เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2563 ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เข้าร่วมพิธีเปิดตัวอย่างเป็นทางการผ่านระบบออนไลน์ของ The Community of International Science-Industry Parks Forum (CISIP Forum) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดย Great Wall Enterprise Institute (GEI) และ China Association for Science and Technology (CAST) โดยมุ่งหวังที่จะเป็นแพลตฟอร์มระดับมืออาชีพและใช้งานได้จริงสำหรับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงศูนย์บ่มเพาะและองค์กรนวัตกรรมเพื่อสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพสูงและยั่งยืน และร่วมเป็นวิทยากรในงานสัมมนา The 2020 CISIP Forum ซึ่งหัวข้อในปีนี้เน้นการแบ่งปันประสบการณ์ในการพัฒนาศูนย์บ่มเพาะ S&T park และองค์กรนวัตกรรมอื่น ๆ ในการเผชิญกับสถานการณ์ COVID-19 และหารือความร่วมมือระหว่างประเทศหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ได้ให้ความเห็น ว่าอุทยานวิทยาศาสตร์ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของหลายประเทศตามแนวเส้นทาง Belt & Road เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่มุ่งเน้นนวัตกรรม รวมถึงรูปแบบการพัฒนาของอุทยานวิทยาศาสตร์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งบริบทของประเทศกำลังพัฒนาระบบนวัตกรรมยังคงอ่อนแอต่อการเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่น ดังนั้นอุทยานวิทยาศาสตร์จึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางเพื่อให้เกิดการไหลเวียนของความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย และผู้ประกอบการ รวมถึงเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรม ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ได้ให้ความเห็นว่า “การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้สร้างโอกาสทองในการขับเคลื่อนนวัตกรรม” นโยบายที่เข้มแข็งและการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีบทบาทสำคัญเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการส่งเสริมองค์กรต่าง ๆ ให้สร้างนวัตกรรมในช่วงวิกฤต การสร้าง“สังคมอุทยานอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์นานาชาติ” เป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความร่วมมือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอุทยานวิทยาศาสตร์และส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจใหม่
ทั้งนี้ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนา Route No.1 Innovation Economic Corridor ซึ่งเป็นข้อริเริ่มใหม่ของประเทศไทย ซในการสร้างระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรมโดยอาศัยโอกาสจากการมีเส้นทางคมนาคมจากประเทศไทยและภูมิภาคเชื่อมต่อตามแนว Belt & Road และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ล้านช้าง-แม่โขง โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเป็น Innovation Hub ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมตามแนวระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การเกิดขั้วความเจริญของภูมิภาคต่อไป