รศ.วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมงานประชุมวิชาการประจำปี 2568 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) (NSTDA Annual Conference: NAC2025) ที่จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (AI-driven Science and Technology for Sustainable Thailand) โดยได้ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในงานสัมมนา “The Future of Decarbonizing Transportation and Power Generation Sector in Thailand: ไขกุญแจสู่ความสำเร็จด้านพลังงานสะอาดในภาคอุตสาหกรรม” เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุม SD-601 อาคาร 12 (สราญวิทย์) ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 300 คน

รศ.วงกต กล่าวถึงประเด็นการนำ AI มาใช้ในการคาดการณ์อนาคต (Foresight) เพื่อนำไปสู่การไขกุญแจสู่ความสำเร็จในการผลิต การขนส่ง และการใช้พลังงานสะอาดในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รองรับการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายประเทศที่มีความสำคัญทั้งด้านความยั่งยืนและความมั่นคงในยุคปัจจุบัน การคาดการณ์อนาคตจะช่วยให้ประเทศสามารถพิจารณาจัดเรียงการเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ในเวลาที่เหมาะสม อีกทั้งสามารถเปรียบเทียบเทคโนโลยีอนาคตต่าง ๆ ได้ว่า ประเทศควรมุ่งสู่ทิศทางการพัฒนาในด้านใด ในช่วงเวลาใด โดยเฉพาะในภาคขนส่งและภาคผลิตไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นสองภาคเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ

ผลการคาดการณ์อนาคตของระบบคมนาคมและการขนส่งแสดงให้เห็นถึงสัญญาณการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนอย่างชัดเจน โดยในระยะสั้น ประชาชนมีความตระหนักในการเริ่มเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า e-fuels ไฮโดรเจน และ SAF พร้อมทั้งเกิดกระแสนิยมการใช้ยานพาหนะขนาดเล็กในเมือง เช่น จักรยานไฟฟ้าและสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ในระยะกลาง ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถบรรทุกจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น การขนส่งอัตโนมัติจะเริ่มเป็นระบบหลัก และเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบถอดเปลี่ยนได้จะเริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ส่วนในระยะยาว คาดว่าจะเข้าสู่ระบบคมนาคมอัจฉริยะอย่างเต็มรูปแบบ มีการใช้ AI ควบคุมระบบขนส่งและรถไร้คนขับ การเดินทางทางอากาศและทางเลือกใหม่ เช่น Hyperloop เรือเร็ว และโดรนขนส่งสินค้าจะได้รับการพัฒนาไปพร้อมกับการผลักดันเมืองปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Zero-Emission Cities) อย่างจริงจัง

สำหรับระบบพลังงาน ระยะสั้นจะเห็นการขยายตัวของพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลมและแสงอาทิตย์ ในราคาที่ต่ำลง รวมถึงการเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจไฮโดรเจนและการเข้าสู่ตลาดของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ใหม่อย่าง Solid-State และ Sodium Battery พร้อมทั้งการพัฒนาระบบ Smart Grid อย่างต่อเนื่อง ระยะกลางมีการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานระยะยาว มีบทบาทของเชื้อเพลิงหมุนเวียนชนิดใหม่ รวมถึงการใช้พลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMRs) นำไปสู่การปฏิวัติระบบผลิตไฟฟ้าของโลก

นอกจากนี้ นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้สรุปประเด็นส่วนนโยบายและแผนด้านพลังงานของประเทศ โดยเน้นที่ความก้าวหน้าของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศ และ ดร.ประสิทธิ์ สิริทิพย์รัศมี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ได้นำเสนอภาพรวมภารกิจด้านการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นภารกิจหลักของ สกพ. ทั้งในมิติความมั่นคง เศรษฐกิจและความยั่งยืนโดยมุ่งเน้นในส่วนการลดก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว ผ่านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เหมาะสมกับประเทศไทย
สอวช. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบส่วนนโยบายระดับชาติ ทั้งด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) และยังเป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ที่รับผิดชอบด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology transfer) ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) ให้ช่วยในการประเมินความต้องการเทคโนโลยีของไทย (Technology Needs Assessment: TNA) เพื่อรายงานต่อองค์การสหประชาชาติถึงความต้องการเทคโนโลยีต่าง ๆ ในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ผ่านการทำงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถรับฟังการเสวนาย้อนหลังได้ที่ (ช่วงเสวนาเริ่มในนาทีที่ 50 เป็นต้นไป) https://www.facebook.com/share/v/169uwfXovR/?mibextid=wwXIfr