messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “ประเทศไทย”… เราอยู่ตรงจุดไหนของวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ครั้งนี้

“ประเทศไทย”… เราอยู่ตรงจุดไหนของวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ครั้งนี้

วันที่เผยแพร่ 23 เมษายน 2020 502 Views

กลุ่มเลขานุการสภานโยบายและระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สอวช. ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล “ประเทศไทย”… เราอยู่ตรงจุดไหนของวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ครั้งนี้ จะมีรายละเอียดเป็นอย่างไร ไปติดตามพร้อม ๆ กัน

วันที่ 15 มีนาคม 2563 เป็นวันแรกที่มียอดผู้ป่วยสะสม โควิด-19 ในประเทศไทยเกิน 100 คน จนถึงวันนี้ สถานการณ์ผ่านมาแล้วเกือบ 40 วัน สามารถควบคุมการระบาดได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ โดยตัวเลขผู้ป่วยใหม่ยืนยันเมื่อวานนี้อยู่ที่ 15 ราย (22 เมษายน 2563) ลดลงจากช่วงที่มียอดผู้ป่วยใหม่ยืนยันสูงสุดถึงประมาณ 6 เท่า ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐ ทั้งการสั่งปิดสถานประกอบการชั่วคราว นโยบาย Work from home และ การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social distancing การควบคุมการเดินทางระหว่างเมือง การกักกันกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และส่วนที่สำคัญที่ส่งผลให้มาตรการเกิดสัมฤทธิผลคือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากประชาชน ภาคธุรกิจ และชุมชนต่าง ๆ ในการปฏิบัติตามหลักการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด และการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล

อย่างไรก็ดี มาตรการการควบคุมการระบาดดังกล่าวก็ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก โดยรายงานของ World Bank ได้คาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของ GDP ไทยในปีนี้อยู่ที่ -3% และอาจสูงขึ้นถึง -5% หากสถานการณ์เลวร้ายลง นอกจากนี้ ในแต่ละภาคส่วนยังได้รับผลกระทบไม่เท่ากันอีกด้วย

🔹ในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีสัดส่วนใน GDP ของประเทศสูงถึง 17.5% และมีการจ้างแรงงานอยู่ที่ 4.4 ล้านคน จะได้รับผลกระทบสูงและยาวนานที่สุด โดย SCB Economic Intelligence Center คาดการณ์ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงถึง 56 – 74% และอาจกินเวลานานกว่าช่วงที่เกิดการระบาดของโรค SARS ที่ใช้เวลากว่า 1 ปี กว่าที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาเท่าเดิม

🔹ในภาคการผลิต ประเทศไทยมีสัดส่วนในห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มการผลิตในการค้าต่างประเทศ (Global Value Chain) อยู่ที่ประมาณ 50% และเป็นสัดส่วนที่ต้องพึ่งธุรกิจต้นน้ำในต่างประเทศ หรือ Backward linkage อยู่สูงถึงประมาณ 30% ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยจะประสบปัญหาด้านการขาดแคลนวัตถุดิบและชิ้นส่วนในการผลิตที่ต้องพึ่งการนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก

🔹ในภาคการบริการ ในส่วนของธุรกิจที่ต้องมีการสัมผัสโดยตรงกับผู้บริโภค เช่น ร้านอาหาร ร้านสปา ร้านเสริมสวย ซึ่งมีสัดส่วน GDP อยู่ที่ 5.6% และมีการจ้างแรงงานประมาณ 3 ล้านคน เป็นกลุ่มธุรกิจบริการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการปิดสถานประกอบการเป็นการชั่วคราว อาจส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างสูงถึง 1 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากที่ demand ลดลงประมาณ 60-80%

อย่างไรก็ตาม ภายใต้วิกฤตการณ์ข้างต้น ยังมีผลกระทบทางบวกที่เกิดขึ้น เช่น การเติบโตของธุรกิจ E-commerce และ Food delivery และการเคลื่อนไหวภาคเอกชนในการเข้าช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในทุกระดับ ทั้งจากบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการปรับสายการผลิตเพื่อมาช่วยผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับประชาชน รวมไปถึง ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนในสังคมไทยที่ช่วยผู้ประสบความยากลำบากให้อยู่รอดปลอดภัย ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะใช้บทเรียนเหล่านี้ในการปรับอนาคตของประเทศไทยให้ดีขึ้น ภายใต้บริบทดังกล่าว ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการเยียวยาประชาชน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และเตรียมความพร้อมในการกลับมาประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจระยะเวลาอันใกล้นี้ รวมไปถึงการมองภาพในระยะยาวที่จะปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้สามารถรองรับวิกฤตการณ์อื่น ทั้งในเชิงการระบาดของโรคอุบัติใหม่และการอุบัติซ้ำ รวมไปถึงวิกฤตการณ์อื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เพื่อให้สถานภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความมั่นคงแข็งแรง และสามารถนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน

รวบรวมข้อมูลโดย : กลุ่มเลขานุการสภานโยบายและระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สอวช.

แหล่งอ้างอิงข้อมูล : World Bank, East Asia and Pacific in the Time of COVID-19, April 2020

Tags:

เรื่องล่าสุด