messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » จะเติบโตต้องกล้าเสี่ยง!! รุ่นพี่สตาร์ทอัพให้กำลังใจรุ่นน้อง “เราทำได้” ไปให้ถึงโมเมนท์ “อ๋อ” ยอมรับ และตกผลึก ขณะที่ สสวท. พร้อมพัฒนาแนวทางการปลดล็อคนักเรียนทุนให้ออกมาสร้าง Deep Tech Startup ได้

จะเติบโตต้องกล้าเสี่ยง!! รุ่นพี่สตาร์ทอัพให้กำลังใจรุ่นน้อง “เราทำได้” ไปให้ถึงโมเมนท์ “อ๋อ” ยอมรับ และตกผลึก ขณะที่ สสวท. พร้อมพัฒนาแนวทางการปลดล็อคนักเรียนทุนให้ออกมาสร้าง Deep Tech Startup ได้

วันที่เผยแพร่ 4 มกราคม 2021 587 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดการประชุมผ่านระบบออนไลน์ตามนโยบายป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เรื่อง “Deep Tech Startup Networking Forum : นักวิจัยสู่การสร้างสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือที่เรารู้จักในชื่อว่า Deep Tech Startup โดยมีผู้ประกอบการ นักวิจัย หน่วยงานสนับสนุนสตาร์ทอัพ และผู้สนใจในธุรกิจ Deep Tech Startup ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กว่า 60 คน  โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ 4 ท่านได้แก่ คุณนัตวิไล อุทุมพฤกษ์พร ผู้ก่อตั้งบริษัท Trik หญิงไทยผู้ซึ่งติดอันดับ Forbes 30 Under 30 ซึ่งจัดลำดับโดยนิตยสาร Forbes ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพสัญชาติไทย บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผู้วิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จากใบพืชที่แรกในประเทศไทย รศ.ดร เจษฎา วรรณสินธุ์ เจ้าของรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ (2552) และรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2557 และผู้ก่อตั้งบริษัท GISSCO และ ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หน่วยงานสนับสนุนทุน (พสวท.) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคลากรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

คุณนัตวิไล กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจสตาร์ทอัพของตัวเองว่า เริ่มจากความไม่รู้ และพอได้มีโอกาสไปเรียนปริญญาโทก็เรียนด้านโกลด์บอล ดีไซน์ เอนจิเนียริ่ง มีการเปิดโอกาสให้ทุกคนเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาคิดมาต่อยอดเป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเป็นโปรเจ็คจบของตัวเอง เราจึงมีเทคโนโลยีอยู่ในมือ แต่ไม่มีเงินทุน ต้องไปนำเสนอกับผู้ที่จะสามารถให้ทุนเราได้ ปรากฏว่ามีคนมาให้ทุนแต่ไม่ได้มากนัก แต่ด้วยความที่เรายังใหม่จึงเป็นความท้าทาย เพราะต้องเลือกระหว่างการกลับมาใช้ทุนที่เมืองไทย และในช่วงนั้นมีบริษัทเสนอให้ไปทำงาน สุดท้ายเราเลือกที่จะเดินบนเส้นทางสตาร์ทอัพที่ไม่มีโอกาสรู้เลยว่ามันจะไปรอดไหม โชคดีที่มีครอบครัวสนับสนุนให้เราเดินในเส้นทางใหม่มากในยุคเมื่อ 4-5 ปีก่อน ถือว่าเป็นการเริ่มต้นจากศูนย์

“แต่เราก็เจอปัญหาว่า แม้เราจะมีเทคโนโลยีในมือ แต่ในสมัยนั้นคนที่บังคับโดรนได้ต้องมีทักษะและความชำนาญมาก ไม่เหมือนในปัจจุบันที่กดปุ่มสั่งการได้ เมื่อเรานำเทคโนโลยีไปเสนอก็เหมือนว่าเราจะไปแย่งงานและเขาอาจจะตกงานได้ มันเลยมาถึงจุดที่เราอ๋อ และยอมรับความจริงเพื่อตกผลึกความคิดว่า ถ้าคนชอบแต่ไม่อยากใช้ เราก็ไม่สามารถไปต่อได้ จึงคิดว่าถ้าเราเอาเทคโนโลยีมาวิเคราะห์ภาพจากโดรนแบบสามมิติ เป็นการช่วยงานเขาให้ดีขึ้น ก็เลยไปนำเสนอปรากฎว่าลูกค้าชอบ สำคัญคือเราต้องทดลองเสนอราคา ทดลองขายเริ่มจากบาทเดียวก็ได้ ถ้าลูกค้าชอบร้อยบาทเขาก็ซื้อ แต่ถ้าเขาไม่ชอบบาทเดียวเขาก็ไม่ซื้อ ถ้าใครคิดว่ามีไอเดียดีๆ อยากให้กล้าลองทำเป็นสตาร์ทอัพดูสักครั้ง แต่อยากให้กำหนดเวลาให้ตัวเองอย่างชัดเจน ถ้าสองสามปีแล้วมันไปต่อไม่ได้ ก็อย่าลากยาวขอให้ปรับหรือเปลี่ยน ” ผู้ก่อตั้งบริษัท Trik กล่าว

อย่างไรก็ตาม คุณนัตวิไล ระบุว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ทั้งบุคลากร หน่วยงานให้ทุน แต่ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างสตาร์ทอัพของอังกฤษ รวมถึงช่องทางในการจัดจำหน่ายมีพร้อมกว่าไทย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีเว็บไซด์กลางที่สามารถนัดพบกันได้ระหว่างผู้ให้ทุนกับสตาร์ทอัพ ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีมากต่อทิศทางสตาร์ทอัพในประเทศไทย 

ดร.สุธีรา ผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพสัญชาติไทย บริษัท ใบยา กล่าวว่า ตัวเองมีพื้นฐานเป็นอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงแม้จะมาทำบริษัทใบยาแต่ก็ยังสอนหนังสืออยู่ และยังเป็นที่ปรึกษาในภาคอุตสาหกรรมในการวางกลยุทธ์ให้คนไข้เข้าถึงยาได้ ซึ่งทำให้เรารู้ว่าประเทศไทยไม่สามารถผลิตยาและวัคซีนได้ตั้งแต่ต้นน้ำ พอทางมหาวิทยาลัยฯ มีนโยบายนำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง และให้อาจารย์ทำสตาร์ทอัพได้เราจึงสนใจทำร่วมกับ ดร.วรัญญู พูลเจริญ อาจารย์จากคณะเดียวกัน เราเริ่มทำกันมาได้ 3 ปีแล้ว พอมีสถานการณ์โควิด-19 เราจึงคิดค้นวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 และแอนติบอดี้ยับยั้งเชื้อไวรัสจากใบยาสูบ โดยขณะนี้ได้ระดมทุนจากประชาชนเพื่อสร้างโรงงานในการผลิตมูลค่า 500 ล้านบาท ซึ่งโรงงานดังกล่าวมีความสำคัญและสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนให้กับประเทศจากในอดีตที่ไม่เคยมี อีกทั้งประชาชนก็จะได้ใช้วัคซีนในราคาที่ถูก

“อยากให้น้อง ๆ ที่เดินเข้าสู่เส้นทางสตาร์ทอัพ กล้าที่จะเปิดใจและลองทำ ไม่สำเร็จไม่เป็นไรอย่างน้อยก็ได้เดิน” ดร.สุธีรา กล่าว

ด้าน ดร.เจษฎา วรรณสิน กล่าวว่า การที่เป็นอาจารย์ซึ่งติดทุนจากการเป็นนักเรียนทุนมาก่อนแล้วจะเริ่มทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยระบบไม่เอื้ออำนวย เราก่อตั้ง GISSCO ที่เริ่มจากศูนย์และทุบหม้อข้าวตัวเอง เป็นหนี้เป็นสิน กว่าจะผ่านแต่ละด่านและยืนได้ ไม่ใช่นักวิจัย หรือนักเรียนทุนอยากทำแล้วทำได้สำเร็จทั้งหมด ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละคนด้วย เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายและมีอุปสรรคและความเสี่ยงหลายอย่าง ปัจจุบันเป็นที่น่ายินดีว่าหลายมหาวิทยาลัยเริ่มมีการเปิดโอกาสให้อาจารย์ไปทำสตาร์ทอัพได้และมีหน่วยงานที่ให้ทุนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นต้นทางที่ส่งผลกระทบเชิงบวกให้กับ Deep Tech Startup สูง

“ผมยึดหลัก 4 P ในการทำสตาร์ทอัพเพื่อเป็นแนวทางให้น้อง คือ 1. Principle คือ ต้องการหลักการที่ชัดเจน 2. Passion เราต้องมีแรงผลักดันในการทำเราต้องรู้ว่าการทำสตาร์ทอัพไม่ง่าย 3. Perseverance คือต้องสู้ไม่ถอย มีความมุ่งมั่น และ 4. Pain Resistance ต้องอดทนต่อความเจ็บปวดระหว่างทาง ต้องมีแรงต้านทาน ต้องคิดบวก ค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ ปรับ เพื่อไปสู่ความสำเร็จ” ดร.เจษฎา กล่าว

ดร.ชูกิจ ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวว่า สสวท. เป็นหน่วยงานให้ทุนนักเรียนเพื่อไปศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และกลับมาทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และเป็นหน่วยงานแรกที่กำลังจะเปิดโอกาสให้นักเรียนทุนไปทำงานกับภาคเอกชนได้ โดยใช้ทุนในรูปแบบของตัวเงิน (In-cash) หรือรูปแบบความช่วยเหลือ (In kind) แทน ถึงแม้ว่าระยะแรกจะมีแรงต้านเพราะคิดว่าทุนที่สนับสนุนเป็นภาษีของประชาชน จึงได้ทำการเริ่มปลดล็อคด้วยการนำร่องส่งนักวิจัยไปทำงานให้กับรัฐวิสาหกิจหรือองค์การมหาชน ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบปรับรูปแบบการตอบแทนทุนที่เปิดโอกาสให้นักวิจัย นักเรียนทุน สามารถทำงานกับภาคเอกชนได้ โดยให้นับเป็นเวลาใช้ทุน ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ ที่ช่วยผลักดันให้นักวิจัยสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล

Deep Tech Startup Networking Forum เป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างเครือข่ายสำหรับผู้ประกอบการ Deep Tech Startup และเป็นเวทีให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสเสนอแนะแนวทางปรับปรุงมาตรการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพของภาครัฐ ซึ่งทาง สอวช. ได้ริเริ่มขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางในการพัฒนานโยบายและสร้าง Ecosystem ที่เหมาะสมในการสนับสนุนธุรกิจ Deep Tech Startup ของประเทศไทย

Tags:

เรื่องล่าสุด