messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมเปิดงานนิทรรศการและเสวนาทางวิชาการระดับนานาชาติ Design for Society Virtual International Forum 2020

สอวช. ร่วมเปิดงานนิทรรศการและเสวนาทางวิชาการระดับนานาชาติ Design for Society Virtual International Forum 2020

วันที่เผยแพร่ 10 พฤศจิกายน 2020 524 Views

(9 พฤศจิกายน 2563) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการและเสวนาทางวิชาการระดับนานาชาติ Design for Society Virtual International Forum 2020 ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม ชั้น 4 ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับสมาคมนิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาฯ

ดร.กิติพงค์ กล่าวเปิดด้วยแนวคิดที่มองว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จะมีบทบาทสำคัญในการสร้าง Design Culture ในสังคม ซึ่งต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนถึงนโยบายที่ สอวช. ดำเนินการ ซึ่งสถาบันอุดมศึกษา จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปศาสตร์

“ทิศทางของนโยบายที่สำคัญในการพัฒนาด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อววน. หลังจากที่ประเทศไทยประสบกับทั้งสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์ท้าทายต่างๆ ทำให้เรากลับมาคิดถึงการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา ที่เราเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเพื่อการแข่งขันมาก แต่นั่นเป็นคำตอบเพียงส่วนเล็กๆ ของประเทศ แต่สิ่งสำคัญ คือ เรื่องสังคมศาสตร์ มนุษศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ความเป็นอยู่ ความเป็นมนุษย์และศิลปะ สุนทรียภาพ และจิตวิญญาณ โดย สอวช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีการทำงานกับด้านสังคมศาสตร์ มนุษศาสตร์และศิลปศาสตร์ มากขึ้น ซึ่งศาสตร์ด้านดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการจรรโลงจิตใจของคน ยิ่งหากเรียนรู้ตั้งแต่วัยเด็กจะช่วยสร้างบุคลิกภาพบางอย่างที่ช่วยในการสร้างคนได้มากทีเดียว” ดร.กิติพงค์ กล่าว

ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 และรับมือกับการเปลี่ยนแปลง สอวช. ได้ศึกษาและจัดทำข้อเสนอทิศทางการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่สำคัญ 6 ด้าน เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนา อววน. อย่างบูรณาการ โดยมุ่งเน้นการใช้ อววน. เป็นกลไกดำเนินการ ประกอบด้วย 1. เปลี่ยนความยากจนสู่ความมั่งมีอย่างทั่วถึง ด้วย อววน. ต้องยอมรับว่าในประเทศยังมีความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัจจัยนำไปสู่การเกิดปัญหาต่างๆ เราพบว่า มีคนที่อยู่ระดับยอดปิระมิด ประมาณ 13 ล้านคน ที่เหลือประมาณ 50 กว่าล้านคน มีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่มั่นคง การเข้าถึงการศึกษา บริการของรัฐยังไม่ทั่วถึง เรื่องนี้ไม่ได้ดูเฉพาะการขจัดความยากจน แต่ดูเรื่องสิทธิ์ของกลุ่มคนเหล่านี้ในการเข้าถึงที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ในเชิงเศรษฐกิจ จะดูทั้งในส่วนการนำความเจริญหรือวิทยาการกระจายเข้าไปในชุมชนและสามารถไปสร้าง Value Chain ขึ้นมา ดูเรื่องการสร้างขีดความสามารถของประเทศในระดับภูมิภาค การสร้างความสามารถในการบริหารจัดการตนเองในระดับชุมชน และอุดรอยรั่วต่างๆ โดยจากการส่งทีมงานลงพื้นที่ไปศึกษา พบว่า เวลามีการนำเรื่องการพัฒนาลงไประดับฐานราก เรามักจะพบรอยรั่วอันเกิดจากสภาพแวดล้อมของคนในชุมชนที่เผชิญอยู่ การพัฒนาจึงต้องลงไปพร้อมกับการสร้างภูมิคุ้มกันและสร้างความสามารถในการบริหารจัดการตนเองให้กับคนในชุมชน 2. สร้างเสริมคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์และพลังทางสังคมเพื่อการพัฒนาที่สมดุล ด้วย อววน. 3. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งในเรื่องนี้ต้องอาศัยเรื่องการออกแบบเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับ Mindset และการคิด Concept โดยเฉพาะในเรื่องของ Circular Economy ทำอย่างไรให้คนตระหนักเรื่องความยั่งยืน เช่น ออกแบบให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายระดับเยาวชนเพื่อให้เข้าใจเรื่องความยั่งยืน การปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับเด็ก ออกแบบการเรียนการสอนให้เด็กเข้าใจและให้ฝังอยู่ในพฤติกรรมเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน 4. ยกระดับอุตสาหกรรม และวางรากฐานเพื่ออนาคต ด้วย อววน. 5. พลิกโฉมการอุดมศึกษาและพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์ประเทศ และ 6. ปฏิรูประบบ อววน. ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนถึงระบบการจัดการทุนที่แบ่งออกเป็นด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)  ซึ่งในปี 2564 ได้มีการขอกรอบวงเงินงบประมาณ ไว้ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และมีงบประมาณด้านการอุดมศึกษา ที่อยู่ระหว่างการตั้งกองทุนด้านการอุดมศึกษา เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันอุดมศึกษา ที่ไม่คิดถึงผลลัพธ์เฉพาะเรื่องการวิจัยและตีพิมพ์เผยแพร่ แต่คิดตั้งแต่การวิจัยจนถึงการตลาดเพื่อให้สามารถนำงานวิจัยหรือนวัตกรรมออกไปสู่เชิงพาณิชย์จริงๆ

“มีเพียงงบประมาณอย่างเดียวไม่สามารถทำงานได้ สอวช. จึงมีการส่งเสริมการสร้าง Ecosystem ที่อำนวยความสะดวกทั้งในเชิงโครงสร้าง กำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญ การจัดการในรูปแบบใหม่ และการปลดล็อกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่างๆ ซึ่งสิ่งที่ดำเนินการแล้ว คือ การให้ทุนเอกชนได้โดยตรง มีการออกกฎหมาย (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. หรือ Bayh – Dole Act ที่มีสาระสำคัญคือ ให้คนที่เป็นเจ้าของงานวิจัยเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมได้ทำหลักการที่เป็น Guiding Principle เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการและแนวทางการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างนักวิจัยหรือมหาวิทยาลัย ซึ่งก่อนทำการวิจัยต้องมีการพูดคุยข้อตกลงกันก่อน โดยสภามหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ตัดสินใจและออกแบบระเบียบที่เหมาะสมภายใต้หลักการการนำงานวิจัยหรือนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ นอกจากนี้เรื่องสำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ การปลดล็อกกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง งานวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ ซึ่งเสนอสภานโยบายเห็นชอบหลักการแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง” ดร. กิติพงค์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การสร้างนวัตกรรมการศึกษา เป็นอีกประเด็นที่มีความสำคัญ โดยสถาบันอุดมศึกษาสามารถใช้แพลตฟอร์มที่เรียกว่า Sandbox ที่จะช่วยยกเว้นกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างนวัตกรรมได้ โดยต้องผ่านการเห็นชอบของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งการทดลอง หรือทดสอบนวัตกรรมนั้นๆ จะถูกใช้ตามขอบเขตที่กำหนดไว้ เช่น Sandbox สำหรับการเรียนการสอนในหลักสูตร การส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) โดยนักศึกษาสามารถลองสร้างผลผลิตจริงได้ในพื้นที่ทดสอบนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้ลงมือจริงไม่ใช่แค่เพียงเรียนจากหนังสือ เป็นต้น

Tags:

เรื่องล่าสุด