messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ภาคเอกชน เน้นย้ำ “มองขยะเป็นวัตถุดิบ” สร้างมูลค่าทางธุรกิจ หนุนใช้กฎหมายและการให้แรงจูงใจแก้ไขปัญหาขยะ ส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน

ภาคเอกชน เน้นย้ำ “มองขยะเป็นวัตถุดิบ” สร้างมูลค่าทางธุรกิจ หนุนใช้กฎหมายและการให้แรงจูงใจแก้ไขปัญหาขยะ ส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน

วันที่เผยแพร่ 5 มีนาคม 2021 1184 Views

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาวิชาการ เศรษฐกิจหมุนเวียน: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “การพัฒนากลไกการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วที่เหมาะสมกับประเทศไทย” โดยมี ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวเปิดงาน และได้รับเกียรติจากบริษัทเอกชนชั้นนำ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการเสวนา ประกอบด้วย นายปฏิญญา ศิลสุภดล Market Sustainability Director, Tetra Pak (Thailand) Ltd., นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว ที่ปรึกษาอาวุโส คณะเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ และกรรมการ บริษัท แวลู ครีเอชั่น จำกัด สายงานพัฒนาความยั่งยืน, นางสาวพรรรัตน์ เพชรภักดี ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงตัวแทนภาครัฐ นางสาวพรพิมล เจริญส่ง ผู้อำนวยการกองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ ร่วมแลกเปลี่ยน

ดร.กาญจนา กล่าวถึง การดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน หลังจาก BCG ถูกกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG model โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน และมี ผู้อำนวยการ สอวช. เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ

“สอวช. ซึ่งมีภารกิจในการพัฒนาข้อริเริ่มและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน BCG สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้ศึกษาปัจจัยและนโยบายเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย พบว่าประเทศไทยยังขาดระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในหลายส่วน จึงได้จัดทำ (ร่าง) สมุดปกขาวการพัฒนาระบบเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน: โปรแกรมปักหมุดเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมธุรกิจและเทคโนโลยี ประกอบด้วย 1. CE Champion สนับสนุนโครงการริเริ่มที่ส่งผลกระทบสูงในห่วงโซ่คุณค่า 2. CE Platform พัฒนา Solution Platform เพื่อรองรับผู้เล่นกลุ่มต่าง ๆ ที่หลากหลาย 3. CE R&D ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และ 4. CE Citizen สร้างคนและตลาด CE สำหรับงานเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ เพื่อสร้างเครือข่ายนักวิชาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ต่อเนื่องจากครั้งแรกที่ให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนเบื้องต้น และครั้งนี้เป็นการเสวนาเพื่อให้เห็นกลไกส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนจากภาคเอกชนในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับนโยบายบรรจุภัณฑ์ และมองไปถึงเป้าหมายการส่งเสริม การพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์ในอนาคต” ดร.กาญจนา กล่าว

ด้าน ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยยังขาดระบบการจัดการปัญหาขยะที่ดี ทำให้มีขยะหลงเหลือตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการเติบโตของการสั่งอาหารออนไลน์ที่ยิ่งทำให้เกิดปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์เพิ่มปริมาณสูงขึ้น โดยคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ขยะพลาสติกจากการสั่งอาหารออนไลน์อาจพุ่งสูงขึ้นถึงจำนวน 6 พันล้านชิ้นต่อปี ในขณะที่กฎหมายและแผนจัดการขยะชุมชนของไทย เป็นลักษณะ Linear Economy “เก็บ ขน กำจัด” โดยจะเน้นไปที่หน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ไม่มีการกำหนดหน้าที่ของทุกภาคส่วน ทำให้การจัดการปัญหายังไม่ครอบคลุมทั้งระบบ ขาดระบบคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง และยังไม่มีพระราชบัญญัติการจัดการขยะหรือการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะ ทำให้ไม่มีสภาพบังคับให้ประชาชนต้องปฏิบัติตาม

“แนวคิดพื้นฐานในการจัดการขยะมีหลากหลายแนวทางที่ประเทศไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ เช่น หลักการจัดการขยะอย่างยั่งยืน 3Rs, Circular Economy, Polluter Pay Principle ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย “เราทุกคนก่อให้เกิดขยะ    ต้องร่วมรับผิดชอบ”, Extended Producer Responsibility: EPR แนวคิดที่ให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้า มีความรับผิดชอบต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมของสินค้าตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (product life-cycle) เป็นต้น” ดร.สุจิตรา กล่าว

ส่วนผู้ร่วมเสวนาภาคเอกชนในภาพรวมได้ให้ความเห็นว่า ปัญหาขยะของไทยยังไม่มีเครื่องมือการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งที่การจัดการปัญหาขยะมีความเกี่ยวโยงกับระบบเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ควรต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เริ่มจากการมองว่าขยะเป็นวัตถุดิบ เป็นทรัพยากร ที่สามารถนำไปสร้างมูลค่าให้กับภาคธุรกิจได้ โดยหัวใจสำคัญคือโรงงานหรือผู้ประกอบการรีไซเคิลที่ต้องเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งในปัจจุบันภาคเอกชนหลายแห่งได้มีการขับเคลื่อนดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านการดำเนินงานโดยหลักการ 3Rs เพื่อช่วยในการจัดการปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์ไปบ้างแล้ว และมีการกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายของแต่ละบริษัทไว้อย่างชัดเจน เช่น การใช้วัตถุดิบผลิตบรรจุภัณฑ์จาก Bio-Based, ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลได้ 100 % และลดการผลิตพลาสติกใหม่ 35% ภายในปี 2025, ลดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกและทดแทนด้วยบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นต้น อีกทั้งตัวแทนภาคเอกชนยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมาย ข้อบังคับที่ชัดเจนในการแยกขยะ หรือการนำบรรจุภัณฑ์ไปรีไซเคิล จึงเห็นว่าควรมีการจัดตั้งองค์กรเฉพาะเพื่อจัดการบรรจุภัณฑ์แต่ละประเภทให้เป็นระบบ ซึ่งต้องเป็นองค์กรที่มีองค์ความรู้ในการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความยั่งยืนในการดำเนินการ รวมถึงมีช่องทางในการสื่อสารผลการดำเนินงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รับรู้

ด้านผู้อำนวยการกองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลได้มีการจัดทำโรดแมป การจัดการขยะพลาสติก ปี 2561 – 2573 โดยมีเป้าหมายที่ 1 คือการลด และเลิกใช้พลาสติกเป้าหมายด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป้าหมายที่ 2 คือการนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 ในส่วนการดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ภาครัฐ มีหน้าที่กำหนดนโยบาย เป้าหมาย แรงจูงใจผู้ประกอบการผลิต/รีไซเคิล ให้ออกแบบผลิตสินค้าที่ง่ายต่อการนำกลับมาใช้ประโยชน์ (Eco-design) จัดทำระบบการเรียกคืน และรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ซึ่งผู้บริโภค ควรเลือกใช้สินค้า/บรรจุภัณฑ์ รวมถึงให้ความร่วมมือคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ผู้เก็บรวบรวม/คัดแยก รับผิดชอบการคัดแยกและเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว เพื่อส่งยังโรงงานรีไซเคิล

การดำเนินการนอกจากเป้าหมายแล้ว ต้องมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการทำงานได้ อาทิ มาตรการจูงใจทางภาษี คือการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการที่ใช้วัสดุรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์ โดยเป็นวัสดุใช้แล้วภายในประเทศ, ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม/Eco-design, ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่จัดทำระบบการเรียกคืนบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว, ส่งเสริมการลงทุนโรงงานรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ส่วนมาตรการจูงใจอื่นๆ คือการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ เพื่อส่งเสริมสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเรื่องการจัดระบบการเรียกคืนบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว, ให้รางวัล/ประกาศเกียรติคุณกับผู้ประกอบการที่จัดระบบเรียกคืนบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว เป็นต้น

ด้านการพัฒนากฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ภาครัฐจะใช้การขับเคลื่อนผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยหลักการ 3Rs มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR)/ ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR), จัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว และขยะประเภทอื่นๆ ตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Approach), มีองค์กรกลางในการกำกับดูแล รวมถึงมีระบบการขึ้นทะเบียนและการรายงานผล ซึ่งในการบริหารจัดการปัญหาให้บรรลุผลสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากเอกชนเช่นเดียวกัน ในการสนับสนุนด้านข้อมูลการผลิต และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนและรอบด้าน ส่งเสริมให้การปฏิบัติงานของรัฐมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Tags:

เรื่องล่าสุด