messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. หารือร่วมกับกูรูด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เร่งหามาตรการฟื้นเศรษฐกิจ หากโควิดอยู่ยาว พร้อมชี้ อววน. ช่วยได้ แต่ทุกฝ่ายต้องรวมพลังฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน

สอวช. หารือร่วมกับกูรูด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เร่งหามาตรการฟื้นเศรษฐกิจ หากโควิดอยู่ยาว พร้อมชี้ อววน. ช่วยได้ แต่ทุกฝ่ายต้องรวมพลังฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน

วันที่เผยแพร่ 10 เมษายน 2020 491 Views

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เชิญผู้ทรงคุณวุฒิระดับแนวหน้าของประเทศไทยจากหลายภาคส่วน ร่วมประชุมนัดแรกผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อหารือ Scenario Planning: มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 โดยมีเป้าหมายเพื่อหามาตรการฟื้นตัวของประเทศโดยเร็วที่สุด ตลอดจนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมให้มีความเข้มแข็งเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤตในอนาคต

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า เวลานี้เป็นช่วงที่ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกันเพื่อให้ประเทศผ่านวิกฤตจากการระบาดของโควิด 19 ไปให้ได้ ทั้งนี้ ไม่เพียงแค่หาแนวทางควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในมิติเดียวเท่านั้น แต่ต้องมองถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวด้วย การหารือครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคการศึกษา อาทิ ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ศ.ดร. นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ที่ปรึกษา สอวช. นายกานต์ ตระกูลฮุน อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย คณะกรรมการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุน บพท. นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ มาร่วมวิเคราะห์และให้ความเห็นต่อสถานการณ์เพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูประเทศ

หัวข้อในหารือในครั้งนี้ ได้ยกมิติด้านสาธารณสุข ว่า อะไรคือปัจจัยที่จะหยุดการแพร่ระบาดของโควิด 19 รวมทั้งการเตรียมความสามารถในการรองรับการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ หรืออุบัติซ้ำในอนาคต มิติการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้มีการหารือและวิเคราะห์มาตรการที่ภาครัฐออกมาช่วยเหลือในเบื้องต้นว่าเพียงพอ และดูแลได้อย่างทั่วถึงหรือไม่ และจะสามารถช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจให้หลุดพ้นช่วงวิกฤต ตลอดจนการเตรียมพร้อมเพื่อ Take-off เมื่อพ้นช่วงวิกฤตอย่างไร นอกจากนี้ ในส่วนของ มิติด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ที่ต้องมีระบบดิจิทัลรองรับ สามารถเรียนรู้ได้ตลอดช่วงอายุ เข้าถึงทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา ราคาจับต้องได้ แต่ต้องมีคุณภาพสูง นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงมิติการเตรียมความพร้อมเศรษฐกิจและสังคมสู่ ความปกติแบบใหม่ หรือ New Normal คือ หาแนวทางรับมือกับเรื่องที่เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ในสังคม สิ่งเหล่านี้ได้มีการหารือและวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการฟื้นฟู ที่ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะมีส่วนช่วยได้ทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนในหลายประเด็นกันอย่างกว้างขวาง ที่น่าสนใจคือ เชื่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 จะยาวนานถึง 18 เดือน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อมีการเปิดประเทศ คือหลังวันที่ 30 เมษายน จะมีมาตรการอะไรมารองรับเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดอีกระลอก ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่า องค์ความรู้ในด้าน อววน. จะมีส่วนช่วยได้มาก เพราะทุกมาตรการต้องมีหลักฐานทางวิชาการรองรับ เช่น ด้านขนส่งสาธารณะ ที่มีการเคลื่อนย้ายคนจำนวนมากจะมีมาตรการอย่างไร และภาคขนส่งสาธารณะใดจะเปิดบริการได้ก่อน นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้มีการควบคุมยานพาหนะแต่ละประเภท โดยสารอย่างไรจึงจะปลอดภัย เช่น รถตู้โดยสารสามารถรับคนได้เพียง 1 ใน 3 เพื่อลดความหนาแน่น ส่วนแท๊กซี่ควรเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเทดีกว่าปิดหน้าต่าง หรือไม่อย่างไร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความรู้ด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ ภาคการอุดมศึกษาในภาควิชาที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยพิสูจน์เพื่อกำหนดเป็นมาตรการ

สำหรับด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมเห็นว่า ควรมีการพิจารณาถึงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศจากเดิมไปสู่โครงสร้างแบบใหม่ โดยต้องทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ผ่านการหาภาคส่วนที่มีศักยภาพมาเป็นตัวขับเคลื่อน โดยที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ภาคส่วนที่มีศักยภาพที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศได้มีทั้งภาคการเกษตร-ปศุสัตว์ อาหาร ที่ต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ภาคส่วนการท่องเที่ยวที่ต้องเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ และสามารถกระจายการท่องเที่ยวสู่ภูมิภาคต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องมองถึงเรื่องการสร้างงานในชนบทรองรับคนกลับภูมิลำเนา และการสร้างงานเพื่ออนาคต ซึ่งในเรื่องนี้ สอวช. อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจความต้องการกำลังคนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อนำมาจัดทำ Manpower Planning ของประเทศ เพื่อให้สามารถผลิตกำลังคนได้ตรงตามความต้องการ

ที่ประชุม ยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นในด้านการศึกษา โดยมองว่า ทุกมหาวิทยาลัยปรับตัวได้ดีกับการเรียนออนไลน์ และรัฐบาลก็ช่วยสนับสนุนเครื่องมือและโครงสร้างเครือข่ายต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่ในส่วนหลักสูตรที่ต้องมีการเข้าแลป ต้องหาแนวทางการบริหารจัดการดูว่าจะมีแนวทางอย่างไร เช่นเดียวกับการเรียนออนไลน์ของเด็กประถมที่ต้องหาสื่อที่เหมาะสมกับช่วงวัยและผู้ปกครองเองก็ต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีหล่านี้นี้ควบคู่ไปพร้อมกับเด็กด้วย

ดร. กิติพงค์ กล่าวในตอนท้ายว่า ความเห็นจากการหารือครั้งนี้ สอวช. จะรวบรวมเพื่อนำไปกำหนดเป็นมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นผลกระทบที่เกิดจาก COVID-19 และมานำเสนอที่ประชุมเพื่อร่วมกันพิจารณาอีกครั้งในโอกาสต่อไป ดร. กิติพงค์ ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สอวช. ยังได้ทำการศึกษาผลกระทบของโควิด 19  ที่มีต่อเศรษฐกิจ ตามแนวคิดของ McKinsy & Company ว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะมีความรุนแรงมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมาตรการทางสาธารณสุขในการควบคุมการแพร่ระบาดและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน กับระยะเวลาและความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตามมาตรการทางด้านเศรษฐกิจของภาครัฐในการป้องกันวิกฤตทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นและการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจหลังพ้นระยะเวลาการระบาด ทั้งนี้ ภาพผลกระทบทางเศรษฐกิจที่หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยคาดหวังในสถานการณ์เช่นนี้ คือ การที่ประเทศสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และประเทศมีมาตรการเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพสูง โดยนโยบายที่ออกมาต้องสามารถปกป้องโครงสร้างทางเศรษฐกิจไว้ได้ การเติบโตทางเศรษฐกิจหลังการระบาดสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนการระบาดได้ไว ซึ่งขณะนี้ จากการประเมินประเทศไทยเผชิญอยู่กับการที่การแพร่ระบาดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระยะๆ และด้านเศรษฐกิจสามารถจัดการได้บางส่วนส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัว และกลับสู่ภาวะปกติในระยะต่อไป

Tags:

เรื่องล่าสุด