messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » จาก สวทน. สู่ สอวช. กับภารกิจวางรากฐานไทย ผ่านการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

จาก สวทน. สู่ สอวช. กับภารกิจวางรากฐานไทย ผ่านการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

วันที่เผยแพร่ 7 มกราคม 2020 951 Views

ระยะเวลา 8 เดือน กับการเปลี่ยนผ่านจากสำนักงานนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สู่ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ สอวช. เร่งขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่สอดคล้องกับภารกิจหลักของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการตอบสนองการพัฒนาประเทศโดยมุ่งเน้นการเตรียมคนไทยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 และการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปพัฒนาประเทศเพื่อนำไปสู่การปฏิรูป 3 ด้าน คือ 1. การปฏิรูปการบริหารภาครัฐ (Administrative Reform) 2. การปฏิรูประบบงบประมาณ (Budgeting Reform) เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณสอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้าน อววน. ของประเทศ และเพื่อส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านกองทุนที่มีการจัดสรรงบประมาณในลักษณะเป็นก้อนใหญ่ (Block Grant) และต่อเนื่อง (Multi-year) และ 3. การปฏิรูปกฎหมาย ระเบียบ (Regulatory Reform) เพื่ออำนวยความสะดวก ลดปัญหาและอุปสรรค และสามารถขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนได้อย่างคล่องตัว และส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม ซึ่งการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การพลิกโฉมประเทศ

ภายใต้ภารกิจการริเริ่มสร้างสรรค์นโยบายด้าน อววน. ของ สอวช. ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการ สอวช. และรองประธานสภานโยบาย ซึ่งถือเป็นภารกิจต้นน้ำในการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ประเทศเศราฐกิจฐานนวัตกรรม การทำงานด้านนโยบายจึงจำเป็นต้องปรับมุมมองแนวคิดผ่านการพัฒนากระบวนทัศน์ใหม่ โดยเริ่มจาก Modernism ที่เน้นและให้ความสำคัญกับความทันสมัยมาสู่การเน้นความยั่งยืนเป็นสำคัญ หรือ Sustainism เปลี่ยนแนวคิดจาก Me-Society สู่ We-Society ปรับระบบเศรษฐกิจจากที่เคยผลิตเป็นเส้นตรง (Linear Economy) ทำให้เกิดของเสียจำนวนมาก และเน้นแต่การแข่งขัน มาสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ให้ความสำคัญกับทรัพยากร และนำกลับมาใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโครงสร้างการผลิตและพฤติกรรมผู้บริโภค ตลอดจนเปลี่ยนแนวคิดจาก Analogue Platform สู่ AI Platform ซึ่งการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์เหล่านี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการทำงานด้านนโยบายอันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาประเทศในอนาคต

ประเดิมขับเคลื่อนการปฏิรูประบบ อววน.

ในปี 2562 สอวช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการสภานโยบาย และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เสนอประเด็นสำคัญซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภานโยบายในการดำเนินการขับเคลื่อนระบบ อววน. 2 เรื่อง คือ 1. การจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พ.ศ. 2563 – 2570 โดยร่วมกับ สกสว. ประกอบด้วย 4 แพลตฟอร์ม และ 16 โปรแกรมสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ อววน. รวมถึงการจัดทำกรอบงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยออกแบบให้มีการจัดสรรงบประมาณแบบ Platform Management ดังนี้ แพลตฟอร์มที่ 1 การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ แพลตฟอร์มที่ 2 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม แพลตฟอร์มที่ 3 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และแพลตฟอร์มที่ 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ 2. การจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้านในระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 3 ด้าน ได้แก่ 1) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม หรือ บพค. 2) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. และ 3) หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท.

ยกระดับ BCG สู่แพลตฟอร์มการพัฒนาระดับประเทศเหมือน EEC

นอกจากการปฏิรูประบบ อววน. แล้ว อีกหนึ่งนโยบายชูธงของกระทรวง อว. คือ “BCG Model” การพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)  และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดย BCG Model ถูกนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้งแรกเมื่อช่วงปลายปี 2561 ผ่านการยื่นสมุดปกขาวของประชาคมวิจัย โดยมีรายละเอียดการเสนอให้มีการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการผลิตและบริการที่สำคัญของไทยใน 4 สาขา BCG อันได้แก่ สาขาเกษตรและอาหาร สาขาสุขภาพและการแพทย์ สาขาพลังงานและวัสุดชีวภาพ สาขาท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยเชื่อว่าโมเดลดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน กระจายรายได้ โอกาส และความมั่งคั่งแบบทั่วถึง (Inclusive Growth) ซึ่งจากการขับเคลื่อนที่ผ่านมา BCG ได้ถูกพัฒนาเป็นโครงการและแผนงานสำคัญ (Flagship Program) ของกระทรวง อว. อีกทั้ง การขับเคลื่อน BCG ได้ก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือที่ขยายตัวขึ้น ทั้งเครือข่ายในกระทรวง อว. เอง และกับภาคเอกชน มาร่วมกันพัฒนาข้อเสนอให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดย สอวช. ได้ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนจัดทำ “BCG in Action” แนวทางการขับเคลื่อน BCG ต่อนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกครั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญและเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน BCG แห่งชาติ พร้อมต้องการให้ BCG ยกระดับเป็นแพลตฟอร์มการพัฒนาระดับประเทศเหมือน EEC โดยจะต้องตอบโจทย์กับดักรายได้ปานกลาง และกับดักความเหลื่อมล้ำ รวมถึงกับดักความไม่สมดุล (Balanced Growth) โดย BCG จะเป็นกลไกขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมของ Thailand 4.0 และการปฏิรูปประเทศ และนอกจาก BCG แล้ว สอวช. ยังได้ขึ้นรูปอีก 2 กลไกขับเคลื่อนประเทศในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ คือ Earth-Space System ระบบโลกและอวกาศ ซึ่งเป็นการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความสัมพันธ์ของระบบของโลกและอวกาศ ต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลและผลกระทบซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนสําคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและความสามารถในการแข่งขันที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของคนไทย เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีที่เป็นโจทย์ท้าทายของโลก สร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนจากภาคเอกชนและนำไปสู่การเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและผู้ส่งออกเทคโนโลยี รวมถึงการเพิ่มศักยภาพบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการรับมือภัยคุกคามอันเกิดจากพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ล้ำยุค การพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ การเฝ้าระวังและเตือนภัยล่วงหน้าจากภัยพิบัติธรรมชาติ ผลกระทบจากมลพิษในดิน น้ำและอากาศ และเสริมสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในการป้องกันประเทศ รวมถึงผลักดันเรื่อง AI Intelligent System ซึ่งได้นำเสนอและได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ลุยการวิจัยเชิงระบบพร้อมกำหนดนโยบายได้อย่างตอบโจทย์

ขณะเดียวกัน ปี 62 สอวช. ได้ริเริ่มการวิจัยเชิงระบบ เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ของประเทศว่าตอนนี้ประเทศอยู่จุดไหน ต้องเดินต่อไปอย่างไร ซึ่งจะทำให้สามารถรู้ทิศทางในการขับเคลื่อนประเทศและสามารถกำหนดนโยบายได้อย่างตอบโจทย์และชัดเจน ซึ่งการวิจัยเชิงระบบจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างมาก โดย สอวช. ได้ทำการศึกษาและหารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในเบื้องต้น และได้กำหนดประเด็นสำคัญสำหรับการวิจัยเชิงระบบทั้งหมด 8 ประเด็น คือ 1. การอุดมศึกษา 2. ระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 3. SMEs 4. Circular Economy 5. เกษตร 6. พลังงาน 7. เศรษฐกิจฐานราก และ 8. Multistage Life โดยทั้ง 8 ประเด็นการวิจัยเชิงระบบ สอวช. จะร่วมกับ สกสว. ดำเนินการจัดทำเป็นสมุดปกขาว System Research for Transformative Changes ที่แสดงให้เห็นภาพปลายทาง (Vision) และให้วิธีการไปสู่ภาพปลายทาง (Strategy ในการดำเนินงาน พร้อมกับกำหนด milestone) ให้แล้วเสร็จประมาณเดือน มิ.ย. 63

เดินหน้าผุดแผนพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์ประเทศ

ในด้านพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์ประเทศ กระทรวง อว. ได้รับมอบหมายตามมติที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 ให้เป็นหน่วยงานขึ้นทะเบียนหน่วยฝึกอบรมและรับรองการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูง ในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมของสถานประกอบการ ที่สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการสนับสนุนการพัฒนาทักษะและการใช้ประโยชน์บุคลากรทักษะสูง 2 มาตรการ ได้แก่ 1. สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยการยกเว้นค่าใช้จ่าย 2.5 เท่า สำหรับการฝึกอบรมระยะสั้นจากหน่วยงานฝึกอบรมที่ได้รับการรับรอง และสอดคล้องกับทักษะที่กำหนดไว้ใน Future Skills Set 2. สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยการยกเว้นค่าใช้จ่าย 1.5 เท่า ของการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงในสาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม ซึ่งกระทรวง อว. โดย สอวช. ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการนำมาตรการดังกล่าวไปใช้จริงในเดือนมกราคม พ.ศ.2563 ได้แก่ การจัดทำรายละเอียดทักษะเพื่ออนาคต หรือ Future Skills Set โดย สอวช. ได้ดำเนินการสำรวจความต้องการบุคลากรสาขา STEM ในอุตสาหกรรมเป้าหมายในช่วงระยะปี พ.ศ. 2563-2567 และได้นำผลการสำรวจดังกล่าวมาจัดทำรายละเอียดของทักษะเพื่ออนาคตของอุตสาหกรรม S-Curve 5 กลุ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดทักษะเพื่ออนาคตของอุตสาหกรรม S-Curve เพิ่มเติมอีก 7 กลุ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมพัฒนาทักษะและกำลังคน การจัดทำรายละเอียดเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนหน่วยฝึกอบรม (Registered Training Organisation – RTO) โดยหน่วยฝึกอบรมที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนจะต้องมีคุณสมบัติต่างๆ เช่น มีหลักสูตรฝึกอบรมที่สอดคล้องกับความต้องการทักษะบุคลากรตามประกาศ Future Skills Set มีวิทยากรที่มีคุณวุฒิและประสบการณ์เพียงพอ ทั้งในแง่จำนวนและความเชี่ยวชาญ มีอุปกรณ์ เครื่องมือ หรือโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอต่อการฝึกอบรมในสาขาที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น โดย สอวช. ได้จัดเตรียมแนวทางการประเมินหน่วยฝึกอบรมหลังได้รับการขึ้นทะเบียน (Post-audit) เพื่อรับประกันคุณภาพบริการการฝึกอบรมให้แก่สถานประกอบการที่ขอรับสิทธิประโยชน์ รวมถึงการจัดทำรายละเอียดเงื่อนไขการรับรองการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูง ในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม โดย สอวช. จะนำรายละเอียดดังกล่าวจัดทำเป็นประกาศเพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. พิจารณาลงนาม และใช้ประกอบการจัดทำพระราชกฤษฎีการ่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและประกาศบังคับใช้มาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวแก่สถานประกอบการ ภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 และคาดว่าสถานประกอบการจะสามารถเริ่มใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวได้ ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2563 และสิ้นสุดในเดือนธันวาคม พ.ศ.2563

นอกจากนี้ สอวช. ยังมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ภายในกระทรวง อว. เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ที่มีบทบาทในการระดมความเชี่ยวชาญจากสถาบันอุดมศึกษาเพื่อดำเนินการรับรองหน่วยฝึกอบรมในสาขาต่างๆ รวมถึงการวางแผนการระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit bank) เพื่อเชื่อมโยงการฝึกอบรมระยะสั้นแบบ Non-degree เข้าสู่การศึกษาในระบบที่ให้คุณวุฒิระดับปริญญา (Degree) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งช่วยพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการการขึ้นทะเบียนหน่วยฝึกอบรม ให้มีความรวดเร็วและคล่องตัว ซึ่งจากการดำเนินมาตรการดังกล่าว คาดว่าภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยจะมีบุคลากรที่มีสมรรถนะที่สามารถตอบสนองทันต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอุตสาหกรรมอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของโลก ทันต่อการเปลี่ยนงานและอาชีพในโลกอนาคต มีทักษะสอดคล้องกับที่ตลาดงานต้องการ และทำให้ประเทศไทยสามารถรองรับการลงทุนหรือการย้ายฐานการผลิตที่มาจากต่างประเทศในระยะยาวได้ 

ปลดล็อกการจัดซื้อจัดจ้าง

อีกหนึ่งภารกิจการปฏิรูปที่สำคัญเพื่อให้การดำเนินการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วนั้นจำเป็นต้องมีกลไกการบริหารจัดการที่มีความคล่องตัว โดยเฉพาะกระบวนการจัดหาพัสดุเกี่ยวกับการวิจัย การบริการวิชาการ และการสร้างนวัตกรรม ซึ่งโดยธรรมชาติมีความเสี่ยงสูงในเรื่องของความสำเร็จของงานวิจัย และมีความซับซ้อนในการจัดหามากกว่าการจัดหาพัสดุปกติ อันเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งมอบงาน
ซึ่งตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่ใช้บังคับกับทุกหน่วยงานของรัฐ รวมถึงหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม มีหลักการเพื่อให้การดําเนินการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐมีกรอบการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยการกําหนดเกณฑ์มาตรฐานกลางเพื่อให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งนําไปใช้เป็นหลักปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นหลักการที่ดีแต่อาจไม่สอดคล้องกับการจัดหาพัสดุเพื่อการวิจัยพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ที่มีลักษณะพิเศษ เช่น การจัดหาพัสดุที่ได้รับเงินช่วยเหลือหรือเงินสนับสนุน หรือรับจ้างวิจัย รวมถึงเงินรายได้ที่ไม่สามารถจัดหาตามความต้องการด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงได้ การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุชีวภาพ หรือพัสดุท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะตามข้อกำหนดของงานวิจัย ข้อกำหนดให้จ่ายเงินล่วงหน้าสำหรับการซื้อการจ้าง โดยให้ได้จ่ายไม่เกินร้อยละ 15 การวางหลักประกัน เป็นต้น คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ เพื่อปลดล็อก สร้างระบบที่คล่องตัวและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในวงกว้างกับการจัดหาพัสดุของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ในการประชุมสภานโยบายครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 จึงเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและออกแบบระบบการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ด้านวิจัย ด้านการอุดมศึกษา และผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่จัดทำข้อเสนอการยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐมาใช้บังคับแก่การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยพัฒนาการสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ตลอดจนทำหน้าที่พัฒนาและออกแบบกลไกการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการในเรื่องการปลดล็อกการจัดซื้อจัดจ้างให้กับหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ปี 62 เอกชนแห่ลงทุนร่วมแผนงาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท

แม้จะมีภารกิจมากมายจากการเปลี่ยนผ่านองค์กร แต่ สอวช. ตลอดปี 2562 ยังคงสานต่อผลงานสำคัญอย่างแผนงาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ แผนงานหรือโครงการวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้จริงในสาขาเป้าหมายของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและวัดผลได้ หรือแผนงาน/โครงการวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่ที่จะใช้ประโยชน์ทางด้านสังคม ชุมชน เพื่อลดความเลื่อมล้ำ สร้างความมั่นคงให้กับประเทศ  โดยแผนงาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจดำเนินการใน 9 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ การเกษตรสมัยใหม่ อาหารมูลค่าเพิ่มสูงและสารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่ ยาชีววัตถุ เครื่องมือแพทย์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ยานยนต์สมัยใหม่ Smart Logistics  การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และพลังงานชีวภาพ ร่วมกับภาคเอกชนไม่น้อยกว่า 20 แห่ง รวมการลงทุนร่วมจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท และมีผลงานที่สำคัญในปีงบประมาณ 2562 อาทิ ต้นแบบวัคซีนไอกรนแบบไร้เซลล์ที่รอผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน และระบบตรวจวัดคลื่นหัวใจติดผิวหนังต้นแบบ เป็นต้น มีเป้าหมายสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการร้อยละ 5 ต่อปี และเกษตรกรมีรายได้สุทธิ เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี

ในปี 2563 เป็นอีกปีที่ท้าทายของการวางรากฐานประเทศ ด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แม้ว่าหลายนโยบายจะต้องอาศัยเวลาในการดำเนินงานจึงจะเห็นผล แต่ สอวช. จะไม่หยุดนิ่ง และพร้อมจะผนึกกำลังร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อนำพาประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อย่างมั่งคั่งและทั่วถึง

Tags:

เรื่องล่าสุด