messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ส่องวิสัยทัศน์ “กิติพงค์ พร้อมวงค์” หลังคัมแบ๊ค นั่ง ผอ.สอวช. สมัยสอง ชูใช้ อววน. เป็นยาแรง มีโควิดเป็นตัวเร่ง แก้ปัญหาปากท้อง ดึงพลังมหาวิทยาลัยลงช่วยชุมชน เพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรแบบทำน้อยได้มาก หนุนสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มสัญชาติไทย ปลดล็อคกฎหมายที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนา เชื่อวางนโยบายดี จัดการดี ประเทศชาติรอดพ้นวิกฤต เศรษฐกิจมั่นคงและยั่งยืน

ส่องวิสัยทัศน์ “กิติพงค์ พร้อมวงค์” หลังคัมแบ๊ค นั่ง ผอ.สอวช. สมัยสอง ชูใช้ อววน. เป็นยาแรง มีโควิดเป็นตัวเร่ง แก้ปัญหาปากท้อง ดึงพลังมหาวิทยาลัยลงช่วยชุมชน เพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรแบบทำน้อยได้มาก หนุนสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มสัญชาติไทย ปลดล็อคกฎหมายที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนา เชื่อวางนโยบายดี จัดการดี ประเทศชาติรอดพ้นวิกฤต เศรษฐกิจมั่นคงและยั่งยืน

วันที่เผยแพร่ 9 มิถุนายน 2020 482 Views

ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. เป็นสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดย ดร. กิติพงค์ ได้แถลงถึงนโยบายที่จะดำเนินการตลอดช่วง 4 ปี หลังจากนี้ว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนคือ นโยบายแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการให้ยาแรง โดยมีวิกฤตโควิด 19 เป็นตัวเร่งไปแล้วในหลายรายการ ในส่วนของ สอวช. ได้เร่งวางนโยบายเพื่อตอบโจทย์วิกฤตประเทศในขณะนี้ และเพื่อเตรียมรับภาวะปกติใหม่ หรือ นิวนอร์มอล โดยแบ่งการจัดการออกเป็น 4 ระยะ โดยเริ่มตั้งแต่มีการแพร่ระบาดในเดือน พฤศจิกายน 2562  คือ ระยะที่ 1 Restriction (เดือนที่ 1-6) ระยะพยายามควบคุมการแพร่ระบาด สอวช. ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดทำโปรแกรมการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ เพิ่มเป็นโปรแกรมที่ 17 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ ด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (แผนด้าน ววน.) โดยมีเป้าประสงค์ในการใช้ความรู้ การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อคาดการณ์ปัญหา จัดการกับภาวะวิกฤตของประเทศไทยได้อย่างทันท่วงทีเพื่อลดความเสียหายและบรรเทาความเสียหายในระยะสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ เวชภัณฑ์ ระบบการติดตามการระบาด การให้ความรู้แก่ประชาชน มีมาตรการทางการแพทย์ สาธารรณสุขและฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคม ทั้งในระดับอุตสาหกรรมและระดับพื้นที่ ตลอดจนประเทศสามารถปรับตัว มีความมั่นคงในด้านอาหาร สุขภาพและสังคม เป็นต้น

ระยะที่ 2 Reopening (เดือนที่ 7-12) เป็นระยะผ่อนคลายการควบคุมและเริ่มกลับสู่การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นระยะที่ต้องช่วยให้คนมีงานทำ สอวช. มีนโยบายพัฒนากำลังคนเพื่อช่วยให้คนมีงานทำ โดยการ Reskill, Upskill ที่ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ฝึกอบรม แต่มุ่งเป้าให้สามารถนำไปต่อยอดใช้จริงได้ โดยกลุ่มเป้าหมายคือ คนตกงาน คนที่ยังมีงานทำแต่มีความเสี่ยงที่จะตกงาน และนักศึกษาจบใหม่ที่มีโอกาสหางานได้ยากขึ้น นอกจากนี้ ต้องเร่งช่วยเอสเอ็มอีกับผู้ประกอบการ โดยใช้กลไกผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุน ทั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ที่อยู่ภายใต้ร่มนิติบุคคลของ สอวช. ในการจัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมไปยังผู้ประกอบการอย่างตรงจุด ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างตลาด การพัฒนาเชิงพื้นที่

ระยะที่ 3 หรือ Recovery (เดือนที่ 13-18) ระยะการฟื้นตัวและปรับตัวภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย โดย สอวช. อยู่ระหว่างการจัดทำข้อเสนอนโยบายที่จะใช้ อววน. เป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับทุกภาคส่วนทั้งภาคส่วนท่องเที่ยว การผลิต SMEs บริการภาครัฐ การศึกษา สุขภาพ เศรษฐกิจฐานราก เกษตรต้นน้ำ อาหาร รวมถึงศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านการนำ อววน. ไปช่วยฟื้นฟูใน 7 ด้าน คือ 1. บรรเทาผลกระทบ ให้การช่วยเหลือฟื้นฟู เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และการปรับตัว 2. ปรับเปลี่ยนทักษะ ยกระดับทักษะแรงงาน พัฒนาทุนมนุษย์ในสาขาต่างๆ 3. เปลี่ยนผ่านธุรกิจและกิจกรรมสู่ดิจิทัลเพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และตอบโจทย์พฤติกรรมใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสุขอนามัยและความปลอดภัย 4. บูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ 5. ลงทุนวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์มูลค่า ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์ ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี การนำนวัตกรรมสู่การพาณิชย์ ผู้ประกอบการใหม่ นวัตกรรมสังคมและชุมชน 6. สนับสนุนให้เกิด Circular Economy และภูมิคุ้มกันประชาชนและธุรกิจสู่ความยั่งยืน และ 7. ปลดล็อคกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเมื่อจัดทำข้อเสนอนโยบายดังกล่าวแล้วเสร็จจะนำเสนอต่อสภานโยบายเพื่อพิจารณาเสนอ ครม. ต่อไป

ระยะที่ 4  Restructuring (เดือนที่ 19 – อนาคต 5 ปีข้างหน้า) คาดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม จากมุมของการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อววน. เช่น การขายสินค้าภาคเกษตร จากเกษตรตามยถากรรมไปสู่เกษตรแบบแม่นยำหรือเกษตรที่มีมูลค่าสูง กำหนดราคาเองได้ โดยใช้นวัตกรรมผลิตพืชแนวใหม่ สร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการด้านอาหาร โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีไปสู่อาหารเพื่ออนาคต สร้างจุดขายภาคการท่องเที่ยวบนฐานความแข็งแกร่งทางสาธารณสุขและวัฒนธรรม ชูเมืองรองควบคู่ไปกับการพัฒนามาตรฐาน การเชื่อมโยงและความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยว โดยในระยะนี้ก็จะใช้กลไกหน่วยบริหารและจัดการทุนเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการนำการวิจัยและนวัตกรรมสู่ภาคการผลิตและภาคบริการ จะไม่ใช่แค่การวิจัยพัฒนาแล้วจบไป แต่ต้องนำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้จริงเพื่อให้เกิดเทคโนโลยี และบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทย โดยไทยมีศักยภาพทั้งด้านยาชีววัตถุ เครื่องมือการแพทย์ อาหาร เกษตร พลังงาน นอกจากนี้ จะดำเนินการควบคู่ไปกับการใช้กลไกจากการดึงพลังนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ลงไปทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ผู้ประกอบการและสถาบันการศึกษา เช่น ส่งเสริมให้เกิด 1 บริษัท 1 อำเภอ, การสร้างเกิดแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์สัญชาติไทย, พัฒนาการศึกษาออนไลน์และระบบการศึกษาแบบผสม เป็นต้น 

“สอวช. โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ บีโอไอ สนับสนุนงบประมาณมหาวิทยาลัยและเอกชน ทำการวิจัยและพัฒนา โดยเน้นโครงการสำคัญที่ตอบโจทย์ประเทศในอนาคต เพื่อให้เรามีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง เช่น โครงการผลิตยาชีววัตถุ เพื่อที่ประเทศไทยจะสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคระบาดในอนาคตได้ เนื่องจากเรามีมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพหลายแห่ง เช่น มหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ, พัฒนาต้นแบบรถไฟฟ้า เพื่อใช้ในเมืองอัจฉริยะ ขณะนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ก็มีศักยภาพในการดำเนินการ เป็นต้น นอกจากนี้สิ่งสำคัญต่อการพัฒนา คือการปลดล็อคกฎหมายที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดนวัตกรรม โดย สอวช. อยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมประเด็นการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นกรณีศึกษานำร่องจัดตั้งโครงการ Innovation Sandbox โดยจะจัดลำดับความสำคัญของประเด็นที่เป็นข้อจำกัดเพื่อหาแนวทางปลดล็อคทั้งในเชิงกฎหมาย ระเบียบ ขั้นตอนการดำเนินงาน รวมถึงกลไกการดำเนินงานของคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง (Innovation Sandbox) โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย อาทิ ผู้ประกอบการ นักวิจัย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้ประเทศไทยเพื่อไปต่อได้แบบยั่งยืน” ผอ. สอวช. กล่าว

นอกจากนี้ ดร.กิติพงค์ ยังย้ำด้วยว่า ประเทศไทยมีศักยภาพและขีดความสามารถด้านการผลิตและบริการในหลายสาขาที่สำคัญ ได้แก่ เกษตร เกษตรอาหาร สุขภาพ ท่องเที่ยว พลังงานชีวภาพ (BCG) ก่อสร้าง โลจิสติกส์ ดิจิทัล และ AI เป็นต้น สอวช. มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการพัฒนาขีดความสามารถของสาขาเหล่านี้ผ่านทางการจัดลำดับความสำคัญ กำหนดโจทย์ประเทศ และการออกแบบกลไกและมาตรการส่งเสริมและสนับสนุน ทั้งด้านการพัฒนากำลังคนทักษะสูงจากทั้งระบบผลิตบัณฑิตโดยสถาบันอุดมศึกษา และระบบ Reskilling และ Upskilling รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิด Brain Circulation ของ Talent จากทั่วโลกเข้ามาร่วมพัฒนาโดยไม่จำเป็นต้องมาอยู่ประจำในประเทศไทย และด้านวิจัยและนวัตกรรมซึ่งครอบคลุมทั้งวิจัยพื้นฐาน วิจัยประยุกต์ การวิจัยขั้นแนวหน้า การสร้างนวัตกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

“เชื่อว่า การออกแบบนโยบายดี การจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม และการบริหารจัดการที่ดี จะสามารถนำพาประเทศก้าวพ้นวิกฤต และยืนได้ด้วยขาของตนเอง แน่นอนว่า วิกฤตการณ์โควิดครั้งนี้ คือ บทเรียนครั้งสำคัญ ที่ทำให้ทั่วโลกหันมาปรับเปลี่ยนนโยบายกันครั้งใหญ่ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน แต่เราต้องไม่จมกับปัญหา เราต้องนำบทเรียนครั้งนี้ไปสู่โอกาสผ่านการขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับนโยบาย” ดร.กิติพงค์ กล่าวทิ้งท้าย

Tags:

เรื่องล่าสุด