายให้ดูแลงานส่วนนี้ นับเป็นจุดที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมที่มีงบประมาณขับเคลื่อนจากแผนบูรณาการวิจัยและนวัตกรรม โดยให้ วช. รับผิดชอบด้านสังคม และ สวทน. รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจกับโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้มีการริเริ่มแผนงาน Spearhead นับเป็นการปรับกระบวนการจัดสรรงบประมาณวิจัยและนวัตกรรม และเกิดการเปลี่ยนแปลงการ ให้ทุนด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยให้เอกชนมาร่วมลงทุนด้วย รวมถึงการบริหารจัดการทุนที่ใช้แนวคิดจาก ประเทศญี่ปุ่น หลังจากการดำเนินงานดังกล่าว เกิดผลกระทบเป็นที่น่าพอใจ

ในปี 2562 ระหว่างที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้ง ดร.สิริพร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองเลขาธิการ สวทน. ก่อนที่จะได้รับมอบหมายให้ช่วยทำรายละเอียดการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม หรือ กระทรวง อว. (ในปัจจุบัน) ซึ่ง ดร.สิริพร เป็นหนึ่งในทีมที่ทำข้อเสนอการจัดตั้งกระทรวง อว. และอยู่ในกระบวนการผลักดันเชิงนโยบายจึงทำให้เกิด กระทรวง อว. และนั่นก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในการ ถือกำเนิดของ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562

ดร.สิริพร เปิดเผยว่า ทุกช่วงเวลาตั้งแต่การทำงานนโยบายที่ สวทช. เปลี่ยนผ่านมาเป็น สวทน. และ สอวช. เป็นช่วงเวลาของการ เรียนรู้และปรับตัวตลอดเวลา “พูดได้ว่า มีความสุขในการทำงานทุกช่วงที่ผ่านมา เป็นความทรงจำที่ดีของตัวเอง เพราะมีหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน และทีมงานที่ดีมาก ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านสักกี่ครั้ง แต่ทุกครั้ง ทุกคน พร้อมจะเดินไปด้วยกัน”

จากนโยบายสู่ภาคปฏิบัติ: สร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง

จากประสบการณ์การทำงานใน สอวช. ดร.สิริพร มองว่า การผลักดันนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไม่ควรจำกัดอยู่แค่การทำเอกสารบนโต๊ะ แต่ต้องลงพื้นที่ไปให้เห็นหน้างาน เห็นการทำงานจริง ได้พูดคุยกับผู้ที่จะใช้ประโยชน์จริง

“งานนโยบายไม่ใช่แค่เอกสาร แต่เป็นสิ่งที่ต้องส่งผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง ต้องมีคนได้รับประโยชน์จริง ต้องลงไปเห็นหน้างานจะเข้าใจปัญหาและความต้องการ” ดร.สิริพร ยังกล่าวเสริมว่า ได้มีโอกาสทำงานเชิงพื้นที่ ร่วมกับหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในเรื่องของการขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เปิดมุมมองการทำงานที่ได้ลงไปคลุกคลีกับพื้นที่ และได้ไปเยี่ยมชมการดำเนินงานด้านนี้ของจีนด้วย ทำให้เห็นว่าการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมไปพัฒนาชุมชนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ สร้างการเปลี่ยนแปลงได้

ยึดคำสอน “อย่ายอมจำนนต่ออุปสรรค”

ดร.สิริพร ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับผู้ใหญ่หลายท่านที่เหมือนเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ โดยมีคำสอนหนึ่งที่ใช้ปฏิบัติมาตลอดว่า อย่ายอมจำนน เวลาที่คุณคิดว่าชักจะหมดหนทางแล้ว ขอให้ตั้งสติและมองไปรอบ ๆ ตัว คิด วิเคราะห์อย่างรอบคอบอย่างมีสติ มีสมาธิ แม้ว่าหนทางนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่ปัญหาบางอย่าง อาจจะถูกแก้ไขไปได้บ้าง นอกจากนี้ยังได้รับคำสอนให้เผชิญหน้ากับความท้าทายอยู่เสมอ เมื่อไหร่ที่เราผ่านจุดนั้น ได้ เราก็จะเก่งขึ้นเรื่อย ๆ

“อีกหนึ่งคำสอนที่นำมาปฏิบัติ คือ การอดทน เวลาที่เราทำงานอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำงานนโยบายหลายครั้ง มันเหมือนกับ เราพายเรือ แล้วเรือเราดันมีคนมาขึ้นเยอะด้วย ดังนั้น อย่าสละเรือและอย่าให้เรือล่ม คุณต้องประคองไว้ จนกว่าที่มันจะขึ้นฝั่งได้ หรือให้มันลอยอยู่กลางน้ำอย่างมั่นคงที่สุด”

บทบาทของผู้หญิงในองค์กร: การสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง

ในฐานะผู้หญิงที่อยู่ในแวดวงนโยบายวิทยาศาสตร์มาอย่างยาวนาน ดร.สิริพร มองว่า ผู้หญิงก็มีความสามารถที่ จะช่วยบริหารองค์กรได้ เพราะความสามารถในการประนีประนอมและการรับมือกับแรงกดดันในการทำงานได้ ดี “ความเป็นผู้หญิงทำให้เราได้เปรียบในบางเรื่อง เช่น เราดูไม่แข็งเกินไป ทำให้การเจรจาต่อรอง การประนีประนอมมีโอกาสสำเร็จ รวมถึงการทำงานเชิงนโยบายที่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งสูง เราก็สามารถจัดการมันได้” อยากให้ ผู้หญิงทุกคนมั่นใจที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทาย เพราะทุกขณะคือ การเรียนรู้ สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง

สร้างสมดุลชีวิตระหว่างงานและครอบครัว

เมื่อพูดถึงการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและครอบครัว ดร.สิริพร เชื่อว่า ผู้หญิงสามารถประสบ ความสำเร็จและรักษาสมดุลชีวิตที่ดีได้ทั้งสองด้าน หากมีการวางแผนและจัดลำดับความสำคัญที่ดี สำหรับ ดร.สิริพร แล้ว แม้จะมีภาระงานมาก แต่ก็จะจัดสรรเวลาสำหรับครอบครัวเสมอ ซึ่ง ดร.สิริพร มีการพูดคุยกับลูกสาวตลอดว่า “เป็นลูกแม่ต้องอดทน ต้องเข้มแข็ง”  และโชคดีมากที่ลูกเข้าใจ จากคำพูดของลูกที่ว่า “แม่ หนูอยากโตมาแล้วเป็นเหมือนแม่ หนูว่าแม่นี่สู้ มากเลยนะ”

โรงเรียนพ่อแม่และศูนย์เด็กเล็ก: รากฐานสำคัญของสังคมไทย

จากคำพูดของลูก ทำให้ ดร.สิริพร กลับมาคิดว่า การเป็นแม่ที่ต้องทำงานด้วย เลี้ยงลูกด้วย จะมีภาระงานที่หนัก มาก  ยากต่อการสร้างสมดุล  ยากต่อการบริหารอารมณ์ที่ต้องรับภาระหนักทั้งสองด้านพร้อมกัน  ดังนั้น  จึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้เกิด “โรงเรียนพ่อแม่” ซึ่งเป็นแนวคิดที่เห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพประชากรไทย โดยมุ่งหวังให้พ่อแม่ได้รับความรู้ด้านพัฒนาการเด็ก เพื่อช่วยให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ และลดปัญหาสังคมในระยะยาว “เวลาเรามีลูกคนแรก ทุกคนจะงงหมดเลยว่าต้องทำอย่างไร แต่จุดหนึ่งที่ตั้งใจ ไว้มาก ๆ ก็คือ เราอยากให้ลูกมีคุณภาพ ไม่ใช่แค่เก่ง แต่ต้องมีจิตสำนึกที่ดี ถ้ามีพ่อแม่ที่มีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดู เด็ก ประเทศก็จะได้ประชากรที่มีคุณภาพมากขึ้น”

นอกจากนี้ ดร.สิริพร ยังชี้ว่า ควรจัดตั้ง “ศูนย์เด็กเล็ก” ให้ครอบคลุมทั้งในเมืองและชนบท โดยเฉพาะในเขต เมืองที่มีจำนวนศูนย์เด็กเล็กไม่เพียงพอต่อความต้องการ พ่อแม่ที่ต้องทำงานน่าจะมีสถานที่ดูแลเด็กที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ

แรงบันดาลใจสู่ผู้หญิงไทย: “อย่าหยุดพัฒนา อย่ายอมจำนนกับปัญหา”

“อยากให้ผู้หญิงทุกคนเห็นคุณค่าของตัวเอง และอย่าหยุดพัฒนา อย่าคิดว่าเราเป็นผู้หญิงแล้วจะมีข้อจำกัด ถ้า เรามีเป้าหมายและตั้งใจจริง ๆ เราจะหาทางจัดสมดุลชีวิตและงานได้” เธอทิ้งท้ายด้วยแนวคิดที่ได้รับการ ปลูกฝังจากประสบการณ์การทำงานว่า “อย่ายอมจำนนกับปัญหา” และมองหาทางออกอยู่เสมอ เพราะทุกความ ท้าทายที่ผ่านไปได้ จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น

“ดร.สิริพร พิทยโสภณ” คือแบบอย่างของผู้หญิงแกร่งที่ไม่เพียงผลักดันนโยบายระดับประเทศ แต่ยังมี ความเข้าใจในระดับครอบครัวและชุมชน เธอเป็นตัวแทนของผู้หญิงยุคใหม่ที่พร้อมจะสร้างการ เปลี่ยนแปลงให้กับประเทศในทุกระดับ”

Tags:

เรื่องล่าสุด