ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวในงานเสวนา “กฎหมายนวัตกรรม ครั้งที่ 2” ในหัวข้อ “ประเด็นเร่งด่วนในการผลักดันกฎหมายนวัตกรรมไทย” จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดยเน้นย้ำว่านอกจากกฎหมายนวัตกรรมที่มีความสำคัญแล้ว นโยบายของการให้ทุนสนับสนุนก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน และล่าสุด ในการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ก็มติเห็นชอบในหลักการของการจัดทำหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเพื่อการให้บริการทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อปลดล็อกกระบวนการจัดหาพัสดุเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา การบริการวิชาการ และการสร้างนวัตกรรมที่มีความซับซ้อนในการจัดหามากกว่าการจัดหาพัสดุปกติ
อย่างไรก็ตาม ดร.กิติพงค์ ยอมรับว่า การจะผลักดันกฎหมายนวัตกรรมออกมาให้เร็วนั้น เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยระยะเวลา เนื่องจากมีความซับซ้อนและเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็มีความพยายามผลักดันกฎหมายที่ใกล้จะเป็นรูปธรรม โดยยกตัวอย่างใน 5 เรื่อง คือ (1) การปรับรูปแบบการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม จากเดิมที่เน้นการให้ทุนไปในภาครัฐ เช่น มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย หรือนักวิจัยภาครัฐ ซึ่งก็พบว่ามีข้อดีคือ นักวิจัยได้ทำงาน แต่ก็มีข้อจำกัดตอนทำให้เกิดผลทางเศรษฐกิจที่นักวิจัยเองอาจจะไม่เชี่ยวชาญด้านการตลาดและธุรกิจ โดยภายหลังจากที่ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณาในสภานโยบายฯ แล้ว ได้มีมติเห็นชอบในหลักการเรื่องระเบียบการให้ทุนกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ซึ่งครอบคลุมหน่วยงานให้ทุนในระบบวิจัยได้ทั้งหมด เป็นการช่วยให้หน่วยงานของรัฐสามารถให้ทุนกับภาคเอกชนได้ ซึ่งในการรองรับระเบียบนี้ เรามีหน่วยบริหารและจัดการทุน หรือ พีเอ็มยู 7 แห่ง โดยในบางพีเอ็มยู มุ่งให้ทุนในส่วนที่ทำให้ผลงานวิจัยออกไปประกอบการเชิงธุรกิจอุตสาหกรรม และจัดสรรเงินเป็นก้อนอย่างต่อเนื่อง จนงานวิจัยสำเร็จ เช่น ในช่วงวิกฤตโควิด 19 จะเห็นว่ามีชุดตรวจที่ได้ผลเร็ว ต้นทุนต่ำลงออกมา นั่นก็เป็นทุนสนับสนุนที่ทางพีเอ็มยู ให้กับบริษัทโดยตรงทำให้เกิดผลผลิตเร็ว ไม่ติดขั้นตอนที่ต้องผ่านระบบมหาวิทยาลัย (2) พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่ง ดร.กิติพงค์ บอกว่า เป็น พ.ร.บ. ที่ใช้เวลาผลักดันยาวนานมากกว่า 10 ปี และคาดว่าจะนำเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรีไม่เกินสัปดาห์หน้า โดยผลของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะทำให้หน่วยงานวิจัยและคนทำวิจัย ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ จะสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยเอง ไม่ต้องเป็นเจ้าของร่วมกับหน่วยงานให้ทุนเช่นที่ผ่านมา และสามารถขยายผลในเชิงพาณิชย์ได้ทันที ไม่ต้องรอการเจรจาที่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หากเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับดิจิทัล หรือ ไอที ก็คงล้าสมัยไม่ทันต่อสถานการณ์ (3) เวลาทำวิจัยกับนวัตกรรม จะมีปัญหาของกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา และได้ทำเป็นร่างประกาศเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับงานวิจัยและนวัตกรรมโดยเฉพาะ ได้นำเข้า สภานโยบายฯ เพื่อพิจารณาแล้วตามที่กล่าวในตอนต้น โดยในขั้นตอนต่อไปก็จะประสานกรมบัญชีกลางให้พิจารณาประกาศออกมาว่า ซึ่งจะทำให้คล่องตัวและปลดล็อกหลายอย่าง เช่นการซื้อของจากต่างประเทศ หรือซื้อคุรุภัณฑ์ในชุมชน แต่เดิมหากจบสิ้นการวิจัยก็จะเก็บกลับเพราะเป็นของหลวง แต่ต่อไปสามารถมอบให้กับชุมชนได้ใช้ประโยชน์ต่อไปได้ (4) การส่งเสริมการลงทุนรัฐเอกชนในธุรกิจนวัตกรรม ส่งเสริมมหาวิทยาลัยกับสถาบันวิจัยภาครัฐ โดยใช้กลไก Holding Company (5) Innovation Sandbox กำลังผลักดันออกมาเป็น พ.ร.บ. แต่ยังไม่คืบหน้ามากนักเนื่องจากมีความซับซ้อน ขณะเดียวกันก็จะทำวิจัยไปด้วย โดย สอวช.ได้ทำเรื่อง เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยหลักการคือต้องสามารถหมุนเวียนทรัพยากรของเสียจากโรงงานหนึ่ง เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบอีกโรงงานหนึ่ง แต่หากข้ามเขตกันก็จะติดกฎหมายทำไม่ได้ ซึ่งตรงนี้ต้องใช้ตัวกฎหมายใน Innovation Sandbox จัดการเพื่อปลดล็อกความยุ่งยากดังกล่าว