(17 มีนาคม 2568) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำโดย ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. พร้อมด้วยตัวแทนผู้บริหารและบุคลากร สอวช. ให้การต้อนรับ คณะจาก Thailand Policy Lab ภายใต้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) นำโดย Ms. Niamh Collier – Smith ผู้แทน UNDP เพื่อร่วมประชุมหารือถึงแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในอนาคต

ดร.สุรชัย ได้แนะนำถึงบทบาท ภารกิจและการดำเนินงานของ สอวช. ที่เป็นเสมือนหน่วยงานมันสมองด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ของประเทศ หน้าที่สำคัญคือการทำนโยบาย ครอบคลุมทั้งด้านการอุดมศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม รวมถึงด้านสังคมศาสตร์ด้วย โดยมีทิศทางการดำเนินงานคือ 1. Future Setting 2. จัดทำกรอบนโยบาย อววน. 3. พัฒนาข้อริเริ่มใหม่และแพ็คเกจนโยบาย 4. ออกแบบมาตรการการปลดล็อก และแซนด์บ็อกซ์ เพื่อให้มีกฎหมาย ระเบียบ มาตรการ กลไก และแนวปฏิบัติ ที่เอื้อต่อการดำเนินกิจกรรมวิจัยและสร้างนวัตกรรม 5. การวิจัยระบบและออกแบบกลไก ทั้งการออกแบบโครงสร้างระบบ อววน. การบริหารจัดการนโยบาย การออกแบบระบบบริหารจัดการ การจัดสรรงบประมาณ ระบบการติดตามประเมินผล 6. รวมระบบข้อมูลสำหรับการกำหนดนโยบาย งบประมาณและการติดตามประเมินผลเพื่อให้ฐานข้อมูลเกิดการเชื่อมโยงกัน และ 7. ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการทำหน้าที่รับผิดชอบงานวิชาการและงานธุรการของสภานโยบายฯ

การดำเนินงานของ สอวช. ที่เข้าไปช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1. ด้านเศรษฐกิจ การสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมและส่งเสริมโอกาสในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ อุตสาหกรรมอาหารอนาคต อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ฯลฯ ยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศด้านวิจัยและนวัตกรรมและยกระดับบทบาทไทยในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ 2. ด้านสังคม สนับสนุนการพัฒนาคนไทยให้มีทักษะตามความต้องการแรงงานในอนาคต โดยได้ทำข้อมูลสำรวจความต้องการบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม มีมาตรการทางภาษี Thailand Plus Package เพื่อพัฒนาทักษะแรงงานด้าน STEM เร่งมหาวิทยาลัยผลิตกำลังคนเพื่อตอบสนองความต้องการในระยะเร่งด่วน และมีกลไกสนับสนุนการพัฒนากำลังคนร่วมกับภาคอุตสาหกรรม และ 3. ด้านสิ่งแวดล้อม วางแนวทางการใช้ อววน. เพื่อเร่งการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ด้วยการสนับสนุนให้เกิดเมืองนวัตกรรมต้นแบบ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” และการจัดทำแพลตฟอร์มสนับสนุนมหาวิทยาลัย Net Zero GHG Emissions





อีกบทบาทสำคัญของ สอวช. คือการเป็นเจ้าภาพของศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปคในประเทศไทย (APEC Center for Technology Foresight) สอวช. ได้สนับสนุนให้หลายองค์กรนำเครื่องมือคาดการณ์อนาคตไปใช้ โดยเฉพาะการคาดการณ์กระแสสำคัญที่อาจเกิดขึ้นทั้งในระดับนานาชาติและระดับท้องถิ่น ซึ่งแน่นอนว่าการคาดการณ์อนาคตนั้นจะเข้ามาช่วยในการทำนโยบายที่ตอบโจทย์ด้วยเช่นกัน โดยที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ได้แก่ 1. การคาดการณ์เทคโนโลยีรองรับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Technology Foresight) 2. การคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (APEC STI Strategic Foresight: Net-zero Emissions) และ 3. การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของเอเปค เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net-Zero นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการคือการประเมินความต้องการเทคโนโลยี (Technology Needs Assessment: TNA) เพื่อประเมินว่าไทยต้องการเทคโนโลยีอะไรในการลดก๊าซเรือนกระจก จัดทำเป็นรายงานส่งไปที่องค์การสหประชาชาติ (UN)


ด้าน UNDP เป็นหน่วยงานการพัฒนาของ UN ซึ่งทำงานเพื่อสนับสนุนงานของประเทศต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่ง Thailand Policy Lab (TPLab) เป็นห้องปฏิบัติการนโยบาย ที่ก่อตั้งโดยสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ UNDP โดยการทำงานของ TPLab จะปรับกระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะในรูปแบบเดิมมาเป็นกระบวนการออกแบบนวัตกรรมนโยบาย ซึ่งมีฐานคิดที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมสู่การคิดอย่างเป็นองค์รวมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดย 3 เสาหลักในการทำงานของ TPLab ได้แก่ 1. การพัฒนากระบวนการและพื้นที่เพื่อการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบาย (Policy Innovation Exploration and Experimentation) เพื่อสร้างพื้นที่และเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการทดลองนวัตกรรมเชิงนโยบาย 2. การยกระดับขีดความสามารถของผู้จัดทำนโยบาย (Capacity Building on Policy Innovation) เพื่อสร้างองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์การใช้เครื่องมือการพัฒนานโยบายใหม่ ๆ ให้สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และขยายผลให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำยุทธศาสตร์และนโยบายของประเทศได้อย่างยั่งยืน 3. การสร้างและพัฒนาเครือข่ายนวัตกรและผู้จัดทำนโยบาย (Learning Community of Innovators) มุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายผู้จัดทำนโยบายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการสร้างสรรค์แนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนานโยบายสาธารณะแห่งอนาคตผ่านการใช้นวัตกรรมที่หลากหลายและเหมาะสม





โดย สอวช. และ UNDP ได้หารือแลกเปลี่ยนถึงการดำเนินงานร่วมกันในอนาคต ซึ่งมีประเด็นต่าง ๆ ที่นำมาพูดคุยกัน อาทิ ความร่วมมือในการทำนวัตกรรมเชิงนโยบาย (Policy Innovation) ผ่านการทำโครงการ การใช้เครื่องมือ หรือการใช้แพลตฟอร์มร่วมกัน การสร้างเครือข่ายนักทำนโยบาย (Network of policymakers) การสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการนวัตกรรมหรือผู้ประกอบการในกลุ่มเยาวชน (Youth and Innovation Entrepreneurship) การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition: JET) เป็นต้น
