messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ลงพื้นที่แจกถุงยังชีพ พานักวิจัยลงสัมผัสพื้นที่จริง เน้นเป็นหน่วยงานนโยบายต้องเข้าใจปัญหา ไม่ใช่ทำนโยบายอยู่บนหอคอย

สอวช. ลงพื้นที่แจกถุงยังชีพ พานักวิจัยลงสัมผัสพื้นที่จริง เน้นเป็นหน่วยงานนโยบายต้องเข้าใจปัญหา ไม่ใช่ทำนโยบายอยู่บนหอคอย

วันที่เผยแพร่ 30 กรกฎาคม 2020 690 Views

ตึกสูงใหญ่เรียงราย โอบล้อมด้วยมหาวิทยาลัย สนามกีฬา และหมู่บ้านจัดสรรหลังงาม ย่านทำเลทอง บางกะปิ สวนหลวง

ใครจะคิดว่า ริมคลองเล็ก ๆ ที่เชื่อมสัมพันธ์พี่น้องแห่งทุ่งบางกะปิในอดีต นามว่า “คลองกะจะ” จะปรากฎเป็นชุมชนที่ผู้มีคนอาศัยอยู่กันมาหลายสิบปี ในซอกหลืบเล็ก ๆ กว่า 70 หลังคาเรือน

แสงแดดยามสาย สลับกับเสียงเด็กเล็กกระจองอแง ผู้คนเดินกันขวักไขว่ สัตว์เลี้ยง ส่งเสียงทักทายคนแปลกหน้า เพิ่มสีสันให้ชุมชนดูมีชีวิตชีวา

เช้าวันที่ 30 กรกฎาคม ชุมชนแห่งนี้ดูคึกคักเป็นพิเศษ เพราะ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวง อว. นำโดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. พร้อมด้วย รองผู้อำนวยการทั้งสองคน ดร.กาญจนา วาณิชกร คุณรติมา เอื้อธรรมาภิมุข นักวิจัย และพนักงานเจ้าหน้าที่อีกหลายชีวิต ได้นำถุงยังชีพ ที่ผู้บริหารและพนักงานของ สอวช. ได้รวบรวมปัจจัยเพื่อซื้อของกินของใช้ที่จำเป็น นำไปมอบให้กับผู้เดือดร้อน ที่ชุมชนริมคลองแห่งนี้ โดยการประสานงานของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ให้ข้อมูลว่า ชุมชนแห่งนี้ไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือในช่วงวิกฤตโควิดอย่างเพียงพอ เนื่องจากยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นชุมชน ทั้งด้วยจำนวนประชากร และจำนวนหลังคาเรือน

บังลี บังมัด คุณเอาของมาให้ ออกมารับด้วย

เสียงพี่เล็ก -วราภรณ์ บูรณเพชร เดินตะโกนเรียกสมาชิกแต่ละบ้าน อย่างคุ้นเคย สมกับที่อาศัยอยู่กับชุมชนแห่งนี้มากว่า 30 ปี

“จริง ๆ หลายคนต้องออกไปทำงานกันแล้ว แต่เขารอรับของแจก อย่างบังลีนี่ก็ต้องไปขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างแถวสวนหลวง ส่วนนั่นพี่ชายเขา บังมัด เป็นคนพิการ อายุ 60 ปีแล้วเพิ่งจะมีบัตรประชาชนเป็นครั้งแรก พ่อเพิ่งจะเสียชีวิตไปพิการเหมือนกัน บังลีก็หากินเลี้ยงทั้งครอบครัว โน่นบ้านน้องคนนั้นที่มองมานั่นก็ลูกอ่อน เขาเดินมาไม่ได้ เดี๋ยวพี่เล็กฝากบังลีไว้ที่นี่นะ บ้านโน้นก็มีคุณยายอายุเกือบ 80 ปี อยู่ที่นี่มา 40 กว่าปีแล้ว มีลูกสาวดูแล ส่วนมะด้านโน้นก็กำลังเตรียมทำอาหารไปขายที่ตลาด ลูกหลานบางคนถูกเลิกจ้าง ก็อยู่กันอย่างประหยัด ๆ ความช่วยเหลือก็ไม่ค่อยได้เข้ามา ต้องขอบคุณพวกคุณที่ยังนึกถึงพวกเรา” พี่เล็ก กล่าวขอบคุณพร้อมยกมือไหว้ พร้อมกับชาวบ้านอีกหลายคน บางคนถึงกับน้ำตาไหลด้วยความปลื้มใจ

ถนนหนทางเดินเชื่อมผ่านไปแต่ละบ้าน ค่อนข้างจะคับแคบแทบจะสวนทางกันไม่ได้ แต่ชาวชุมชนก็อยู่ด้วยกันอย่างสงบ ไม่มีปัญหาโจรผู้ร้าย จะมีปัญหาก็แต่ไฟฟ้า และน้ำประปา ต้องต่อท่อ ต่อสายไฟ กันมาจากบ้านใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิม ที่นี่อยู่กันอย่างอารี ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมายาวนาน  

คณะของ สอวช. เดินไปถึงราว ๆ กลางชุมชน พวกเราเห็นร่องรอยการถูกไฟไหม้ อดคิดไม่ได้ว่า รถดับเพลิงที่ไหนจะเข้ามาได้ พี่เล็กบอกว่า โชคดีเราอยู่ใกล้โรงงานจิวเวลรี่ จึงมาช่วยดับได้ทัน ชาวบ้านก็ช่วยกันเอาน้ำจากคลองช่วยกันดับจึงทำให้ไม่ลุกลามไปหลังอื่น ชุมชนมีข้อดีตรงที่มีคนคอยเป็นหูเป็นตา เกิดเหตุอะไรจะถึงกันหมด แล้วช่วยกัน 

ทางด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ บอกเล่าถึงกิจกรรมดี ๆ วันนี้ ว่า นอกจากความห่วงใยพี่น้องชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว สอวช. ในฐานะหน่วยงานสร้างสรรค์และริเริ่มนโยบาย เราเองต้องสร้างนักวิจัยและพนักงานซึ่งเป็นผู้คิดนโยบายด้วยการพาลงสัมผัสพื้นที่จริง ไม่ใช่ทำนโยบายอยู่บนหอคอย การลงพื้นที่มาสัมผัสความเป็นอยู่ของชุมชนจริงๆ จะช่วยสร้างความเข้าใจอย่างลึกซึ้งจากการได้พบปะพูดคุย ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ และปัญหาที่ชุมชนกำลังเผชิญ และเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานแบบเกาะติดพื้นที่ที่เป็นหัวใจสำคัญของการทำนโยบาย ซึ่งการลงพื้นที่เช่นนี้เป็นการแสดงจุดยืนของ สอวช. ที่ชัดเจนว่า สอวช. เป็นหน่วยงานที่ริเริ่มนโยบายด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะนโยบายที่ สอวช. อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนอย่างนโยบายขจัดความยากจนอย่างตรงจุด อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ชุมชนครั้งนี้ ยังมีทีมนักวิจัยลงเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ชุมชน เพื่อทำความเข้าใจเรื่องความยากจนในเขตเมืองอีกด้วย

ล้อรถของผู้มาเยือนเคลื่อนออกไปแล้ว แสงแดดช่วงสายของวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส ทุกสรรพสิ่งดำเนินไปอย่างเช่นทุกวัน แต่วันนี้ หัวใจของผู้ให้พองโต เพราะรอยยิ้ม และสายตาแห่งความสุข ฉายเต็มไปหน้าของผู้รอการมาเยือน ด้วยความห่วงใย

“คนไทยไม่ทิ้งกัน”

Tags:

เรื่องล่าสุด