messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมลงนามเจตนารมณ์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้ความร่วมมือ “หมุนเวียน เปลี่ยนโลก”

สอวช. ร่วมลงนามเจตนารมณ์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้ความร่วมมือ “หมุนเวียน เปลี่ยนโลก”

วันที่เผยแพร่ 26 ตุลาคม 2020 766 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายแสดงเจตนารมณ์ร่วมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้ความร่วมมือ “หมุนเวียน เปลี่ยนโลก” โดยมี ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. ร่วมพิธีลงนามเจตนารมณ์ร่วมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้ความร่วมมือ “หมุนเวียน เปลี่ยนโลก” เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ VROOM ซึ่งมีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมลงนามกว่า 30 แห่ง

ทั้งนี้ เจตนารมณ์ร่วมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้ความร่วมมือ “หมุนเวียน เปลี่ยนโลก” นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นจริง เพื่อบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นระบบและยั่งยืน บนพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจและการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งรวบรวมวัสดุที่ใช้แล้ว เช่น พลาสติก กล่องนม กระดาษ แก้ว อะลูมิเนียม รวมถึงขยะอินทรีย์ในพื้นที่ปทุมวัน ราชประสงค์ เพื่อนำเข้ากระบวนการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ไม่น้อยกว่า 500 ตัน และนำข้อมูลและบทเรียนที่ได้จากการดำเนินการร่วมไปจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และจัดทำหลักปฏิบัติด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy guiding principles) โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มอัตราการรีไซเคิล ลดปริมาณขยะสู่บ่อฝังกลบ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในวงกว้างต่อไป

ด้วยเจตนาที่จะร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนบนพื้นฐานของการบริหารจัดการทรัพยากรและขยะอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ภาคีเครือข่ายภายใต้โครงการดังกล่าวมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันภายใต้บทบาท ทั้งในมิติการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ สร้างความตระหนัก และส่งเสริมเรื่องการจัดการขยะและแนวความคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (รวมถึงการลดการใช้ การใช้ซ้ำ การคัดแยกเพื่อรีไซเคิล เป็นต้น) กับคู่ค้าและผู้บริโภค ส่งเสริมให้สังคมในวงกว้างโดยเฉพาะ “บ้าน-วัด-โรงเรียน” ในพื้นที่ข้างเคียงมีส่วนร่วมในการจัดการขยะอย่างถูกต้อง สร้างกลไกการเก็บคืนวัสดุเข้าสู่ระบบการรีไซเคิล เช่น เปิดจุดรับขยะประเภทต่างๆ (Drop-off point/ Recycle Collection Center) จากคู่ค้าและผู้บริโภค ส่งเสริมกระบวนการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพในแต่ละอาคาร / ศูนย์ที่เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนรวบรวมข้อมูล เช่น ปริมาณและประเภทวัสดุที่สามารถเรียกคืนได้ เพื่อการวิเคราะห์ ประเมินผล และสรุปถอดบทเรียน ร่วมสร้างสรรค์ (Co-create) เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม (Appropriate technology & innovation) ที่เอื้อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และสร้างการรับรู้และส่งเสริมการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ที่เอื้อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มี Circular design หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเศษวัสดุหรือมีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิล โดยมีระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ ศ. 2563 ถึง 31 ธันวาคม พ ศ. 2564

อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลผลิตจากกิจกรรมภายใต้เจตนารมณ์ร่วมนี้ จะทำให้อัตราการนำขยะไปรีไซเคิลเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคเพิ่มพฤติกรรมการใช้ซ้ำ ปริมาณขยะสู่บ่อฝังกลบลดลง นำไปสู่เป้าหมาย “ขยะสู่บ่อฝังกลบเป็นศูนย์”

การได้มาซึ่งข้อมูลขยะ ได้แก่ ปริมาณ คุณภาพ และประเภทวัสดุที่สามารถเรียกคืนได้ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมที่เอื้อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งผลผลิตข้างต้นจะไปสู่การลดลงของปริมาณก๊าซเรือนกระจก เกิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย หลักปฏิบัติด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับภาคเอกชน และบทสรุปโอกาสทางธุรกิจ

Tags:

เรื่องล่าสุด