messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สภานโยบาย เจาะลึกงบลงทุน ววน. 24,645 ล้านบาท มั่นใจใช้อย่างคุ้มค่า ต่อยอดสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ ด้าน “สมคิด” จี้ อว. เร่งถกมหาวิทยาลัยทุกสัปดาห์ ขับเคลื่อนแผนงานสู่ชุมชนอย่างแท้จริง ชี้หมดเวลาวิจัยแข่งแย่งทำผลงาน ขอให้ร่วมมือกันทำงานเพื่อประเทศ ขณะที่แผนการอุดมศึกษา ผ่านฉลุย เคาะกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาฯ 10,250 ล้านบาท พร้อมแต่งตั้ง รศ. ศักรินทร์ ภูมิรัตน เป็นประธานกรรมการพิจารณางบประมาณด้านการอุดมศึกษา ประจำปีงบ 64

สภานโยบาย เจาะลึกงบลงทุน ววน. 24,645 ล้านบาท มั่นใจใช้อย่างคุ้มค่า ต่อยอดสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ ด้าน “สมคิด” จี้ อว. เร่งถกมหาวิทยาลัยทุกสัปดาห์ ขับเคลื่อนแผนงานสู่ชุมชนอย่างแท้จริง ชี้หมดเวลาวิจัยแข่งแย่งทำผลงาน ขอให้ร่วมมือกันทำงานเพื่อประเทศ ขณะที่แผนการอุดมศึกษา ผ่านฉลุย เคาะกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาฯ 10,250 ล้านบาท พร้อมแต่งตั้ง รศ. ศักรินทร์ ภูมิรัตน เป็นประธานกรรมการพิจารณางบประมาณด้านการอุดมศึกษา ประจำปีงบ 64

วันที่เผยแพร่ 8 มกราคม 2020 362 Views

(8 มกราคม 2563) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะเลขานุการและดูแลงานวิชาการสภานโยบาย จัดการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1-2 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม พร้อมด้วย ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทำหน้าที่รองประธานที่ประชุม ซึ่งมีกรรมการสภานโยบายฯ ร่วมหารือ

ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในระหว่างเป็นประธานการประชุม “สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ” ว่า การดำเนินการตามแผนด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ปี 63 ตามที่ได้นำเสนอมานั้น ถือเป็นแผนงานที่ดี แต่จะไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้เลยหากขาดความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน/ชุมชน ภาคมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ที่ปัจจุบันมีการทำงานกันแบบต่างคนต่างทำ แต่การจะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือ และสร้างให้เกิดความต้องการของแต่ละภาคส่วนร่วมกันเพื่อเชื่อมต่อให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม

“ประเทศไทยขาดการบริหารงานช่วงรอยต่อ เราต้องเชื่อมให้ติด เรามีบุคคลากร มีโครงการที่ดี แต่ต้องไปเสียบปลั๊กเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องทำงานกับมหาวิทยาลัยให้มากกว่านี้ เพื่อเชื่อมต่อไปยังโครงการต่าง ๆ ทั้ง เกษตรชุมชน ท่องเที่ยว เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ฯลฯ เช่น มจธ. เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี หุ่นยนต์ เอไอ ก็ต้องไปเชื่อมโยงให้ตรงกับโครงการเพื่อต่อยอด หรือเรามี ธกส. เป็นศูนย์กลางของชุมชน เราก็ต้องประสานฐานข้อมูลเกษตรกร เพื่อนำนวัตกรรมลงไปช่วยยกระดับ เพื่อขยายผลไปสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้มาตรฐานระดับสากล รวมถึงยังสามารถเชื่อมกับโครงการเมืองรองน่าเที่ยวได้ เรามีเด็กปี 3 ปี 4 ที่สามารถพัฒนาไปสู่บุคลากรเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน โดยใช้บุคลากรเหล่านี้ลงไปสำรวจวิจัย ไปออกแบบและช่วยเหลือตามความถนัด เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต้องสร้างให้เกิดความต้องการร่วมกัน มีการพูดคุยเชิญคนเกี่ยวข้องมาหารือถึงทิศทางที่จะมุ่งไปด้วยกัน เสนอให้เรียกหารือกันทุกสัปดาห์ กับ อธิการบดี และคณบดี ทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศซึ่งต้องมาช่วยกัน หมดสมัยแล้วที่จะมาวิจัยแข่งกัน วันนี้เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนประเทศ” ดร. สมคิด กล่าว

ด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยในฐานะผู้ช่วยเลขานุการสภานโยบายว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงความก้าวหน้าการดำเนินการตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในภาพรวมได้รับความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรในกรอบวงเงินรวม 24,645 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้วิเคราะห์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีด้าน ววน. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในกรอบวงเงินเบื้องต้นรวม 24,645 ล้านบาท โดยสามารถแบ่งสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณตาม ผลที่จะได้รับ (Output) 5 ด้าน ซึ่งอยู่ภายใต้ 4 แพลตฟอร์มยุทธศาสตร์ อววน. คือ 1. ด้าน Frontier research and Basic research ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 3,518 ล้านบาท คิดเป็น 14% ของงบประมาณด้าน ววน. ทั้งหมด 2. ด้านการพัฒนากำลังคน ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 3,453 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14% 3. ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัย จัดสรรงบประมาณ จำนวน 3,970 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16% 4. ด้านการแก้โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายสังคม จัดสรรงบประมาณ จำนวน 6,760 ล้านบาท คิดเป็น 27% และ 5. ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 6,887 ล้านบาท หรือคิดเป็น 28%” ดร. กิติพงค์ กล่าว

ดร. กิติพงค์ ยังกล่าวอีกว่า การลงทุนด้าน ววน. ไม่ใช่เป็นเพียงการผลิตความรู้ หรือนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา แต่ยังมีความคาดหวังในการใช้กลไกและผลจากการลงทุนด้าน ววน. ในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้าน ทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการสร้าง Innovative SMEs จำนวน 5,000 ราย สร้าง Tech Enterprises 100 ราย เกิดการจ้างงาน 100,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี เกิดการลงทุน R&D ของภาคเอกชน 80,000 ล้านบาท รวมถึงคนในชุมชนได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต 3,000,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี  ด้านการพัฒนา Startup และระบบนิเวศนวัตกรรม เกิด Startup ที่จัดตั้งใหม่และอยู่รอดเกิน 3 ปี จำนวน 330 ราย/ปี และเพิ่มเป็น 1,000 ราย ในปี 2565 ด้านชุมชนนวัตกรรม เกิดอัตราการเติบโตของมูลค่าเศรษฐกิจฐานราก และมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10 ชุมชนมีขีดความสามารถในการจัดการตนเอง 500 ตำบล/ปี สร้างนักวิจัยชาวบ้านและนวัตกรชาวบ้าน 1,000 คน/ปี ผู้มีรายได้น้อย ในกลุ่ม 40% จากล่างสุด มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 อย่างทั่วถึง อย่างน้อย 20,000  คน ด้านการแก้ปัญหาท้าทายของสังคม สามาถลดปัญหาคุณภาพอากาศ (PM 2.5) ลดปริมาณขยะและขยะพลาสติก 10% ต่อปี ลดอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และระบบนิเวศชายฝั่ง 10% ลดค่าใช้จ่ายของรัฐในการดูแลผู้สูงวัย 60,000 ล้านบาท

การลงทุนด้าน ววน. ในการพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ คาดว่าจำนวนนักวิจัยและพัฒนาจะเพิ่มเป็น 30 คนต่อประชากร 100 คน มีกำลังคนรองรับ EEC ที่เพียงพอ สัดส่วนบัณฑิต/ผู้สำเร็จการศึกษาใหม่มีทักษะตรงตามความต้องการของแรงงาน ไม่ต่ำกว่า 70% รวมถึงเกิดการพัฒนาทักษะความรู้ความเข้าใจของเยาวชนและประชาชนด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การลทุนด้านการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) และการวิจัยพื้นฐาน (Basic Research)  คาดว่าจะเกิด Deep-tech Startups จากการวิจัยขั้นแนวหน้าอย่างน้อย 5 ราย เกิดเครือข่ายนักวิจัยไทยที่มีส่วนร่วมใน Global Frontier Research Value Chain หรือได้รับทุนวิจัยจากทุนสำคัญของโลก อย่างน้อย 10 โครงการ เกิดองค์ความรู้และกระบวนทัศน์ใหม่ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างความเข้าใจทางสังคม อย่างน้อย 3 เรื่อง ตลอดจนเกิดกำลังคนระดับสูงรองรับอุตสาหกรรมอนาคต การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยที่สำคัญ คาดว่าจะเกิดเทคโนโลยีต้นแบบ และความสามารถในการประยุกต์ใช้โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างน้อย 5 ต้นแบบ มูลค่าการลงทุนของบริษัทที่มาใช้โครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเป็น 2 เท่าใน 5 ปี และเกิดผลงานวิจัยและเทคโนโลยีพร้อมใช้ถูกนำไปสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์อย่างน้อย 10 เรื่อง ซึ่งการดำเนินงานเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ข้างต้น จะเน้นการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือในรูปแบบ Consortium ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน/ชุมชน ภาคมหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัย และพันธมิตรต่างประเทศ  (Quadruple helix) 

ดร. กิติพงค์ กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งไฮไลท์ของการประชุมคือ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบหลักการ (ร่าง) แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2570 และ (ร่าง) กรอบวงเงินงบประมาณเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ จำนวน 10,250 ล้านบาท โดยได้มอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินการเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แต่งตั้งรองศาสตราจารย์ ศักรินทร์ ภูมิรัตน เป็นประธานกรรมการพิจารณางบประมาณด้านการอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

Tags:

เรื่องล่าสุด