messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. จัดประชุมชี้แจงการจัดเตรียมข้อมูลสำหรับโครงการการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม STIP Survey ประจำปี 2025

กระทรวง อว. โดย สอวช. จัดประชุมชี้แจงการจัดเตรียมข้อมูลสำหรับโครงการการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม STIP Survey ประจำปี 2025

วันที่เผยแพร่ 2 เมษายน 2025 31 Views

(31 มีนาคม 2568) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดการประชุมชี้แจง ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อจัดเตรียมข้อมูลสำหรับโครงการการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) หรือ EC-OECD Science, Technology and Innovation Policies (STIP) Survey 2025 ซึ่งเป็นโครงการของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission: EC) ร่วมกับ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) โดยการประชุมครั้งนี้มี ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมและอธิบายถึงวัตถุประสงค์ของการจัดเตรียมข้อมูล

ดร.สุรชัย กล่าวว่า STIP Survey 2025 เป็นการสำรวจข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเกี่ยวกับแนวโน้มของนโยบาย วทน. ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยถึงแม้จะยังไม่ได้เป็นสมาชิกของ OECD ก็ได้รับโอกาสที่ดีที่สามารถนำข้อมูลของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มนี้ได้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปเก็บรวบรวมไว้ในฐานข้อมูล ที่เรียกว่า STIP Compass และเปิดให้สาธารณะเข้าดูข้อมูลได้ผ่าน web portal โดยจะเป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับการวิจัยและให้คำปรึกษาเชิงนโยบาย สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ นักวิเคราะห์ และนักวิชาการจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่จำกัดเพียงแต่ประเทศสมาชิก OECD เท่านั้น ถือว่าเป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมนโยบาย วทน. ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และที่สำคัญยังได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติว่ามีความน่าเชื่อถือ มีความเป็นวิชาการ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

ดร.สุรชัย ยังได้เล่าถึงความเป็นมาของการสำรวจ STIP Survey ที่ผ่านมาจะจัดทำทุก ๆ 2 ปี โดยประเทศไทยเข้าร่วมตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 หลังจากได้ร่วมงานกับ OECD ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Committee for Scientific and Technological Policy: CSTP) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 ซึ่งขณะนั้นได้เข้าร่วมในนาม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เป็นผู้แทนไทยใน CSTP และเป็นผู้ประสานงานหลักในการสำรวจทุกครั้ง ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานเป็นอย่างดี

สำหรับวัตถุประสงค์ของการประชุม จัดขึ้นเพื่อชี้แจงความเป็นมา หลักการ เหตุผล รายละเอียดวิธีการสำรวจ การใช้งาน ประโยชน์และรายละเอียดของแพลตฟอร์ม EC-OECD STIP Compass รวมถึงการรายงานข้อมูล วทน. ของไทย ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจจะถูกนำไปใช้ประกอบการทำรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มการพัฒนา วทน. หรือ STI Outlook และสนับสนุนการดำเนินงาน Science and Technology Policy 2025 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ผ่านการปฏิรูปนโยบาย วทน. ของภาครัฐ

“การประชุมนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยแล้ว คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมด้วย โดยเฉพาะงานด้านนโยบายที่แต่ละหน่วยงานทำก็สามารถนำไปใส่ในแพลตฟอร์ม OECD ให้ทั้งโลกได้เห็น และเราเองก็จะได้รับประโยชน์จากนโยบายที่ OECD รวบรวมไว้ในระบบจากทั่วโลกด้วย” ดร.สุรชัย กล่าว

จากนั้น David Howoldt, Policy Analyst และ Jovana Poznan, Research officer เป็นผู้แทนจาก OECD Directorate for Science, Technology and Innovation ในการนำเสนอภาพรวมของแพลตฟอร์ม EC-OECD STIP Compass การใช้ประโยชน์ รายละเอียดของแพลตฟอร์ม อาทิ การใช้ AI เพื่อสนับสนุนการตอบแบบสำรวจ รวมถึงสถานะข้อมูลของประเทศไทยในแพลตฟอร์ม EC-OECD STIP Compass

นอกจากนี้ ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ สอวช. ได้ชี้แจงการรายงานข้อมูลนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทย โดยกล่าวเพิ่มเติมเรื่องการแสดงความมุ่งมั่นผ่านการเข้าร่วมการประชุมและกิจกรรมต่าง ๆ กับคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้ OECD ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้สมัครที่อยู่ในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก (accession candidate country) ก่อนเข้าสู่รายละเอียดการรายงานข้อมูล อาทิ รายชื่อหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับประเด็นสอบถาม โครงสร้างแบบสำรวจ STIP survey 2025 และประเด็นคำถามทั้ง 7 ส่วน รวมถึงกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน ในฐานะที่ สอวช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวม ตรวจทานและปรับปรุงข้อมูลของประเทศไทยก่อนนำส่งให้ OECD เพื่อเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์ม EC-OECD STIP Compass จากนั้นผู้เข้าร่วมการประชุมได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานร่วมกันต่อไป

เรื่องล่าสุด