messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมงาน ASEAN-EU Forum on Aviation Research and Innovation (R&I) เสริมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมการบิน มุ่งสู่เทคโนโลยีสีเขียวและดิจิทัล

กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมงาน ASEAN-EU Forum on Aviation Research and Innovation (R&I) เสริมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมการบิน มุ่งสู่เทคโนโลยีสีเขียวและดิจิทัล

วันที่เผยแพร่ 2 เมษายน 2025 26 Views

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เข้าร่วมงาน ASEAN-EU Forum on Aviation Research and Innovation (R&I) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25–27 มีนาคม พ.ศ. 2568 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ตามคำเชิญของสำนักงานความปลอดภัยการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Union Aviation Safety Agency: EASA) ในฐานะเจ้าภาพหลัก

งาน ASEAN-EU Forum on Aviation Research and Innovation (R&I) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ นวัตกรรม และการแบ่งปันความรู้ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.: STI) และการบินของอาเซียนและสหภาพยุโรป ตลอดระยะเวลา 3 วันของการประชุม มีการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการบินระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป ความสามารถด้านการวิจัย ความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ โดยเน้นเป็นพิเศษในหัวข้อเทคโนโลยีการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Aviation Technologies) การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digitalisation) และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnerships)

ในการประชุมนี้ ดร.ดวงกมล พิหูสูตร นักพัฒนานโยบาย ฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ สอวช. ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยบรรยายในหัวข้อ “ขีดความสามารถและลำดับความสำคัญด้านการวิจัยและนวัตกรรมระดับชาติ” โดยนำเสนอภาพรวมของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566–2570 รวมถึงประเด็นมุ่งเน้นสำคัญ 15 ประเด็น กลไกการขับเคลื่อนแผนผ่านหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยทั้ง 9 แห่ง และตัวอย่างทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับอากาศยานและอวกาศ เช่น การพัฒนาอากาศยานไร้คนขับสำหรับการขนส่ง การเพิ่มขีดความสามารถของโดรนเพื่อการพาณิชย์ การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงวิทยาศาสตร์โลก เทคโนโลยีอวกาศ ภูมิสารสนเทศ และเทคโนโลยีดาวเทียม เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอนาคตและเศรษฐกิจที่มีศักยภาพของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนากำลังคนสำหรับอุตสาหกรรมการบินในอนาคต

ดร.ดวงกมล ยังได้นำเสนอกลไกการสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคผ่านโครงการ Global Partnership Program ของหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัย 3 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) บพข. และ บพค.

นอกจากนี้ ในงานยังมีตัวแทนจากหน่วยงานสำคัญด้านการศึกษาวิจัยและการให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาอากาศยานและอวกาศ รวมถึงการพัฒนากำลังคนขั้นสูงที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ร่วมบรรยายด้วย เช่น ภาพรวมของความตกลงการขนส่งทางอากาศอาเซียน-สหภาพยุโรป (Comprehensive Air Transport Agreement: CATA) และโครงการความร่วมมือด้านการบิน SCOPE โดยสำนักงานความปลอดภัยการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) ขีดความสามารถด้านการวิจัยและความร่วมมือในยุโรป โดย Horizon Europe การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเพื่อแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน โดย ORLEN S.A. และ Airbus ในสิงคโปร์

ประเด็นที่ได้รับความสนใจในวงการอากาศยานและอวกาศในปัจจุบัน นอกเหนือจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการจัดการการจราจรทางอากาศแล้ว ยังมีความสำคัญต่อเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ซึ่งมีการขับเคลื่อนอย่างจริงจังในเชิงพาณิชย์ เช่น บริษัท ORLEN S.A. ประเทศโปแลนด์ นอกจากนี้ ยังมีการเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnerships: PPP) ในการวิจัยและนวัตกรรม เช่น บริษัท Nandina REM สาธารณรัฐสิงคโปร์ และการร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอากาศยาน เช่น สำนักงานเลขาธิการการบินพลเรือนแห่งรัฐ (State Secretariat of Civil Aviation: SSCA) ประเทศกัมพูชา

เรื่องล่าสุด