messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เผยตัวเลขการลงทุน R&D ไทย รอบสำรวจปี 62 เติบโตพุ่ง 1.11% ต่อจีดีพี คาดหลังประเทศเผชิญโควิด ตัวเลขปรับตัวลดลงอยู่ที่ 1.09% ต่อจีดีพี จากภาคเอกชนลดงบประมาณการลงทุน ชี้ ปี 70 แตะเป้า 2% ได้ หากรัฐขึ้นมาเป็นผู้นำอัดมาตรการส่งเสริมการลงทุนเต็มสูบ

สอวช. เผยตัวเลขการลงทุน R&D ไทย รอบสำรวจปี 62 เติบโตพุ่ง 1.11% ต่อจีดีพี คาดหลังประเทศเผชิญโควิด ตัวเลขปรับตัวลดลงอยู่ที่ 1.09% ต่อจีดีพี จากภาคเอกชนลดงบประมาณการลงทุน ชี้ ปี 70 แตะเป้า 2% ได้ หากรัฐขึ้นมาเป็นผู้นำอัดมาตรการส่งเสริมการลงทุนเต็มสูบ

วันที่เผยแพร่ 23 มิถุนายน 2020 2524 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาโดยรวมของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 ในรอบการสำรวจปี 2562 พบว่า เมื่อปี 2561 ประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) จำนวนทั้งสิ้น 182,357 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.11 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 17.5 ทั้งนี้ ตัวเลขการลงทุนดังกล่าวแบ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชน 142,971 ล้านบาท และเป็นการลงทุนจากภาครัฐ 39,385 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนโดยประมาณร้อยละ 78 และร้อยละ 22 ตามลำดับ

ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า การเติบโตของตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศ ในรอบการสำรวจปี 2562 เป็นตัวเลขที่น่าพึงพอใจ โดยหากพิจารณาเฉพาะการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน พบว่า มีการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.87 ต่อจีดีพี โดยเพิ่มจากรอบสำรวจปีก่อนหน้าที่ภาคเอกชนมีการลงทุน 123,942 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.80 ต่อจีดีพี ส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐ พบว่า มีการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.24 ต่อจีดีพี โดยเพิ่มจากรอบสำรวจปีก่อนหน้าที่ภาครัฐมีการลงทุน 31,201 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.20 ต่อจีดีพี ส่วนในด้านบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนานั้น พบว่า มีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา 159,507 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 15 หรือคิดเป็น 24 คน ต่อประชากร 10,000 คน  ซึ่งแบ่งเป็นบุคลากรที่อยู่ในภาครัฐร้อยละ 33 และอยู่ในภาคเอกชนร้อยละ 67 สำหรับปี 2562 ซึ่งจะเป็นรอบการสำรวจปี 63 นั้น คาดว่าการลงทุนด้าน R&D ของประเทศไทยจะขยายตัวแตะหลัก 2 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.21 ของจีดีพี

จากการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนได้รับผลกระทบจนอาจจำเป็นต้องลดงบประมาณด้าน R&D ลง ส่วนภาครัฐนั้นไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากได้รับการจัดสรรงบประมาณเรียบร้อยแล้ว ทำให้ในภาพรวมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของทั้งประเทศคาดว่าจะปรับตัวลดลงเหลือประมาณ 1.66 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.09 ของ GDP อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปี 2564

“แม้การเติบโตของการลงทุน R&D ไทยจะเติบโตมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2554 แต่เมื่อทั่วโลกรวมถึงไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตัวเลขการลงทุน R&D ในปี 2563 จะปรับตัวลดลงซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจนอาจจำเป็นต้องลดงบประมาณด้าน R&D ลง โดย สอวช. คาดการณ์ว่าจากผลกระทบจากโควิด-19 จะส่งผลให้ตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศ ในปี 2563 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 1.09 และคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในปี 64 ที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 1.23 และแม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะปรับตัวลดลงจากเป้าเดิมที่คาดการณ์ไว้ในสถานการณ์ปกติว่า ในปี 2563 จะเติบโตร้อยละ 1.40 ต่อจีดีพี และในปี 64 จะเติบโตร้อยละ 1.50 ต่อจีดีพี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ เพียงแค่เราต้องกำหนดทิศทางการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาหลังสถานการณ์โควิด-19 ให้ชัดว่าจะมุ่งไปในทิศทางไหนเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายร้อยละ 2 ในปี 2570 ซึ่งมีทางเป็นไปได้แน่นอน แต่ต้องไม่ปล่อยไปตามยถากรรม” ดร. กิติพงค์ กล่าว

ดร. กิติพงค์ กล่าวถึง ฉากทัศน์การลงทุนวิจัยและพัฒนาของไทยหลังจากเผชิญกับโควิด-19 ว่า การระบาดของโควิด-19 จะทำให้การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนได้รับผลกระทบในระยะสั้น แต่ในระยะยาวนั้นการลงทุนด้าน R&D ของไทยและประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเหตุการณ์นี้จะยิ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้และพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในโลกยุคใหม่ โดยคาดว่าการลงทุนด้าน R&D ของไทยจะสูงถึงร้อยละ 2 ของจีดีพี ภายในไม่เกินปี 2570 นี้ ซึ่งอาจแซงหน้าประเทศอังกฤษได้ เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วจะมีแนวโน้มการลงทุนด้าน R&D ค่อนข้างคงที่

สำหรับทิศทางที่จะทำให้การลงทุนวิจัยและพัฒนาของไทยฟื้นตัวหลังเผชิญวิกฤตการณ์โควิด-19 และนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายการลงทุนด้าน R&D ร้อยละ 2 ของจีดีพี ภายในปี 2570 นั้น ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า ทิศทางงานวิจัยในอนาคตต้องสามารถเชื่อมโยงเข้ากับแผนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) และกองทุนส่งเสริม ววน. โดยในปีงบประมาณ 2564 กองทุนส่งเสริม ววน. มีงบประมาณรวม 19,916 ล้านบาท ตลอดจนต้องมีการสร้างทิศทางการวิจัยและพัฒนาให้สามารถเชื่อมโยงกับโครงร่างกลยุทธ์นโยบายและแผนการพัฒนา อววน. พ.ศ. 2565 – 2570 ประกอบด้วย 5 เรื่อง คือ 1. ยกระดับความมั่นคงของมนุษย์ สังคมแห่งสุนทรียภาพ และสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ 2. สร้างความเจริญสู่ท้องถิ่น ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต และแก้ปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จ 3. ขับเคลื่อน BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืนบนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 4. ปรับโครงสร้างภาคการผลิต อุตสาหกรรมและบริการ ด้วย อววน. สู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และ 5. ปฏิรูปและเสริมสร้างระบบ อววน. เพื่อการพัฒนาประเทศ

“ยกตัวอย่างให้เห็นภาพการสร้างทิศทางการวิจัยในด้านการขับเคลื่อน BCG เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืนบนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการขับเคลื่อน BCG รายสาขา ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยขับเคลื่อนอยู่ อาทิ สาขาเกษตร มีการปรับระบบเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูงและรายได้สูง รวมทั้งการพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmers สาขาอาหาร สนับสนุนให้เกิดโครงการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหารในกลุ่มอาหารเดิม อาหารใหม่และอาหารท้องถิ่น สาขาอาหารสุขภาพ เช่น โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฟังก์ชันหรือผลิตภัณฑ์ Functional Ingredients แบบครบวงจร สาขาพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ เช่น โครงการวิจัยและพัฒนา Ethanol Fuel Cell EV สาขายา/วัคซีน เช่น โครงการ Genomics Thailand สาขาเครื่องมือแพทย์ เช่น การทำมาตรฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์และบริการทางการแพทย์ สาขาท่องเที่ยว เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น การสนับสนุนดิจิทัลแพลตฟอร์มของไทยที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ครบวงจรและสร้างความมั่นใจ รวมถึงสาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การลด Food Loss/ Food waste ตลอด Supply Chain ของพืชและสัตว์เป้าหมาย เป็นต้น” ดร. กิติพงค์ กล่าว

นอกจากการสร้างทิศทางการวิจัยและพัฒนาที่ชัดเจนให้กับประเทศที่สอดคล้องกับแผน อววน. กองทุนส่งเสริม ววน. และเชื่อมโยงกับโครงร่างกลยุทธ์นโยบายและแผนการพัฒนา อววน. พ.ศ. 2565 – 2570 แล้ว ปัจจัยที่จะช่วยให้การลงทุน R&D ฟื้นตัวจากผลกระทบวิกฤตการณ์โควิด-19 ได้นั้น คือ ภาครัฐจะต้องขึ้นมาเป็นผู้นำเพื่อการผลักดัน R&D ของประเทศไทยสู่เป้าหมาย 1.5% ในปี 64 และสู่เป้าหมาย 2% ของจีดีพี ในปี  2570 โดย สอวช. ตระหนักว่าหากค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศลดลดจะทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศจะมีปัญหา จึงมีความพยายามที่จะพยุงขึ้นมาโดยมีมาตรการระดับนโยบายที่ทาง สอวช. ได้เตรียมการเอาไว้ 3 เรื่องใหญ่ คือ

1. การใช้งบประมาณส่งเสริมจากภาครัฐไปสมทบให้กับภาคเอกชนให้สามารถวิจัยได้ต่อเนื่อง หรือเรียกว่า Matching Grant โดยจะให้ผ่านทางหน่วยบริหารจัดการทุนที่มีอยู่ของประเทศ เช่น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งได้เตรียมการลงทุนพร้อมที่จะช่วยภาคเอกชนแล้ว
2. การสร้างแรงจูงใจภาคเอกชนในการลงทุนต่อไป อาทิ ตอนนี้ทาง สอวช. อยู่ระหว่างการทำความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม โดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการส่งเสริมสภาอุตสาหกรรมฯ ตั้งกองทุนนวัตกรรมขึ้น โดยกองทุนนี้จะมาจากการลงขันของภาคเอกชนโดยเฉพาะรายที่มีศักยภาพในการลงทุน ประมาณ 80 บริษัท โดยทางรัฐบาลจะพิจารณาเรื่องของการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทที่มาร่วมลงขัน การลงขันในที่นี้คือการบริจาคเข้ากองทุนนวัตกรรมที่สภาอุตสาหกรรมฯ จัดตั้งขึ้นร่วมกันกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งเม็ดเงินของกองทุนตั้งเป้าไว้ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยที่ภาคเอกชนเสนอให้รัฐบาลให้แรงจูงใจเรื่องของการยกเว้นภาษี 300% ของเงินที่บริจาคเข้ากองทุน และเงินที่บริจาคเข้ากองทุนนี้จะนำไปใช้ในการส่งเสริม SMEs ในการทำนวัตกรรม เพื่อให้เอกชนยังคงเงินลงทุนต่อเนื่องด้านการวิจัยและพัฒนาต่อไป
3. คงการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของบริษัทใหญ่ ซึ่งการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญ เพราะฉะนั้นการที่ยังคงส่งเสริมให้บริษัทใหญ่มีการลงทุนต่อไปก็เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน (Ecosystem) ให้กับเอกชน อาทิ นโยบายที่ต่อเนื่องของรัฐบาล เช่น นโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) การสร้างให้เกิดความง่ายต่อการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) การปลดล็อกในเชิงกฎระเบียบและกฎหมายต่างๆ และเรื่องของการเตรียมบุคลากรให้พร้อมที่จะเข้าไปทำวิจัยให้บริษัท

“รายละเอียดข้างต้นเป็นมาตรการส่วนหนึ่งที่จะช่วยรักษาการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ต่อไป นอกจากนี้ ได้เตรียมการที่จะทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น บีโอไอ ซึ่งขณะนี้มาทำงานร่วมกับกระทรวง อว. ที่จะต่อยอดงานที่กระทรวง อว. ทำไว้ในมุมของนวัตกรรมให้ออกไปในเชิงพาณิชย์ ทางด้าน BCG ก็ได้มีโครงการใหญ่ๆ ออกมาแล้ว อาทิ โครงการที่จะพัฒนาการเกษตร พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารให้เป็นอุตสาหกรรมอาหารที่มีความเข้มแข็งในตลาดโลก พร้อมๆ กับทำอุตสาหกรรมอาหารในท้องถิ่น เช่น การส่งเสริม Street Food ผู้ผลิตอาหารในท้องถิ่นให้เข้มแข็งและมีสุขลักษณะที่ดีซึ่งจะไปเสริมเรื่องของการท่องเที่ยวด้วย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการท่องเที่ยว อาหารเพื่อสุขภาพ พลังงานชีวภาพ เรื่องยา/วัคซีน เครื่องมือแพทย์ รวมถึงเศรษฐกิจหมุนเวียน และยังมีการเตรียมการเพื่อที่จะให้เกิดศูนย์กลางความเจริญที่กระจายไปในภูมิภาค ทั้งในระดับที่เป็นกลุ่มจังหวัด และในระดับชุมชน การส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยไปร่วมลงทุนกับภาคเอกชนในโครงการด้านนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการประกอบการที่มีเทคโนโลยีเป็นฐาน การปรับและยกระดับการสนับสนุนภาคเอกชน จากเดิมที่มีกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เราก็เตรียมการที่จะปรับแก้ ตอนนี้อยู่ระหว่างที่จะส่งเสริมให้ทางหน่วยงานที่สนับสนุนทุนสามารถให้ทุนเอกชนได้ สุดท้ายคือ การส่งเสริมโอกาสการเติบโตของแพลตฟอร์มสัญชาติไทย เช่น ภาคการค้าและการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งตรงนี้จะกลายเป็นรากฐานของอนาคตที่จะทำให้เรามีความเข้มแข็งมากขึ้น” ดร. กิติพงค์ กล่าว

Tags:

เรื่องล่าสุด