messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » คลังสมองหญิงแกร่งแห่ง สอวช. ดร. ญาดา มุกดาพิทักษ์

คลังสมองหญิงแกร่งแห่ง สอวช. ดร. ญาดา มุกดาพิทักษ์

วันที่เผยแพร่ 8 มีนาคม 2020 727 Views

“วัยเด็กก็ราบเรียบ เป็นคนเรียนหนังสือไม่ได้ผาดโผนอะไร” คำสัมภาษณ์จาก ดร. ญาดา มุกดาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการ สอวช. ที่เปิดประเด็นสัมภาษณ์มาแบบไม่หวือหวา แต่ในความเป็นจริง ในความไม่หวือหวาพ่วงมาด้วยเกียรติประวัติที่น่าภาคภูมิใจมากมาย ทั้งเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น หลักสูตร Policy Science ระดับปริญญาโท รุ่นแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดรับข้าราชการจากอาเซียนให้ไปศึกษาที่ Graduate School For Policy Science, Saitama University ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น National Graduate Institute For Policy Studies : GRIPS เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลตามความต้องการของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรุ่นแรก ได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่นของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 30 ตัวแทนประเทศไทยร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ (รุ่นที่ 5) ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนให้เยาวชนในอาเซียน และญี่ปุ่นได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านต่าง ๆ เรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม เพื่อส่งเสริมมิตรภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างกันผ่านกิจกรรมระหว่างที่อยู่บนเรือ Nippon Maru และแวะเยือนแต่ละประเทศ ตลอดจนได้มีโอกาสทำหน้าที่เลขานุการกรรมการในช่วงที่ผลักดันให้เกิดสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทยด้วย

แม้ว่าชื่อของ ดร. ญาดา จะคร่ำหวอดในวงการนโยบายและแผน แต่โดยพื้นฐานการศึกษา ดร. ญาดา เล่าให้ฟังว่า มีความใฝ่ฝันตั้งแต่ช่วงเรียนมัธยมปลายว่าอยากจะเรียนถึงระดับปริญญาเอก พอเรียนมัธยมปลายสายศิลป์จบ ก็เข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ เพราะความชอบภาษาอังกฤษตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อจบปริญญาตรีแล้ว ก็สอบ ก.พ. เข้ารับราชการ ตอนอายุ 20 ปี ในตำแหน่งนักวิชาการศึกษา ที่กรมพลศึกษา ได้ใช้ความรู้ด้านภาษาอังกฤษทำงานที่กองยุวกาชาด โดยในขณะที่รับราชการก็พยายามเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถตนเอง เรียนต่อปริญญาโทที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านการสอนภาษาอังกฤษ โดยเป็นการเรียนนอกเวลาราชการ โดยรวมแล้วทำงานอยู่กรมพลศึกษา ประมาณ 3 ปี

หลังจากนั้น เมื่อได้ข่าวว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน ซึ่งเป็นกระทรวงใหม่ในยุคนั้น ต้องการคนที่จบสาขาภาษาอังกฤษ ก็เลยมาสอบสัมภาษณ์ และได้โอนตัวมาที่สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน ดร. ญาดา เล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้ว อยากเข้าทำงานที่กองวิเทศน์สัมพันธ์ เพราะว่าจะได้ใช้ภาษาอังกฤษ แต่ในขณะนั้น ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน บอกว่า กองวิเทศสัมพันธ์ ยังไม่ได้ตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ว่าทางสำนักนโยบายฯ ต้องการคนจบภาษาอังกฤษมาทำงานก่อน ก็เลยได้ทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ที่สำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“พี่รับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน แต่ก็ใช้ภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐานหลัก เพราะนั่นคือความเชี่ยวชาญของเรา แต่เนื่องจากอยู่กับสำนักนโยบายและแผน เราก็จะได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำนโยบายและแผนจากการทำงานจริง ก็เริ่มชอบการทำงานที่เป็นแบบแผน เป็นระบบ มีการวิเคราะห์ วิจัย ทำงานได้สักพักใหญ่ ภายหลังทางรัฐบาลญี่ปุ่น เค้ามีเปิดรับสมัครทุนรัฐบาล ซึ่งเป็นการส่งข้าราชการจากประเทศต่าง ๆ ในแถบอาเซียน เพื่อไปเรียนด้านนโยบายและแผนที่ญี่ปุ่น ซึ่งวิธีการสอบ ก็จะให้ข้าราชการที่สนใจและต้นสังกัดเห็นว่ามีศักยภาพและเป็นกำลังสำคัญของหน่วยแผนต่างๆ ในประเทศไทย แจ้งความจำนงค์ไป ที่ทำงานเลยส่งชื่อพี่ไป เราก็ต้องไปสอบ Graduate Record Examination : GRE กับ TOEFL และสอบสัมภาษณ์โดยคณาจารย์จากญี่ปุ่น  จนได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาที่ Graduate School for Policy Science หรือ National Graduate Institute For Policy Studies : GRIPS ในปัจจุบัน ตอนนั้นมีคนไทยรวมพี่ที่ได้ไปเรียนต่อ 6 คน ซึ่งเป็นรุ่นแรก เรียนอยู่ 2 ปี เราก็ต้องพยายามตั้งใจเรียน มีการเรียนด้านคณิตศาสตร์ สถิติ คอมพิวเตอร์ ซึ่งมันไม่ใช่ความถนัดของเรา แต่เราต้องเอาชนะตัวเองให้ได้ แต่ว่าข้อได้เปรียบของเรา คือ เรื่องภาษาที่ดี ก็มีข้อได้เปรียบบางอย่าง ก็จบปริญญาโทที่ GRIPS แล้วกลับมาใช้ทุนต่อที่สำนักงานปลัดกระทรวง ทำงานไป ตำแหน่งการงานก็เลื่อนไปเรื่อยๆ”

ดร. ญาดา ยังเปิดเผยถึงเรื่องราวการเรียนตามฝันอีกว่า ภายหลังมีทุนรัฐบาลตามความต้องการของกระทรวงวิทย์ โดยมีสาขาที่เป็นเรื่องของ Science Policy ซึ่งเป็นทุนรุ่นแรก ก็มีความสนใจ อีกทั้งผู้บริหารก็ส่งเสริม ต้องสอบ TOEFL และยื่นใบสมัครเรียนที่ Science Policy Research Unit (SPRU) ซึ่งอยู่ที่มหาวิทยาลัยซัสเซ็กส์ ลอนดอน รอคำตอบจาก SPRU จนวินาทีสุดท้าย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับ ตอนไปเรียนปริญญาเอก พี่มีลูกแล้ว 2 คน ไปเรียนโดยจากลูกอายุ 3 ขวบกว่า กับ 1 ขวบกว่า ซึ่งพี่ให้เขาอยู่ที่เมืองไทย เพราะถ้าเอาไปด้วยเราจะพะวง ก็ทนคิดถึงลูกและใช้ความคิดถึงลูกเป็นแรงผลักดันให้เราตั้งใจเรียน เรียนที่อังกฤษอยู่ 4 ปี จนจบปริญญาเอก และกลับมาก็ใช้ทุนที่สำนักงานปลัดกระทรวงวิทย์ต่อ

ต่อมา สวทช. ได้รับโอนงานด้านนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศจากสำนักงานปลัด และได้ขอตัวพี่ให้มาช่วยงานด้านนี้ ซึ่งปลัดกระทรวงฯ ก็อนุญาตจึงเป็นจุดที่ทำให้พ้นจากความเป็นข้าราชการ กลายเป็นข้าราชการบำนาญ ตอนนั้นก็อายุประมาณ 45 ปีกว่าแล้ว และก็มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยนโยบาย ที่ สวทช. โดยได้ทำงานคลุกคลีกับด้านนโยบายวิทยาศาสตร์

ดร. ญาดา เล่าต่อว่า พี่อยู่ สวทช. ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยนโยบาย และภายหลังก็ได้เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ โดยอยู่ สวทช. ทั้งหมด 7 ปี ซึ่งในขณะที่อยู่ สวทช. นั้น พระราชบัญญัติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งพี่เองก็เป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ร่างตั้งแต่ต้นแล้วเสร็จ ส่งผลให้เราต้อง Spin off ฝ่ายวิจัยนโยบายออกมาจาก สวทช. เลยมาเป็น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ตามพระราชบัญญัติ และสำนักงานมีเลขาธิการคนแรก คือ ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ซึ่งอาจารย์พิเชฐก็ให้พี่มาช่วยงานในตำแหน่งรองเลขาธิการ สวทน. ตั้งแต่บัดนั้น จนตอนหลังมีพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เลยเปลี่ยนผ่านจาก สวทน. เป็น สอวช.

“ประสบการณ์การทำงานของพี่มันไม่ได้ผาดโผน มันมีอยู่จุดเดียวตอนที่เปลี่ยน Skill จากภาษาอังกฤษมาเป็นงานนโยบายและแผนโดยความบังเอิญ และเมื่อเราบังเอิญแล้วเราก็อยากจะทำให้ดีที่สุดเราถึงอยากที่จะเรียนต่อ เอาความรู้ทางวิชาการมา Support ประสบการณ์ที่เรามีอยู่จริง และด้วยความที่เราอยู่นโยบายและแผน เราจะรู้ว่าเรื่องนโยบายและแผนมันเป็นหัวใจสำคัญ แต่ว่ามันไม่ใช่ตัวนำหลัก แม้ว่าเราจะบอกว่าเราเป็นตัวชี้ทิศ แต่เราจะไม่มีความหมายเลย ถ้าเราไม่ประกอบกับ Action เพราะฉะนั้น นโยบายและแผนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจหน่วยงานที่เป็นผู้ผลักดันหรือลงมือดำเนินการ เราต้องไม่คิดว่าเราทำนโยบายและแผนแล้วเราเป็นผู้กำหนด เราเป็นผู้สั่งหรือเราเป็นผู้ออกแบบ แต่เราต้องเข้าใจก่อนว่าผู้ที่จะใช้นโยบายและแผนหรือได้รับผลกระทบในเชิงบวก เชิงลบของนโยบายและแผน เขาต้องการอะไร ประสบปัญหาอะไร เขามีความคิดเห็นอย่างไร มีสภาพแวดล้อมอย่างไร เราต้องพยายามทำงานร่วมกับเขาเพื่อให้ได้นโยบายและแผนที่เป็นที่พอใจและมีความเป็นไปได้ที่จะผลักดันไปสู่การปฎิบัติ”

ดร. ญาดา ยังเล่าถึงบทบาทหน้าที่การทำงานในปัจจุบันว่า ได้รับหน้าที่ดูแลนโยบายด้านกำลังคน ซึ่งต้องทำงานกับหลายภาคส่วน ทำให้เราต้องมีกลยุทธ์ในการทำงานร่วมกับเครือข่าย จะทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่าเราไม่ได้ไปก้าวก่ายงานของเขา เนื่องจากโดยกฎหมายแล้ว สอวช. ไม่ได้เป็นผู้ทำนโยบายทางด้านการอุดมศึกษา เรามีหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของสภานโยบาย แต่ว่าหน่วยงานที่ทำนโยบาย ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ก็คือ สกสว. และทางด้านการอุดมศึกษา ก็คือ สำนักงานปลัดกระทรวง เวลาทั้ง 2 หน่วยงาน จะเสนอนโยบายเข้าสภา จะต้องเสนอโดยที่มี สอวช. ในฐานะสำนักงานเลขานุการสภานโยบายให้ความเห็น  เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ทำงานร่วมกับเขาตั้งแต่ต้น ความเห็นอาจจะไปคนละทาง ซึ่งนี่ก็เป็นแนวคิดของ ดร. กิติพงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ที่มองว่าเราควรจะต้องทำงานหนักเพื่อเซ็ตกรอบแนวทางนโยบายของทางด้าน ววน. และด้านการอุดมศึกษาร่วมกันกับเขา เพื่อที่เวลาออกมาเป็นนโยบายและแผน และเข้าสภานโยบายจะได้เป็นสิ่งที่เราคิดร่วมกันว่ามีความเหมาะสม ไม่ใช่เรื่องที่เราจะมาขัดขวางกัน

ทุกวันนี้ งานนโยบายด้านกำลังคน ทีมได้มีโอกาสทำงานร่วมกับท่านรัฐมนตรีและทีมงาน ซึ่งท่านให้ความสำคัญกับเรื่องกำลังคน ทั้งในระดับที่เป็นวัยเรียนและวัยทำงาน เราทำงานกับทีมท่านรัฐมนตรีอย่างใกล้ชิด และหลายประเด็นก็เป็นประเด็นที่ท่านรองนายกสมคิดให้ความสนใจ เพราะว่าเกี่ยวข้องกับแรงงานทักษะสูงที่จะป้อน EEC อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นโยบายและแผนการอุดมศึกษา ได้รับความเห็นชอบในหลักการผ่านสภานโยบาย และ ครม. แล้ว อยู่ระหว่างการลงรายละเอียด แต่เรื่องกำลังคนไม่ใช่เรื่องที่ต้องรอให้แผนเสร็จสมบูรณ์ เราสามารถทำเป็นเรื่องๆ ได้ ซึ่งทุกวันนี้ทีมงาน สอวช. ก็ทำงานสิ่งเหล่านั้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาแรงงานทักษะสูง โครงการ Talent Mobility ที่ยังต้องส่งต่อกัน หรือโครงการกำลังคนในระดับปริญญาโทที่ทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม (Hi-FI) รวมถึงการรวบรวมข้อมูลความต้องการ Competency ของกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ซึ่งก็มีความคืบหน้าไปตามลำดับ

เมื่อถามถึงประเด็นว่าการทำงานนโยบายช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างไรบ้าง ดร. ญาดา กล่าวด้วยน้ำเสียงที่แน่วแน่ว่า โดย Concept ของนโยบายมันช่วยอยู่แล้ว นโยบายคือสิ่งที่เราได้คิด วิเคราะห์ ใช้ข้อมูลความรู้ประสบการณ์ในอดีต ทั้งของที่เราเจอมากับตัวเอง หรือที่เราได้จากทางอื่นทั้งภายในองค์กร ภายในประเทศ และภายนอกประเทศ ทั้งจากการพูดคุย จากการพบปะประชุม จากแหล่งต่างๆ แล้วเอามาประมวล วิเคราะห์ ผ่านขั้นตอนของการหารือ พูดคุย โต้เถียง วิจัย วิเคราะห์ ที่เราเรียกว่าวิจัยนโยบาย จนนำมาสู่ข้อเสนอ ซึ่งกว่าที่จะมาเป็น ข้อเสนอ 1 ข้อเสนอ ก็จะมีตัว Option ของข้อเสนอว่าทางเลือกแต่ละทางมีข้อดีข้อเสียอย่างไร และเชื่อว่าถ้าข้อเสนอนโยบายที่ได้รับการยอมรับเป็นนโยบายแล้ว และผ่านกระบวนการข้างต้นมา จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมายที่จะเป็นตัวที่จะชี้ทิศทางให้เกิดการกระทำหรือไม่กระทำใดๆ ที่เหมาะสม มีความเสี่ยงน้อยที่สุด แต่ไม่ได้แปลว่ามันจะไม่ผิดพลาด ทุกอย่างมันมีการผิดพลาดได้ เพียงแต่ว่าการที่เรามีนโยบาย มีการเตรียมการ มีแผน มีกระบวนการมาอย่างดี จะทำให้สิ่งที่เราจะลงมือทำมีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จสูง ในระหว่างทางหากจะมีความผิดพลาดอะไร เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องกับนโยบายต้องมองเห็นสัญญาณเหล่านั้น และนำกลับมาแก้ไขทบทวนอย่างทันท่วงที โดยต้องเปิดใจกว้างว่ามันไม่ได้สมบูรณ์ จริงๆ มันไม่ได้มีอะไรสมบูรณ์ที่สุด ตราบใดที่เวลามันไม่ได้หยุดอยู่กับที่ มันจะเป็นเรื่องที่สมบูรณ์ที่สุด ณ ขณะนั้น เพราะฉะนั้น คนที่ดูแลด้านนโยบายต้องตื่นตัว แล้วต้องใจกว้าง ใฝ่รู้ เพื่อที่จะคอยปรับนโยบายให้มันเหมาะสมอยู่เสมอ

“พี่คิดว่านโยบายเป็นสิ่งสำคัญ ตัวนโยบายเปรียบเสมือนหัวสมอง ถ้ามันไม่มีตัวร่างกาย แขน ขา ไม่มีองค์ประกอบอื่นๆ มันจะทำอะไรให้ปรากฎไม่ได้ มันจะกลายเป็นวิญญาณ แต่ถ้าเรามีส่วนประกอบอื่น ๆ มันก็จะเป็นกลไกที่สมบูรณ์ที่จะทำให้เกิดการกระทำใดๆ และการที่เรามีองค์ประกอบอื่นๆ นี่แหละ คือการที่เราต้องทำงานร่วมกับที่อื่นๆ ทำงานกับพันธมิตร ทำงานกับทุกคนได้  และเราก็มีหน้าที่ต้องติดตามไปดู เพื่อที่จะดูว่าเมื่อขับเคลื่อนไปแล้วมันเกิดปัญหาไหม จะต้องแก้ไขอย่างไร เพราะว่าการแก้ไขเชิงนโยบาย หน่วยขับเคลื่อนไม่ได้อยูในบทบาทที่เขาจะแก้ไข ก็จะย้อนกลับมาที่เรา จนกระทั่งทำไปแล้วงานมันประสบความสำเร็จดีมากพอที่มันจะยุติหรือเปล่า หรือว่ามันล้มเหลวต้องยุติ หรือว่ามันสำเร็จซะจนเราวางใจแล้ว เราก็ไม่ต้องติดตามแล้ว”

ข้อสำคัญ นักนโยบายต้องมีนวัตกรรมเชิงนโยบายที่จะต้องหานโยบายหรือแนวทางใหม่ๆ ตลอดเวลา เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง แล้วไม่ต้องไปคิดว่ามันมีปัจจัยภายนอกที่เข้ามาเปลี่ยนแปลง เพราะตราบใดที่เวลาไม่หยุดนิ่ง มันมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ไม่ว่าจะมีปัจจัยภายนอก ภายใน เกิดขึ้นเร็วหรือช้า มันก็เปลี่ยนของมันเองอยู่แล้ว ยุคนี้เป็นยุค Disruption มันมี IT มี AI และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา มันล้วนแต่เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในวงการนโยบายจึงต้องก้าวทันเทคโนโลยีด้วย

เดินทางสู่คำถามเกือบสุดท้ายที่เกี่ยวกับ Life Style ของ ดร. ญาดา ที่ท่านเล่าให้ฟังว่า …

“ตอนอายุไม่มาก พี่ไม่ค่อยมีสมดุลในชีวิตเท่าไหร่ เพราะพี่เป็นคนบ้างาน เป็นคนที่มีความสุขกับการทำงานมาก จนบางครั้งไม่มีเวลาให้กับครอบครัว แต่โชคดีที่พี่มีสามีที่เข้าใจเรา แล้วก็เป็นคนที่โชคดีที่มีแม่และน้องสาวอยู่บ้านใกล้กันที่คอยช่วยดูแลลูกของพี่ในเวลาที่พี่ทำงานกลับมืดค่ำ และด้วยความที่ลูกพี่เป็นลูกชายพี่ก็ไม่ได้ต้องห่วงมากมายนัก ซึ่งตอนนี้เค้าก็โตทำงานกันหมดแล้ว ในเวลาว่างสุดสัปดาห์ มีความสุขกับการเลี้ยงหลาน ชอบฟังเพลง ชอบทำบ้านให้เรียบร้อย และเที่ยวจังหวัดใกล้ ๆ กรุงเทพเป็นครั้งคราว”

พอถามถึงนิยามของความเป็นตัวตนของ ดร. ญาดา ก็ไม่แปลกใจที่ ดร. ให้นิยามตนเองว่า โดยนิสัยเป็นคนเจ้าระเบียบ ตอนอายุยังไม่มาก ทุกอย่างต้องอยู่ในร่องในรอยทั้งหมด ทุกอย่างต้องเรียบร้อย ทุกอย่างต้องเข้าที่ แต่ว่าพอเราโตมากขึ้น อายุมากขึ้นเราก็ผ่อนคลายเรื่องเหล่านั้น แต่ก็ยังถือว่าเป็นคนที่มีระเบียบแล้วก็เป็นคนที่ยึดหลักเกณฑ์ ยึดความถูกต้อง ยึดหลักการค่อนข้างจะมาก ถ้าจะมีอะไรมาเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ก็ต้องได้รับข้อมูลว่าเพราะอะไร เป็นคนที่ชอบความถูกต้อง ชอบความยุติธรรมและชอบอะไรที่มันอธิบายได้ เป็นระบบ ทำแล้วยุติธรรม

“ชีวิตส่วนตัวของพี่ ก็ยังคงมีระบบมีหลักการ ก็ไม่มีอะไรผาดโผน พี่เป็นคนที่มีแผนตั้งแต่แรก อย่างที่เล่าให้ฟังตอนต้นว่า ตั้งแต่เรียนหนังสือก็มีแผนว่าอยากจบปริญญาเอก พอเริ่มทำงานพี่ก็มีแผนแล้วว่ายังไงพี่ก็ต้องเรียนปริญญาโท เรียนปริญญาเอก ถึงแม้พี่มีแผนจะแต่งงาน พี่ก็จะต้องคุยกันกับสามีว่าแต่งงานแล้วก็จะขอไปเรียนโทก่อน และก็วางแผนไว้เลยว่าจบโทแล้วจะมีลูก 2 คน และจะเรียนปริญญาเอกต่อ คือทุกอย่างก็จะเป็นตามแผน มีเป้าหมายชัดเจน”

ทิ้งท้ายกับความเห็นของการทำงานในบทบาทของคลังสมองหญิงแกร่งแห่ง สอวช.

“ประเด็นของสตรีในหลายประเทศเขาเป็นประเด็นสำคัญเพราะว่าความไม่เท่าเทียม แต่สำหรับประเทศไทยไม่ใช่ เรารู้สึกว่า เราแทบจะไม่ได้คิดเลยด้วยซ้ำไปว่าใครเป็นผู้หญิงใครเป็นผู้ชาย เราทำงานแบบลุยกันไป จังหวะไหนที่ผู้ชายจะต้องนำก็นำ ในบางโอกาสเบื้องหลังอาจจะเป็นผู้หญิงเป็นผู้นำก็ได้ เราไม่ได้ทำงานโดยดูที่ตัวบุคคลว่าจะเป็นอย่างไร เราทำงานโดยหวังให้ประเทศชาติจะเป็นอย่างไรมากกว่า เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ตาม Teamwork ของเราที่ดี ก็ทำให้องค์กรเรามีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับ” ดร. ญาดา กล่าวทิ้งท้าย

Tags:

เรื่องล่าสุด