messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » เชื่อ!! คานงัดการศึกษาไทยคือ “ครู” เสนอใช้วิกฤตโควิด เป็นโอกาสปรับการจัดการศึกษาครั้งใหญ่ รับวิถีนิวนอร์มัล พัฒนาครู พร้อมสู่โลกยุคใหม่ ดึงราชภัฎ เอกชน ประชาสังคม และชุมชน เป็นพี่เลี้ยง

เชื่อ!! คานงัดการศึกษาไทยคือ “ครู” เสนอใช้วิกฤตโควิด เป็นโอกาสปรับการจัดการศึกษาครั้งใหญ่ รับวิถีนิวนอร์มัล พัฒนาครู พร้อมสู่โลกยุคใหม่ ดึงราชภัฎ เอกชน ประชาสังคม และชุมชน เป็นพี่เลี้ยง

วันที่เผยแพร่ 19 มิถุนายน 2020 1537 Views

(18 มิถุนายน 2563)  ถึงคิว โรงเรียนยุคนิวนอร์มัล ที่สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หยิบยกมาเป็นประเด็นหารือแลกเปลี่ยนในเวที Recovery Forum ในหัวข้อ “School Reopening and Teacher Empowerment to cope with the Next Normal in Education” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มาพูดคุยแลกเปลี่ยน

ดร. ชูกิจ กล่าวว่า หลังประเทศต้องเผชิญกับโควิด-19 สสวท. ได้ทำการสำรวจข้อมูลการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์ปัจจุบันของครูระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาทั่วประเทศ โดยพบว่า นักเรียน / ครู / ผู้ปกครอง ร้อยละ 70 ไม่คุ้นเคย/ไม่พร้อมกับการเรียนการสอนออนไลน์ ด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยี พบว่า ร้อยละ 31 ขาดอุปกรณ์ ขาดความพร้อม สัญญาณโทรศัพท์/อินเทอร์เน็ตไม่เสถียร ทางบ้านไม่มีกำลังสนับสนุน ด้านพฤติกรรม พบว่า ร้อยละ 12 นักเรียนขาดสมาธิระหว่างเรียนออนไลน์ การสอนค่อนข้างจะเป็นแบบ One-way (จะเป็น Two-way เฉพาะครูที่มีเทคนิคและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์สอนออนไลน์ได้ดี) และปัญหาของผู้ปกครองต้องทำงาน ไม่มีเวลาดูแลบุตรหลานให้ตั้งใจกับการเรียนออนไลน์ และด้านการสนับสนุนจากส่วนกลาง พบว่า ร้อยละ 13 ครูที่สนใจการสอนออนไลน์ ต้องการแนวทางหรือการฝึกอบรมจากส่วนกลาง ที่เกี่ยวกับวิธีการใช้โปรแกรม เทคนิคการสอนออนไลน์ รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณด้านอุปกรณ์และโปรแกรม และสื่อ/ตำราเรียนออนไลน์ ซึ่งปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการจัดทำแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนฯ ในสถานการณ์ COVID-19 โดยมีเนื้อหาทั้งในส่วนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนทั้งรูปแบบปกติ และการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน บทบาทในการเรียนของนักเรียน บทบาทในการสอนของครู การเรียนในชั้นเรียน (On-Site) การเรียนผ่านโทรทัศน์ (On-Air) และการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online) เป็นต้น

นอกจากนี้ สสวท. ยังได้สรุปนิวนอร์มัลทางการศึกษาไทยว่า การศึกษายุคนิวนอร์มัลนั้นระบบการศึกษาจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคม มีการให้ความสำคัญกับกระบวนการ รวมถึง well-being ของนักเรียนแบบองค์รวม เกิดการพัฒนาการศึกษาโดยการรับฟังเสียงสะท้อนจากทุกระดับ ครู ผู้ปกครอง นักเรียน ชุมชน ร่วมกันตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษา ออกแบบหลักสูตรโดยคำนึงถึงความแตกต่างของนักเรียนแต่ละคน มีแบบทดสอบที่หลากหลายเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน รวมถึงนักเรียนและครูร่วมกันออกแบบสภาพแวดล้อมในห้องเรียน อย่างไรก็ตาม แนวทางการปรับการศึกษายุคนิวนอร์มัล จำเป็นต้องปรับบทบาทครูในรูปแบบดั้งเดิมเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ หรือ Learning Facilitator โดยเชื่อว่า คานงัดของการศึกษาไทย คือ การมีครูคุณภาพจำนวนมากที่มีความสามารถในการเป็น Facilitator มีความสามารถในการเชื่อมโยงหลักสูตร วิธีการสอนและการประเมินผลการเรียนรู้เพื่อการพัฒนา โดยปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ ผ่านการฝึกอบรมครูให้ครูเปลี่ยนจากผู้สอน (Teacher) ไปเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ชักชวนให้เด็กได้เรียนรู้ ทั้งนี้ สสวท. ได้นำเสนอ 2 แนวคิดสำคัญในการมุ่งเน้นการพัฒนาครู คือ 1. เปลี่ยนจากครูแบบเดิม เป็นครูที่สอนครอบคลุมเกี่ยวกับการใช้ชีวิตจริงได้ (Transform Teachers to New Normal in Education) อาทิ โครงการศูนย์กลางการพัฒนา STEM Facilitator เมืองสะเต็มศึกษา ฐานปฏิบัติการสำหรับฝึกแนวทางสะเต็มศึกษา ที่จัดตั้งขึ้นโดยเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม (Public-Private-People Partnership) ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการขยายผลสู่ภูมิภาค โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ครูวิทย์-คณิตทั่วประเทศ มีความสามารถในการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา และนักเรียนสามารถนำสมรรถนะด้านสะเต็มมาใช้ เพื่อการเรียนรู้ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพในศตวรรษที่ 21  2. แพลตฟอร์มสนับสนุนเพื่อการพัฒนาครูอย่างยั่งยืน (Supporting Platform for New Normal Teachers) ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการที่เป็น National Online Platform อาทิ ระบบพี่เลี้ยงและการกำกับ MENTORING & SUPERVISING แพลตฟอร์มการให้คำปรึกษา Online STEM Education สำหรับบุคลากรทางการศึกษาและผู้ปกครอง

“หากค่อยๆ พัฒนาครูให้มีจำนวนเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพื่อขยายวิธีการเรียนแบบ STEM Education ได้ จะทำให้เด็กมีความเข้าใจ ทำให้เด็กคิด วิเคราะห์เป็น เมื่อเด็กเรียนระดับมหาวิทยาลัย จะสามารถนำความรู้ด้านการคิด วิเคราะห์ มาประกอบการเรียนได้ ซึ่งตอนนี้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศทั้ง 38 แห่ง ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ครู ผ่านการพัฒนาครูในทุกพื้นที่ของประเทศ ให้มีความพร้อมสู่การเป็นครูยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาการคำนวณ”

ด้าน ดร.กิติพงค์ ได้แลกเปลี่ยนถึงความต้องการบุคลากรของบริษัทที่เปลี่ยนไป โดยเน้นบุคลากรที่มี Agility ที่ไม่ใช่มีเพียงความเชี่ยวชาญ รู้ลึกเฉพาะเรื่อง แต่ต้องเป็นคนมีความสามารถที่หลากหลาย ยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก และต้องสร้างระบบการเรียนรู้ที่แตกต่างจากปัจจุบัน ซึ่งเป็นความท้าทายทางด้านการศึกษา และมองว่าต้องหาความร่วมมือทั้งจากภาคเอกชน ชุมชน เข้ามาเป็นกำลังเสริม

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย โดยส่วนใหญ่เห็นว่าในยามวิกฤตในครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญที่จะจัดการศึกษาตามวิถีนิวนอร์มัล และจะต้องทำอย่างรวดเร็ว เป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดครั้งใหญ่  มีความท้ายทายที่จะยกระดับการศึกษา ปลดล็อคระบบการศึกษาในหลายมิติได้ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นแพลตฟอร์มหลักในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายโดยดึงภาคเอกชน ประชาสังคม และชุมชน เข้ามาช่วย และมองว่าควรเปลี่ยนระบบการศึกษาประเทศไทยให้เป็น Education Agility Platform โดยเชื่อว่าเด็กไทยมีศักยภาพ หากจัดระบบสนับสนุนการเรียนรู้ตามวิถีใหม่สำหรับยุคดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม จัดแพลตฟอร์ม กิจกรรม ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของสังคม จะสร้างระบบการศึกษาที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างสมบูรณ์ เป็น New Normal in Education อย่างแท้จริง

Tags:

เรื่องล่าสุด