ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรตามแนวทาง อีอีซี โมเดล ครั้งที่ 1/2563 วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม 2563 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ชั้น 5 อาคารอุดมศึกษา 1 โดยที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการพัฒนาบุคลากรกับผู้ประกอบการ ตามแนวทางอีอีซี โมเดล และการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานในการพัฒนาบุคลากร โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ๆ ดังนี้
พัฒนาบุคลากรแบบ Demand Driven เป็นแนวทางหลัก พัฒนาบุคลากรใน อีอีซี
- ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรใน อีอีซี ใช้ EEC Model Type A และ EEC Model Type B เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาบุคลากรใน อีอีซี และให้ EEC-HDC เป็นผู้ประสานงานและรายงานให้ กพอ. ทราบในการประชุมครั้งต่อไป
- ให้ สป.อว. ปรับการเรียนหลักสูตรการเรียนการสอนในหลักสูตรที่ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (Degree) เป็นแบบ EEC Model Type A ให้มากที่สุด โดยให้ EEC-HDC ประสานงานโครงการ CWIE และหาแนวทางและเป้าหมายเสนอในการประชุมครั้งต่อไป
- ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งรัดการจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น (Short Course) ที่ได้รับงบประมาณในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 โดยเร่งรัดการจัดทำหลักสูตรและประสานพลังเอกชนเพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย 30,000 คน โดยให้ EEC-HDC เป็นผู้ประสานงานหลัก
ขยายกรอบความร่วมมือ เพิ่มการพัฒนาบุคลากรในอีอีซี ระหว่าง หน่วยงานที่สำคัญ
- ความร่วมมือระหว่าง สกพอ. กับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
- ) ผลักดันให้สถาบันอาชีวศึกษาในภาคตะวันออก จำนวน 12 สถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งมีกำลังการผลิตนักศึกษาระดับ ประกาศนียบัตรชั้นสูง (ปวส.) รวมปีละ 8,200 คน เป็นรูปแบบ EEC Model Type A ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของผู้สำเร็จการศึกษา ปวส. ในปี 2566 (ดำเนินการแล้วประมาณ 1,500 คน ต้องการเพิ่ม 7,000 คน)
- ) ขยายจำนวนนักศึกษาที่เข้าอบรมหลักสูตรระยะสั้น (short course) รัฐเอกชนร่วมจ่าย 50:50 ให้ได้ 20,000 คน ในปีงบประมาณ 2564
- ) ให้ขยายผล การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการภาษากับเนื้อหา (Content and Language Integrated Learning – CLIL) กับการเรียนการสอนกลุ่มอาชีวศึกษา ซึ่งผู้สอนในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ นำภาษาอังกฤษไปสอดแทรกในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้ภาษาอังกฤษเฉพาะทางได้ เน้นให้ผู้เรียนรู้จักและใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่พบในวิชาชีพ และสามารถใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว
2. ความร่วมมือระหว่าง สกพอ.กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน
1.) ให้หน่วยฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานใน อีอีซี เช่น สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy : MARA) ทำงานร่วมกับภาคเอกชนให้มากขึ้น ทั้งการฝึกอบรม Res kill Up skill New skill ในหลักสูตรอบรมระยะสั้น (short course)
2.) กรมพัฒนาฝีมือแรงงานสร้างหลักสูตรอบรมระยะสั้น (short course) รัฐเอกชน ร่วมจ่าย 50:50 และเป็นแกนนำประสานภาคอุตสาหกรรมเชื่อมต่อการศึกษา และฝึกอบรมเพิ่มทักษะแรงงาน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19
3. ความร่วมมือระหว่าง สกพอ.กับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)
1.) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาตามแนวทาง Demand Driven โดยบูรณาการ การจัดการศึกษาในรูปแบบ EEC Model และ ความร่วมมือในการส่งเสริมการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative Work Integrated Education : CWIE) ให้สามารถพัฒนากำลังคนได้ตรงความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตมากที่สุดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
2.) กำหนดแนวทางเพื่อสนับสนุนสถานศึกษาที่จัดการศึกษาตามแนวทางดังกล่าว และให้สิทธิประโยชน์แก่เอกชนที่ร่วมผลิตบัณฑิตเพื่อเป็นการจูงใจเป็นพิเศษ
3.) ขอให้ สป.อว. เร่งขยายจำนวนหลักสูตร CWIE ตามแนวทาง EEC Model Type A เพื่อรองรับความต้องการบุคลากรของ อีอีซี ให้ได้ 100,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ยังได้เสนอให้พื้นที่อีอีซี ดึงดูดการลงทุนธุรกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy) โดยมองว่าประเทศไทยมีต้นทุนทางทรัพยากรและศักยภาพในธุรกิจประเภทบีซีจีอยู่แล้วทั้งด้านเกษตรอาหาร และการแพทย์และสุขภาพ และมองว่าหลังวิกฤตโควิด – 19 ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสร้างอาชีพ สร้างงานใหม่ เพื่อรองรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และอาชีพใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนแรงงานที่มีอยู่ในระบบ และนักศึกษาจบใหม่ต้องมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะ Reskill Upskill ผ่านหลักสูตรการอบรมระยะต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต และเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ประเทศไทยจะมีความพร้อมด้านกำลังคนที่มีทักษะรองรับการลงทุน
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรตามแนวทางอีอีซีโมเดล มีแผนในการสำรวจความต้องการบุคลากรหลังประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตโควิด เพื่อทำเป็นฐานข้อมูลกลางว่าความต้องการกำลังคนได้รับผลกระทบและมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะนำมาสู่การวางแผนพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศหลังโควิด โดย สอวช. พร้อมแลกเปลี่ยนแนวทางและแบบสำรวจฐานข้อมูลความต้องการกำลังคนที่ สอวช. เคยดำเนินการสำรวจ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเจาะลึกถึงตำแหน่งงานและทักษะเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นแบบสำรวจกลางที่จะพัฒนาขึ้นมาร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงาน กระทรวง อว. กรมอาชีวศึกษา อีอีซี รวมทั้งบีโอไอ โดยจะใช้สำรวจผลกระทบและความต้องการแรงงานแบบบูรณาการร่วมกันต่อไป นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ยังได้เสนอให้มีการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่หรือคนว่างงาน ลงพื้นที่นำองค์ความรู้ช่วยชุมชน รวมถึงลงพื้นที่สำรวจข้อมูลผลกระทบและความต้องการแรงงานควบคู่ไปกับการใช้แบบฟอร์มสำรวจข้อมูล เพื่อสร้างงาน และให้นักศึกษามีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย