messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “ดร.เอนก” ชง บพท. ขยายโครงการนำการวิจัยและนวัตกรรมพัฒนาพื้นที่ครอบคลุมครึ่งประเทศ เชื่อเศรษฐกิจท้องถิ่นช่วยเศรษฐกิจระดับชาติได้ ด้าน ผอ.สอวช. เสนอจัดอันดับมหาวิทยาลัยไม่เน้นเพียงเป็นเลิศวิชาการแต่วัดกันที่ใครช่วยชุมชนพ้นยากจนได้มากกว่ากัน

“ดร.เอนก” ชง บพท. ขยายโครงการนำการวิจัยและนวัตกรรมพัฒนาพื้นที่ครอบคลุมครึ่งประเทศ เชื่อเศรษฐกิจท้องถิ่นช่วยเศรษฐกิจระดับชาติได้ ด้าน ผอ.สอวช. เสนอจัดอันดับมหาวิทยาลัยไม่เน้นเพียงเป็นเลิศวิชาการแต่วัดกันที่ใครช่วยชุมชนพ้นยากจนได้มากกว่ากัน

วันที่เผยแพร่ 10 กันยายน 2020 740 Views

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการประชุมวิชาการ Virtual Conference Transforming University for the Future : บทบาทใหม่มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาพื้นที่” ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในช่วงหนึ่ง โดยระบุว่า จากการเยือน จ.พะเยา และ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5 – 7 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยพะเยา เรื่องการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดสู่การสร้างเศรษฐกิจฐานราก โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคีในพื้นที่ระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาคมในพื้นที่ สิ่งที่ประทับใจ คือ ผลลัพธ์และกระบวนการที่ทำให้เราเห็นว่ามีหนทางในการพัฒนาประเทศผ่านท้องถิ่น ชุมชน โดยอิงวัฒนธรรมที่เป็นทุนเดิมของเขา และได้ย้ำถึงภารกิจของกระทรวง อว. ที่มุ่งเน้นทำงานครอบคลุม ทั้งการอุดมศึกษา และศิลปะวิทยาการทุกศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ สังคม มนุษยศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ ดนตรีและบันเทิง

“จากการลงพื้นที่ทำให้ผมได้เห็นอีกโมเดลการพัฒนาประเทศ โดยมีวัฒนธรรมของพื้นที่นั้นๆ เป็นฐาน มีผู้นำชุมชน ชุมชน เป็นคนร่วมทำทั้งการวิจัย และการปฏิบัติการ ผมประทับใจที่ชาวบ้านเข้าใจวัฒนธรรมวิจัยจนอยู่ในจิตวิญญาณ การรับนโยบายจากกระทรวงฯ อาจจะสำคัญ แต่การริเริ่มมาจากฐานรากก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เราเพียงเอาทฤษฎีวิชาการ การวิจัย ไปส่งเสริมให้เขาคิดจากรากฐานเดิมของเขา และสิ่งที่อยากเห็นคือ วิถีชุมชน วัฒนธรรมท้องถิ่น จะไม่เป็นเพียงสมบัติของชุมชนนั้น แต่เป็นความภูมิใจของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ท้องถิ่นนิยมหรือภาคนิยม เราจะไม่แบ่งพวก แบ่งฝ่าย ผมให้โจทย์ บพท. ว่า การดำเนินการนำการวิจัยและนวัตกรรมพัฒนาพื้นที่ ที่ บพท. ทำอยู่แล้ว 18 จังหวัด เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขยายผลไปสักครึ่งหนึ่งของประเทศ คือราว 38 จังหวัด แต่ต้องทำให้ปราณีต ยิ่งช่วงสถานการณ์โควิด – 19 พึ่งพาต่างประเทศไม่ได้ ส่งออกลำบาก เป็นไปได้ไหมที่จะใช้เศรษฐกิจท้องถิ่นมาช่วยเศรษฐกิจชาติ ให้สมกับที่ อว. เป็นกระทรวงแห่งความรู้ แห่งปัญญา และแห่งอนาคต  ไม่ใช่แค่ท่องคำขวัญแต่ด้วยการปฏิบัติ อยากให้ บพท. จัดเสวนาระดมสมอง เอาปราชญ์ชาวบ้านมาเชื่อมโยงกับปัจจุบัน เอาประวัติศาสตร์มารับใช้ปัจจุบันอย่างมีหลักวิชา ไม่ใช่บิดเบือน จะทำให้การวิจัยของเราเป็นวัฒนธรรมวิจัยอย่างแท้จริง นอกจากนี้ผมยังได้ฝากการบ้านกับ ผอ.สอวช. ว่านโยบายด้านการอุดมศึกษา ควรจะต้องมีนโยบายวิจัยเชิงพื้นที่ เพื่อสร้างวัฒนธรรมวิจัยให้คนในชาติโดยเร็ว และทำให้การวิจัยเกิดรายได้กับชุมชน ท้องถิ่น ให้ได้โดยเร็ว” รมว.อว. กล่าว

ดร. กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่า กระทรวง อว. ได้จัดตั้ง บพท. เพื่อรับผิดชอบงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อันเป็นวาระสำคัญในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และในฐานะที่กระทรวง อว. มีมหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษา เป็นโครงสร้างและกลไกความรู้ที่สำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันประเทศ และยังมีทุนเดิมของการขับเคลื่อนงานวิจัย และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ โดยความร่วมมือ ของ สกสว. และ วช. และหน่วย บพท. ได้ผลักดันและส่งเสริมบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ ให้เป็นโครงสร้างความรู้ในการตอบโจทย์ปัญหาสำคัญของการพัฒนาจังหวัด โดยการเสริมพลัง capacity building ของมหาวิทยาลัย ให้มีการจัดตั้งกลไก/หน่วยงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ และร่วมทุนกับมหาวิทยาลัยคนละครึ่ง มอบให้หน่วยบริหารงานวิจัยมหาวิทยาลัยบริหารจัดการทุนด้วยตัวเอง โดยสร้างระบบพี่เลี้ยงด้านการบริหารงานวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่  ให้คำปรึกษาและออกแบบการทำงานการจัดการงานวิจัย เป็นต้น

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ 21 มหาวิทยาลัย ใน 21 จังหวัด จากงบประมาณที่การร่วมทุนทั้งหมด 102 ล้านบาท มีการสนับสนุนโครงการวิจัยตอบโจทย์ปัญหาของพื้นที่ 660 โครงการ นักวิจัยที่ทำงานพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด 1,754 คน เป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ 915 คน นักจัดงานวิจัยที่จะเป็นกำลังสำคัญของมหาวิทยาลัยและพื้นที่ 227 คน

นอกจากนี้ ผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ของมหาวิทยาลัยยังสามารถผลิตผลงานวิชาการในรูปแบบของบทความวิชาการระดับชาติ 395 บทความและระดับนานาชาติ 34 บทความ การยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 116 รายการ นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์จากงานววิจัย จำนวน 186 ชิ้นงาน กลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการวิจัย รวมทั้งสิ้น 445 กลุ่ม จำนวน 15,562 คน รวมมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากโครงการวิจัยในระยะนี้ เป็นเงินทั้งสิ้น 242,699,611 บาท ที่สำคัญโครงการนี้เป็นการทำงานอย่างมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้น เราได้เห็นภาพผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้กับงานวิจัย เห็นภาพการส่งต่อผลงานวิจัยให้กับกลไกจังหวัด เห็นการปรับโครงสร้าง ปรับกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานวิจัยในพื้นที่ และมีการพัฒนานักจัดการงานวิจัยที่มีฝีมืออยู่ในแต่ละ มหาวิทยาลัยเพื่อเป็นพลังให้กับกระทรวง อว. ในระยะยาว

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ประเทศไทย มีสถาบันอุดมศึกษาประมาณ 180 สถาบัน และมีบุคลากรในระดับหัวกะทิของประเทศราว 30,000 คน ด้วยพลังนี้ทำให้ 10 ปีที่ผ่านมาเราจึงมีของในมือซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศเยอะมาก อย่างไรก็ตามการขยายผลเชิงนโยบายเราจะต้องสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับนโยบาย ทั้งด้านการจัดสรรงบประมาณที่ต้องมีความต่อเนื่อง ซึ่งต่อไปต้องเป็นแบบ Multi years คือ พออาจารย์หรือนักวิจัยเห็นโอกาสแล้วสามารถขึ้นโครงการได้ทันที ไม่ต้องรอปฏิทินงบประมาณ ซึ่งต้องอาศัย Strong Policy และรัฐบาลก็ต้องพร้อมที่จะให้แรงจูงใจในการทำงานกับนักวิจัย รวมไปถึงการปลดล็อกสิ่งที่เป็นอุปสรรค อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ซึ่ง สอวช. อยู่ระหว่างรอเสนอต่อสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการพิจารณาปลดล็อกเรื่องนี้ อีกประเด็นสำคัญ คือ การสร้าง Ecosystem ที่เหมาะสมทั้งเรื่องระบบสร้างแรงจูงใจ ทำอย่างไรให้นักวิจัยที่ทำงานเพื่อชุมชนและชุมชนได้รับผลเป็นรูปธรรมได้มีโอกาสก้าวหน้าในตำแหน่งงาน ไม่ใช่ทำแล้วยังอยู่หลังแถว นอกจากนี้ ในเรื่องการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ที่ปกติจะดูเรื่อง Academic Excellence เป็นสำคัญ แต่ต่อไปควรมีการจัดอันดับความเป็นเลิศทางวิชาการควบคู่ไปกับการลงพื้นที่ไปช่วยให้คนที่ยากจนพ้นเส้นความยากจนว่ามหาวิทยาลัยใดทำได้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นอิมแพคสำคัญที่สอดคล้เองกับบริบทของประเทศไทยอย่างแท้จริง

“Ecosystem ที่ต้องอาศัยพลังรัฐช่วยสนับสนุน คือ การยกระดับผลิตภัณฑ์ของชุมชน ให้ขยายไปสู่ระดับอุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นต้องมีโรงงานต้นแบบ เรื่องระบบมาตรฐาน ซึ่งตรงนี้รัฐบาลต้องช่วยใส่เข้าไป ปัจจุบันเรามีอุทยานวิทยาศาสตร์อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งตรงนี้จะกลายเป็น Hub of Innovation ที่จะเข้าไปสนับสนุนได้ระดับหนึ่ง และหลังสถานการณ์โควิด – 19 การที่เราจะพึ่งพาเรื่องการส่งออกเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะฉะนั้น Local Economy จะเป็นกุญแจที่จะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ นอกจากนี้ ท่านรัฐมนตรี ยังได้มอบนโยบายการสร้าง University as a Marketplace ที่นำเอาศักยภาพของมหาวิทยาลัยทั้งเรื่อง ปริมาณบุคลากรที่มีจำนวนมาก มีอำนาจในการซื้อเยอะ และมีพลังทางสมองที่จะช่วยเรื่องเทคโนโลยีก็มาช่วยส่งเสริมบทบาทของมหาวิทยาลัยในมิติใหม่ 3 เรื่อง คือ 1. University as a Consumption มหาวิทยาลัยมีบุคลากร นักศึกษา รวมบัณฑิตที่จบไปแล้วจำนวนมหาศาล เพราะฉะนั้นมีอำนาจซื้อสูงมาก หากนำสินค้าชุมชนมาจำหน่ายเชื่อว่าจะสร้างรายได้เป็นจำนวนมหาศาล 2. University as a Market Platform การสร้างแพลตฟอร์มด้านการตลาดระหว่างมหาวิทยาลัย ตอนนี้อยู่ระหว่างการคิดเรื่องการสนับสนุนให้คนเข้าไปใช้แพลตฟอร์มมากขึ้น เช่น การแจกคูปองเพื่อให้ส่วนลดการซื้อสินค้า 3. University as an Innovator หรือ Innovation Supporter ให้กับทางชุมชน พอมีความต้องการซื้อของในชุมชนมากขึ้น มีความจำเป็นต้องใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ใส่เข้าไป ซึ่งลำพังวิสาหกิจชุมชนทำได้อย่างจำกัด แต่ด้วยศักยภาพและองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยจะช่วยเป็นแรงหนุนเสริมได้ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ซึ่ง สอวช. ก็กำลังดำเนินการตรงนี้อยู่” ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าว

Tags:

เรื่องล่าสุด