messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไทย สู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างไรบ้าง

สอวช. ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไทย สู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างไรบ้าง

วันที่เผยแพร่ 11 กันยายน 2020 744 Views

สอวช. จัดทำการวิจัยเชิงระบบเพื่อออกแบบโมเดลการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และโปรแกรมปักหมุดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

โมเดลการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

การทำงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ “เศรษฐกิจ” หรือมูลค่าที่จะเกิดขึ้น ดังที่เน้นย้ำอยู่ในชื่อของแนวคิดนี้ การขับเคลื่อนต่าง ๆ จึงต้องพิจารณาให้กว้างกว่าการบริหารจัดการของเสียหรือการจัดการขยะ โดยมุ่งทำให้เกิดการสร้างมูลค่าที่เป็นตัวเงินและมูลค่าทางเศรษฐกิจซึ่งจะเกิดจากการออกแบบและปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการทางธุรกิจ กรณีประเทศไทย ปัญหาด้านการบริหารจัดการของสียเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ พฤติกรรมการไม่คัดแยกขยะต้นทางของประชาชนกลายเป็นคอขวดของการนำทรัพยากรมาหมุนวนใช้ใหม่ ทำให้การระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่สามารถเกิดในวงกว้าง  ดังนั้น สำหรับประเทศไทย การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงต้องพิจารณาใน 2 เส้นทางหลัก ที่ต้องทำไปควบคู่กัน คือ

(1) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อแก้ปัญหาเดิมของไทย เช่น ปัญหาขยะมูลฝอยที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ปัญหาประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรต่ำ เป็นต้น แนวทางนี้ แม้จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่สูงมาก แต่จะมีบทบาทสำคัญในการแก้วิกฤตด้านการใช้ทรัพยากรของประเทศ รวมทั้งปรับแนวคิดและพฤติกรรมของภาคส่วนต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการทำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มสูงได้อย่างเต็มรูปแบบ

(2) การขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นโอกาสสำหรับการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะจากการพัฒนาธุรกิจใหม่ที่ช่วยกระตุ้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และการหมุนเวียนของวัสดุ รวมทั้งสร้างการจ้างงานและสังคมสีเขียว

การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของ สอวช. ผ่านโปรแกรมปักหมุดเพื่อสร้างปัจจัยเอื้อสำหรับทุกภาคส่วน

สอวช. วิเคราะห์ระบบนิเวศที่จะส่งเสริมให้ภาคส่วนต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงกิจกรรมและเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งมิตินโยบาย ปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุน และมีส่วนร่วมจากสังคมและประชาชน

การมีระบบการสนับสนุนที่เอื้อและช่วยให้ผู้เล่นสามารถเปลี่ยนรูปแบบการผลิตหรือการบริการให้สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ การเปลี่ยนกระบวนการผลิต การลงทุนเพื่อปรับปรุงสายการผลิต การทำการตลาดของผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นต้น จะทำให้การเปลี่ยนผ่านจากรูปแบบการผลิตแบบเดิมไปสู่การผลิตแบบใหม่ของผู้เล่นเกิดได้โดยไม่เป็นภาระจนเกินไป

ซึ่งจากการวิเคราะห์การดำเนินงานในไทยเพื่อการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน พบยังมีอุปสรรคที่สำคัญซึ่งต้องเร่งปรับปรุงในระยะแรก คือ 1) การขาดกลไกการสร้างขีดความสามารถและกลไกความร่วมมือที่ชัดเจนซึ่งเฉพาะเจาะจงสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน 2) การขาดแผนการวิจัยและนวัตกรรมที่มีทิศทางที่ชัดเจน 3) การปรับกฎระเบียบหรือแรงจูงใจต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากยังขาด model case ที่สามารถสร้างความเข้าใจแก่ผู้กำหนดโยบายระดับต่าง ๆ ได้ 4) การสร้างความตระหนัก/แรงบันดาลใจด้านเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนยังคงเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการอย่างแยกส่วนเป็นส่วนใหญ่และยังไม่เกิดผลในวงกว้าง

สอวช. จึงเสนอให้ดำเนินการผ่านโปรแกรมปักหมุด หรือ Anchor programs ซึ่งจะเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญในการสร้างระบบนิเวศการทำงานที่พร้อมรองรับผู้เล่นในระบบ โดยนอกจากจะช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกให้ผู้เล่นจากทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงเครื่องมือหรือโซลูชั่นส์ต่าง ๆ ที่ต้องการได้แล้ว โปรแกรมปักหมุดยังจะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านเกิดได้ในอัตราเร่ง โดยจะช่วยลดอุปสรรคให้แก่ผู้เล่นรายใหม่ในการเริ่มเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เสริมขีดความสามารถให้แก่ผู้เล่นทุกระดับ และพัฒนาให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้เล่นรายต่าง ๆ ในระบบ

จากผลการวิเคราะห์ช่องว่างในระบบนิเวศด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย  ประกอบกับการหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และการศึกษาแนวปฏิบัติที่ที่ดี (Best practice) จากต่างประเทศ จึงเสนอโปรแกรมปักหมุดที่สำคัญที่ควรดำเนินการในระยะต้นเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับประเทศ จำนวน 4 โปรแกรมปักหมุด

Tags:

เรื่องล่าสุด