
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) จัดเวที Recovery Forum โดยในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร. ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดีด้านการวางและกำหนดยุทธศาสตร์ นวัตกรรม และพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาบรรยายในหัวข้อ “Leading futures: Chulalongkorn University Innovation for Society”

โดย รศ.ดร.ณัฐชา ได้แลกเปลี่ยนถึงยุทธศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้วิสัยทัศน์ที่จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติระดับโลกที่สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสังคมไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนพัฒนาบัณฑิตเพื่อรองรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนถึงการดำเนินโครงการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU Innovation Hub ซึ่งเป็นโครงการเพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม สำหรับนิสิตนักศึกษาและผู้สนใจเข้าอบรมเรียนรู้กระบวนการสร้างนวัตกรรม และยังเป็นโครงการที่นำเสนอแนวคิดสร้างสรรค์ทางนวัตกรรมที่หลากหลายเพื่อการเปลี่ยนสังคมไทยสู่วิถีใหม่ในการใช้ชีวิต การเรียนรู้ และความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ยังเปิด Market Place เพื่อเป็นช่องทางปั้นให้เกิดสตาร์ทอัพขึ้นมาหลายราย
นอกจากนี้ จุฬาฯ ยังได้จัดตั้ง บริษัท ซียู เอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด (CUE) เป็นบริษัทโฮลดิ้ง เพื่อเข้าไปลงทุนในบริษัทต่าง ๆ ที่นำงานวิจัยพัฒนาด้านนวัตกรรมของคณะวิชาต่าง ๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และในช่วงวิกฤตโควิด-19 พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถทำได้จากความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ เจ้าของผลงานวิจัย และนักลงทุน ในการนำผลงานวิจัยมาต่อยอดผลิตเป็นสินค้าได้ ซึ่งการวางยุทธศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญมากที่ทำให้ จุฬาฯ เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรม และเกิดขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้ การผลักดันให้เกิดธุรกิจนวัตกรรม ผู้บริหารต้องเห็นความสำคัญของธุรกิจนวัตกรรมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติ และร่วมหาวิธีเพื่อไปสู่เป้าหมายที่กำหนด


รศ.ดร.ณัฐชา ยังได้กล่าวถึงภาพบัณฑิตในอนาคตว่า จะต้องมีความดีเป็นพื้นฐาน และพัฒนาความเก่ง โดยการใส่ความรู้เข้าไป และเพิ่มเติมทักษะที่ทันต่อสมัย หรือ 4C ซึ่งประกอบด้วย 1. Creativity and Innovation คิดนอกกรอบและต่อยอดเป็น 2. Critical Thinking and Problem Solving คิดอย่างมีวิจารณญาณและแก้ปัญหาเองได้ 3. Communication สื่อสารได้ถูกต้อง และ 4. Collaboration การทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า จุฬาฯ เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีการพัฒนาโมเดลต้นแบบนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรม และยังมีอีกหลากหลายมหาวิทยาลัยของไทยที่มีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการใช้องค์ความรู้และทักษะความสามารถของบุคลากรมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศที่จะเป็นทั้งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและตอบโจทย์สังคมตามกรอบนโยบายการพลิกโฉมการอุดมศึกษา ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทั้งในมิติการสร้างและพัฒนาคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 การสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ การสร้างและพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการปฏิรูปการอุดมศึกษา โดย สอวช. ได้มีความร่วมมือกับหลายมหาวิทยาลัยในการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการส่งเสริมให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น Entrepreneurial University & Enterprise, Excellence in R&I, Life Long Learning & Future Workforce รวมถึงเรื่อง Brain Circulation & Mobility เป็นต้น