messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ครม. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา ปี 65 จำนวน 117,880 ลบ. เน้นพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ BCG – เพิ่มขีดความสามารถกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน – พัฒนาความเป็นเลิศสถาบันอุดมศึกษา ส่งเสริมบทบาทมหาวิทยาลัยไทยในเวทีระดับนานาชาติ

ครม. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา ปี 65 จำนวน 117,880 ลบ. เน้นพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ BCG – เพิ่มขีดความสามารถกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน – พัฒนาความเป็นเลิศสถาบันอุดมศึกษา ส่งเสริมบทบาทมหาวิทยาลัยไทยในเวทีระดับนานาชาติ

วันที่เผยแพร่ 9 มีนาคม 2021 724 Views

(9 มีนาคม 2564) ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยในฐานะผู้ช่วยเลขานุการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 117,880 ล้านบาท ตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เสนอขออนุมัติ  โดยกรอบวงเงินงบประมาณดังกล่าว ประกอบด้วย งบบุคลากร จำนวน 70,427 ล้านบาท (ร้อยละ 60) งบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่น จำนวน 38,653 ล้านบาท (ร้อยละ 33) และงบประมาณเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษา และการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ จำนวน 8,800 ล้านบาท (ร้อยละ 7)  

ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เนื่องจากเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้และสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงเป็นแหล่งสำคัญในการสร้างและพัฒนากำลังคนผ่านการผลิตบัณฑิต  (Degree Program) และการพัฒนาทักษะแรงงาน (Non-degree Program)  ผลงานสำคัญในปี 2563 ของสถาบันอุดมศึกษาในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ  เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์ม Future Skill x New Career Thailand โดยการจัดหลักสูตรระยะสั้น (Non-degree Program) เพื่อพัฒนาทักษะและความรู้สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต และกลุ่มอุตสาหกรรมรากฐานของประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วหลังจากวิกฤตการณ์โควิด-19   การสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตและบริการตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย  การที่สถาบันอุดมศึกษามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบาย BCG เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสู่ความยั่งยืนโดยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการพัฒนาระดับพื้นที่ในด้านต่าง ๆ   

สำหรับแผนงานและเป้าหมาย มุ่งเน้นการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตามนโยบายรัฐบาล และแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564-2570 ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ  โดยมีแผนงานสำคัญ ได้แก่

  1. การผลิตบัณฑิตและกำลังแรงงาน ประกอบด้วย การผลิตบัณฑิตในระบบอุดมศึกษา (Degree Program) จำนวน 1,423,653 คน และการผลิตกำลังแรงงานในหลักสูตรระยะสั้น (Non-degree Program)  จำนวน 50,000 คน โดยมีจุดมุ่งเน้นในการพัฒนา ดังนี้ ก) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG  โดยจะพัฒนา กลุ่มสตาร์ทอัพ (Startup) กลุ่มผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม  (Innovation-Driven Enterprise) กลุ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) กลุ่มผู้ให้บริการมูลค่าสูง (High Value Service Provider) กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology Developer) และกลุ่มผู้ประกอบการสร้างสรรค์ (Creative Entrepreneur) รวมถึงบุคลากรวิชาชีพเฉพาะด้านที่จำเป็นต่อโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ เช่น นักนวัตกรรมดิจิทัล  ข) รองรับการระบาดของโรควิด-19 เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งรวมถึงการพัฒนาทักษะการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ และ ค) รองรับโครงการ Eastern Economic Corridor (EEC) เช่น ระบบราง  โลจิสติกส์ และการบิน
  2. การพลิกโฉมระบบการอุดมศึกษาของประเทศไทย (Reinventing University System) เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาศักยภาพตามความเชี่ยวชาญและผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ ผ่าน 5 กลไก ดังนี้ ก) การจัดการเรียนการสอน โดยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning) ตัวอย่างผลผลิต เช่น แพลตฟอร์ม/ระบบการบริหารจัดการหลักสูตร 40 แพลตฟอร์ม/ระบบ ข) การพัฒนาและแสวงหาบุคลากรที่เน้นสมรรถนะ โดยพัฒนาอาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรตอบสนองการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 รวมถึงการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาร่วมงานกับสถาบันอุดมศึกษาทั้งแบบเต็มเวลาหรือไม่เต็มเวลา ตัวอย่างผลผลิต เช่น คณาจารย์ นักวิจัยและบุคลากรมีความเชี่ยวชาญและทักษะเฉพาะทางระดับสูง จำนวน 2,500 คน ค) ความเป็นนานาชาติ โดยสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ตัวอย่างผลผลิต เช่น ความร่วมมือกับสถาบันพันธมิตรระดับนานาชาติ 500 คน  นักศึกษาต่างประเทศ/นักศึกษาแลกเปลี่ยน จำนวน 500 คน ง) การบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม โดยสร้างระบบนิเวศของการประกอบการและนวัตกรรมเพื่อสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ รวมถึงการพัฒนาระบบการบริหารและจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ตัวอย่างผลผลิต เช่น มีการสร้าง Technology-based Startup และพัฒนา SMEs จำนวน 300 ราย และ จ) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนแบบเครือข่ายจตุภาคี (Quaruple Helix) ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างกำลังคนและสร้างความเป็นเลิศตามนโยบายของประเทศ รวมถึงการสร้างเครือข่ายพัฒนาแหล่งเรียนรู้ชุมชน ตัวอย่างผลผลิต เช่น จำนวนเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรตามจุดเด่น/จุดเน้น จำนวน 100 เครือข่าย 

สำหรับแนวทางการบริหารและจัดสรรงบประมาณตามกรอบวงเงินดังกล่าวมุ่งเน้นให้สนองด้านอุปสงค์เป็นหลัก (Demand-side Financing) และให้ความสำคัญกับกลไกที่จำเป็นต่อการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้

Tags:

เรื่องล่าสุด