ตลอดช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ บริษัท ไอริส คอนซัลติ้ง จำกัด นำโดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร พนักงาน นำสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตจัดใส่ถุงยังชีพเพื่อนำไปมอบให้กับครอบครัวผู้มีรายได้น้อยใน 12 ชุมชน เขตกรุงเทพมหานคร โดยการประสานงานของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ประกอบด้วย ชุมชนริมคลองกะจะ,ชุมชนพระรามเก้า ซอย 41 ,ชุมชนหมาหลง, ชุมชนคลองไผ่สิงโต, ชุมชนน้องใหม่, ชุมชนวัดจอมสุดาราม, ชุมชนต้นตาล, ชุมชนวัดราชวรินทร์, ชุมชนบ้านกล้วย, ชุมชนซอยโต๊ะกา, ชุมชนริมทางรถไฟ และชุมชนมหาดไทย 5 รวมทั้งสิ้น 283 ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย โดยทั้ง 12 ชุมชน ยังมีครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังต้องการความช่วยเหลืออยู่ โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ พม. ได้ลงพื้นที่สำรวจด้านสวัสดิการที่ยังไม่ครอบคลุมในบางส่วน รวมถึงแนะนำสิทธิ์ต่างๆ เพื่อให้แต่ละชุมชนเข้าถึง และเพื่อเป็นกำลังใจให้กับแต่ละครัวเรือน สอวช. จึงได้ลงพื้นที่ไปมอบถุงยังชีพและเยี่ยมเยียนชุมชนในโอกาสดังกล่าวด้วย
ทางด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ กล่าวว่า นอกจากความห่วงใยพี่น้องชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว สอวช. ในฐานะหน่วยงานสร้างสรรค์และริเริ่มนโยบาย เราเองต้องสร้างนักวิจัยและพนักงานซึ่งเป็นผู้คิดนโยบายด้วยการพาลงสัมผัสพื้นที่ เพื่อดูความเป็นอยู่ของชุมชนจริงๆ ได้พบปะพูดคุย ได้เห็นปัญหาที่ชุมชนกำลังเผชิญ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานแบบเกาะติดพื้นที่ที่เป็นหัวใจสำคัญของการทำนโยบาย ซึ่งการลงพื้นที่เช่นนี้เป็นการแสดงจุดยืนของ สอวช. ที่ชัดเจนว่า สอวช. เป็นหน่วยงานที่ริเริ่มนโยบายด้วยความเข้าใจ โดยเฉพาะนโยบายที่ สอวช. อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนอย่างนโยบายขจัดความยากจนอย่างตรงจุด อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ร่วมกับ พม. ทำให้ สอวช. สามารถเรียนรู้เรื่องขจัดความยากจน และสร้างความมั่นคงมนุษย์ได้เป็นอย่างดี และ พม. จะเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ด้าน อววน. เรื่องเปลี่ยนความยากจนสู่ความมั่งมีได้
“ในระยะ 5 ปีข้างหน้า นโยบายและยุทธศาสตร์ด้าน อววน. ของประเทศที่ สอวช. กำลังยกร่าง จะมีเรื่องการขจัดความยากจน เป็นยุทธศาสตร์หลัก เพื่อให้ทั้งคนจนในเมืองและในชนบทหลุดพ้นจากวงจรความยากจน โดยใช้พลังของการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเข้าไปช่วย การให้พนักงาน สอวช. ได้ลงไปเห็นและเข้าใจ รวมทั้งให้เกิดแรงบันดาลใจในการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มผู้ยากจน จะช่วยให้การออกแบบและขับเคลื่อนนโยบายในเรื่องนี้เป็นไปอย่างแม่นยำและเกิดสัมฤทธิผลจริงๆ” ดร. กิติพงค์ กล่าว