messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. จับมือ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ จัดงานเสวนาวิชาการ เศรษฐกิจหมุนเวียน: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง เชิญภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน ถกประเด็น “เศรษฐกิจหมุนเวียนกับการจัดการขยะอย่างยั่งยืน: คนละเรื่องเดียวกัน?”

สอวช. จับมือ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ จัดงานเสวนาวิชาการ เศรษฐกิจหมุนเวียน: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง เชิญภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน ถกประเด็น “เศรษฐกิจหมุนเวียนกับการจัดการขยะอย่างยั่งยืน: คนละเรื่องเดียวกัน?”

วันที่เผยแพร่ 17 ธันวาคม 2020 818 Views

(16 ธันวาคม 2563) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จับมือ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาวิชาการ เศรษฐกิจหมุนเวียน: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “เศรษฐกิจหมุนเวียนกับการจัดการขยะอย่างยั่งยืน: คนละเรื่องเดียวกัน?” ณ ห้องประชุม Executive 1-2 โรงแรมปทุมวัน ปริ้นเซส โดยเชิญวิทยาการทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ร่วมแลกเปลี่ยน

ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า งานเสวนาวิชาการ เศรษฐกิจหมุนเวียน: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “เศรษฐกิจหมุนเวียนกับการจัดการขยะอย่างยั่งยืน: คนละเรื่องเดียวกัน?” จัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy (CE) ซึ่งหลายคนยังคิดว่าเป็นเพียงเรื่องการจัดการขยะซึ่งไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะเศรษฐกิจหมุนเวียนมีภาพกว้างกว่า และมีกลไกที่ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องรีไซเคิลหรือการจัดการขยะ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย BCG Economy หรือ Bio – Circular – Green Economy ที่ทางกระทรวง อว. ผลักดัน และพยายามหาเครื่องมือและกลไกในการขับเคลื่อนให้โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งการพัฒนานโยบายและเป้าหมายการขับเคลื่อนผ่านการให้ทุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อผลักดันให้เกิดงานวิจัยและการทดสอบนวัตกรรมที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ โครงการ CE Champions ที่สนับสนุนข้อริเริ่มเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีผลกระทบสูงของภาคเอกชน โครงการ CE Platforms พัฒนา Solution Platform เพื่อรองรับผู้เล่นกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลายโครงการ CE R&D ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม งานวิจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในการใช้ทรัพยากร และโครงการ CE Citizen ที่เน้นการสร้างคนและตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มองว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ใช่บทบาทของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่คือการร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อให้แนวคิดนี้เดินไปข้างหน้าและเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในสังคมไทย

นางสาวอรนุช รัตนะ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และการงบประมาณองค์กร สอวช. เปิดเผยว่า เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน อว. ไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน โดยหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน ประกอบด้วย การลดการใช้วัตถุดิบใหม่ การคงคุณค่าผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและวัสดุ และการลดผลกระทบทางลบให้เหลือน้อยที่สุด การจัดการขยะด้วยการรีไซเคิลเป็นเพียงหนึ่งในวิถีที่จะช่วยปิดช่องว่างในการลดการใช้วัตถุดิบได้ และต้องใช้พลังงานค่อนข้างมากตั้งแต่การรวบรวมขยะ การขนส่ง เข้าโรงงานรีไซเคิล

“เศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ใช่แค่เรื่องการจัดการขยะหรือการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการคงคุณค่าผลิตภัณฑ์อย่างเดียว แต่มีเรื่องของเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวด้วย เราจึงต้องมองถึงเรื่องการเพิ่มมูลค่าควบคู่กันไป โดย สอวช. ได้ศึกษาและวิเคราะห์ระบบนิเวศ (Eco System) ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย พร้อมวิเคราะห์ช่องว่างการพัฒนา โดยแบ่งเป็น ด้านนโยบาย ที่มองว่าต้องเพิ่มในเรื่องการวางเป้าหมายและทิศทางเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับประเทศให้ชัดเจน ด้านโครงสร้างของปัจจัยเอื้อ ที่ยังขาดกลไกการสร้างขีดความสามารถ กลไกสร้างความร่วมมือที่เฉพาะกับเศรษฐกิจหมุนเวียน แผนวิจัยและพัฒนาที่มีทิศทางชัดเจน การปลดล็อกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ซึ่ง สอวช. อยู่ระหว่างผลักดันให้เกิดงานวิจัยหรือการทดสอบนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ส่วนด้านประชาชน ยังต้องมีการให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อเนื่อง” นางสาวอรนุช กล่าว

ด้าน ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้ากลุ่มวิจัย Circular Economy for Waste-free Thailand (CEWT) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มองว่าประเทศไทยทำเรื่องการสร้างความตระหนัก สร้างเรื่องจิตสำนึกมาพอควรแล้ว สิ่งที่ยังต้องเติมเต็มคือ การทำนโยบายและโครงสร้างของปัจจัยเอื้อ ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในส่วนเรื่องของแนวคิด “ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต” (Extended Producer Responsibility: EPR) นั้นชัดเจนว่าผู้ผลิตเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ เนื่องจากผู้ผลิตอยู่ในห่วงโซ่อุปทานในตำแหน่งที่ต่างจากผู้เล่นอื่นๆ เพราะเป็นผู้มีอิทธิผลอย่างมากในการออกแบบระบบผลิตภัณฑ์ เพราะหากจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคงไม่ใช่แค่ปรับอะไรนิดหน่อยแล้วแก้ได้ แต่ต้องปรับที่ระบบผลิตภัณฑ์ให้มีฟังก์ชั่นมากขึ้น

นอกจากนี้ บนเวทียังได้ถกถึงประเด็นการขับเคลื่อนให้เกิด CE รวมถึง EPR ว่า ควรมีการถอดบทเรียนเพื่อหา กุญแจแห่งความสำเร็จที่เป็นโมเดลที่เหมาะสมกับประเทศไทยเอง ไม่ใช่การนำโมเดลจากประเทศอื่นมาใช้ และยังมองว่ายังมีความน่าดีใจ คือ ภาคเอกชน และผู้ผลิตไทยมีความตื่นตัว มีการประกาศเจตนารมย์ชัดเจนมากขึ้น ทำให้ในส่วนของ EPR ได้รับการผลักดันไปในทางที่ดีจากความชัดเจนของนโยบายผู้ผลิต และอยากเห็นการดำเนินงานลักษณะของผู้ผลิตในผู้ผลิตรายย่อยๆ ด้วย

Tags:

เรื่องล่าสุด