messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » แต่งตั้ง “กิติพงค์” นั่ง ผู้อำนวยการ สอวช. สมัยที่ 2

แต่งตั้ง “กิติพงค์” นั่ง ผู้อำนวยการ สอวช. สมัยที่ 2

วันที่เผยแพร่ 2 มิถุนายน 2020 1757 Views

ภายหลังจากที่ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยคณะอนุกรรมการสรรหาและคัดเลือกผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้มีการประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเป็น ผู้อำนวยการ สอวช. ตั้งช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อสรรหาผู้อำนวยการ สอวช. ที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 พฤษภาคม 2563 นั้น

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 28 แห่งตามพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 แต่งตั้ง ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สอวช. ต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 2 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2563

ทั้งนี้ ดร. กิติพงค์ ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สอวช. ในวาระที่ 1 มาเป็นระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 –  30 พฤษภาคม 2563 และมีบทบาทสำคัญในการนำองค์กรเปลี่ยนผ่านจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สู่ สอวช.

สอวช. ภายใต้การนำของ ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ มุ่งเน้นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และแนวนโยบายที่ส่งต่อสู่หน่วยงานปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและบูรณาการทั้งด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศอย่างเป็นระบบ รวมถึงการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบ   อววน. ที่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนที่เอื้อต่อการพัฒนา อววน. เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการพัฒนาขีดความสามารถของ สอวช. ในฐานะหน่วยงานนโยบายของประเทศด้าน อววน. ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิผล ผ่าน 5 การขับเคลื่อนสำคัญ คือ 1. ขับเคลื่อนการแปลงนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. ไปสู่แผนปฏิบัติการ อาทิ แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) แผนด้านการอุดมศึกษา แผนด้านการพัฒนากำลังคนและการเรียนรู้ตลอดชีวิต แผน BCG (Bio – Circular – Green Economy) และแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ AI เป็นต้น 2. ขับเคลื่อนงานวิจัยนโยบายเชิงระบบ (System Research) เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาสาขาเป้าหมาย 10 สาขา ได้แก่ เกษตร อาหาร พลังงาน เศรษฐกิจฐานราก การแก้ไขความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ SME เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อุตสาหกรรมการผลิต 4.0 นวัตกรรมทางสังคมและมนุษย์ รวมถึงสาขาการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิต 3. การขับเคลื่อนการปฏิรูประบบ อววน. ในเชิงโครงสร้าง กลไก และการบริหารจัดการ อาทิ การปลดล็อคการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับงานวิจัยและนวัตกรรม ปลดล็อคการจัดตั้ง Holding Company ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยเพื่อเป็นกลไกร่วมลงทุนนวัตกรรมกับภาคเอกชน ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม (Thai Bayh-Dole Act) ขับเคลื่อน Regulatory Sandbox พิสูจน์นวัตกรรมและปลดล็อคกฎหมายที่เป็นอุปสรรคโดยเริ่มนำร่องในภาคเกษตรอาหาร และ Circular Economy ข้อเสนอจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา ปรับระบบบริหารจัดการทุนและ Transform หน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) ไปสู่โครงสร้างการบริหารและจัดการทุนที่มีประสิทธิผล การปรับระบบงบประมาณ อววน. ไปสู่การจัดสรรทุนแบบ Block Grant / Multi-years การวางระบบเชื่อมโยงข้อมูล อววน. ข้อเสนอเชิงนโยบายการให้ทุนสนับสนุนแก่ SME (SBIR/STTR) และระบบติดตามและประเมินผล อววน. ของประเทศ 4. การขับเคลื่อนหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) ให้มีประสิทธิผลและจัดระบบบริหารจัดการงานวิจัยเชิงโครงสร้างระบบให้เข้มแข็ง และ 5. พัฒนา สอวช. เป็นองค์กรที่มีขีดความสามารถในการจัดทำและบริหารจัดการนโยบาย อววน. ของประเทศ ทั้งในเชิงประสิทธิภาพองค์กร วัฒนธรรมองค์กร และการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

Tags:

เรื่องล่าสุด