ACES ย่อมาจาก Autonomous, Connected, Electric, and Shared Vehicles หรือระบบการขับขี่แบบอัตโนมัติ การเชื่อมต่อ การปรับให้เป็นระบบไฟฟ้า และการแบ่งปันกันใช้งาน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะเข้ามาเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์รูปแบบเดิม
กระแสแห่งการเปลี่ยนผ่านที่เห็นได้ชัดเจนในต่างประเทศ คือยานยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาถูกลงมาใกล้เคียงกับยานยนต์น้ำมัน เริ่มได้รับความนิยมสูงขึ้น จากค่าใช้จ่ายที่ถูกลง ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ และยังช่วยลดโลกร้อน อีกกระแสที่กำลังก่อตัวและจะเข้ามามีบทบาทสำคัญกับอุตสาหกรรมยานยนต์ คือระบบขับขี่แบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีขั้นสูง ที่เป็นหัวใจหลักของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ที่จะสร้างผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมเดิมหากปรับตัวไม่ทันภายใน 5 ปีหลังจากนี้
เพื่อเป็นการตอบรับและสนับสนุนเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ สอวช. ได้ประสานรับข้อมูลความต้องการจากภาคอุตสาหกรรม เชื่อมโยงกับภาคการวิจัยและภาคการศึกษา สนับสนุนด้านนโยบายด้านการพัฒนา เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน กำลังคน ให้มีทักษะสหวิทยาการ การพัฒนาโมเดลธุรกิจแบบใหม่ เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาด
ในเชิงนโยบายได้จัดทำ “สมุดปกขาวการส่งเสริมและพัฒนายานยนต์สมัยใหม่” (กันยายน 2563) เสนอกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลให้ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องพร้อมรับมือกับการพลิกโฉมของเทคโนโลยี เช่น การประกาศให้ ปี ค.ศ. 2035 (พ.ศ. 2578) ยานยนต์ใหม่ควรเป็นยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle : ZEV) ในสัดส่วน 100% ของรถที่มีการจดทะเบียนใหม่ในประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมพลังงาน มีเวลาเตรียมการปรับตัว
สอวช. เชื่อมั่นว่าเมื่อนโยบายมีความชัดเจน จะก่อให้เกิดการส่งเสริมด้านการปรับตัว การพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยี (Technology Localization) สนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนา เกิดการทดลองการผลิตและใช้งานอย่างแพร่หลาย ช่วยแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ และเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน
นับว่าเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องการการแก้ไข และสร้างการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมใหม่อย่างก้าวกระโดด นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศ เพื่อหลุดพ้นจากกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง
แนวทางในการส่งเสริม ACES ของ สอวช.
- กำหนดนโยบายสนับสนุนไปสู่การเป็นผู้ผลิต Tier 1 และติดอันดับ Top 10 ของโลกด้าน ZEV and ACES เป็นผู้นำด้านการออกแบบการผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์
- สนับสนุนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่าน (Transition Strategy) พัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการในประเทศ โดยการสร้างตลาดในประเทศ ให้เกิดความต้องการขนาดใหญ่และเฉพาะทาง สนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ต่อยอดสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและชิ้นส่วนที่มีมูลค่าสูง
- สร้างตลาดและสนับสนุนให้เกิดการเติบโตของบริษัท Startup และปลดล็อกกลไกจัดตั้ง Holding Company โดยการกำหนดนโยบายส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐและเอกชนในธุรกิจนวัตกรรม เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ
- เร่งพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพเพียงพอต่อความต้องการ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการทำวิจัยและพัฒนา การพัฒนาฐานข้อมูลและมาตรฐานข้อบังคับ กฎระเบียบและกฎหมาย เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว