(23 กรกฎาคม 2563) ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวต้อนรับในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศหรือการประยุกต์เชิงพาณิชย์ โดยมี พลตำรวจโท ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ เจ้ากรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม ให้เกียรติกล่าวเปิดการประชุม ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1-2 สอวช.

ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศหรือการประยุกต์เชิงพาณิชย์ครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง สอวช. กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (วท.กห.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการร่วมกันเป็นเจ้าภาพ โดยการจัดการประชุมในครั้งนี้เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้สร้างการมีส่วนร่วม รับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง และรวบรวมข้อมูลความต้องการในการใช้งานเทคโนโลยีด้านความมั่นคงของภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจและสังคม เพื่อจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศหรือการประยุกต์เชิงพาณิชย์ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และประชาชน อย่างแท้จริง



“เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศถือเป็นเรื่องสำคัญมาก มีการหารือและผลักดันในระดับนโยบายมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งนวัตกรรมทุกอย่างล้วนมีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคง เพราะมีเรื่องการรักษาความปลอดภัยเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ เรื่องของงานวิจัยและพัฒนาเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ หรือ Dual use นั้น มีปัจจัยสำคัญ คือ เมื่อมีการผลิตออกมาต้องมีที่นำไปทดลองใช้ หรือเราเรียกว่าแซนด์บ๊อก การดำเนินการแบบจำกัดขอบเขต เพื่อให้เราได้ข้อมูลทั้งด้านความปลอดภัย การใช้งาน การออกกฎระเบียบ และกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เราได้ข้อมูลเพื่อพัฒนาสินค้าหรือบริการต่อไป” ดร. กิติพงค์ กล่าว

ด้าน พลตำรวจโท ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และยังเป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกได้ถึงความร่วมไม้ร่วมมือ ทั้งนี้ ในภาคส่วนตำรวจเองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น โดยการพัฒนาขึ้นจากบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่และพบปัญหาในการปฏิบัติงานและคิดว่าเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ จึงเกิดเป็นความร่วมมือกับหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญต่างๆ พัฒนาเป็นเทคโนโลยีขึ้นมา ซึ่งจะเห็นว่าการพัฒนาทางเทคโนโลยีสิ่งสำคัญคือความร่วมมือ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมมีส่วนร่วมและสนับสนุนในภารกิจเพื่อจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์อย่างเต็มที่ โดยยึดมั่นว่าทุกสิ่งที่ทำ ประชาชนต้องได้ประโยชน์

พลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ เจ้ากรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม กล่าวว่า กรมฯ ได้ตระหนักถึงการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของประเทศ ให้ความสำคัญกับงานวิจัย และเชื่อว่าขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งการจะขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคการศึกษา ที่จะผนึกกำลังทำให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และงานวิจัยและพัฒนาเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยการจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ที่เราร่วมกันคิดในวันนี้เป็นประโยชน์ที่เราจะมีแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนาร่วมกันในอนาคต ในการใช้วัตถุดิบของประเทศ การพัฒนาคน พัฒนาให้เกิดการต่อยอด การขยายผล และพัฒนาสินค้าเพื่อความมั่นคงไปสู่การใช้ในเชิงพาณิชย์ กรมฯ พร้อมที่จะสนับสนุนและผลักดันเทคโนโลยีโรดแมป เพื่อให้เราเดินหน้าไปสู่เป้าหมายเดียวกัน





อย่างไรก็ตาม ภายในงานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศหรือการประยุกต์เชิงพาณิชย์ ประกอบไปด้วย การบรรยายภาพรวมของอุตสาหกรรมและงานวิจัยเพื่อความมั่นคงของประเทศหรือการประยุกต์เชิงพาณิชย์ อาทิ การบรรยายในหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ สนับสนุน S-Curve ที่ 11 ของกระทรวงกลาโหม” โดย ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร การบรรยายหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน” โดย พลตำรวจตรี เสนิต สำราญสำรวจกิจ ผู้บังคับการกองวิจัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การบรรยายหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของเครือข่ายภาคเอกชนไทยอย่างเป็นรูปธรรม” โดย สมาคมอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ และการบรรยายหัวข้อ “งานวิจัยและพัฒนาเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (Dual use)” โดย ดร. ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ หลังจากนั้นเป็นการระดมสมองในหลากหลายหัวข้อ อาทิ แนวโน้มหรือเป้าหมายของอุตสาหกรรมเพื่อความมั่นคงของประเทศหรือการประยุกต์เชิงพาณิชย์, ผลิตภัณฑ์และการบริการ รวมถึงการระดมสมองหัวข้อ เทคโนโลยี กระบวนการผลิตและโจทย์วิจัย และมาตรการสนับสนุน เป็นต้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
โทรศัพท์ 081-7536119 (แพรประพันธ์) 02160 5432 ต่อ 730 มือถือ 08-0441-5450 (วรรณพร)
Email: pr@nxpo.or.th / Website: www.nxpo.or.th / Facebook: https://www.facebook.com/NXPOTHAILAND/