messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ลำปางคืบ วิทยสถานแห่งการพัฒนาสู่หอศิลปวิทยาการ โดยคนลำปาง เพื่อคนลำปาง หรือ “Citizen Based Research” รวมภาคีเครือข่ายจังหวัดลำปางกว่า 60 องค์กร เน้นสร้างกลไกร่วมเพื่อรวบรวมองค์ความรู้ถ่ายทอดวิทยาการส่งมอบให้กับลูกหลานคนลำปาง

ลำปางคืบ วิทยสถานแห่งการพัฒนาสู่หอศิลปวิทยาการ โดยคนลำปาง เพื่อคนลำปาง หรือ “Citizen Based Research” รวมภาคีเครือข่ายจังหวัดลำปางกว่า 60 องค์กร เน้นสร้างกลไกร่วมเพื่อรวบรวมองค์ความรู้ถ่ายทอดวิทยาการส่งมอบให้กับลูกหลานคนลำปาง

วันที่เผยแพร่ 10 มีนาคม 2021 771 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จังหวัดลำปาง จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “ลำปาง ฟอรั่ม” วิทยสถานแห่งการพัฒนาจังหวัดลำปาง ครั้งที่ 3 (LAMPANG FORUM #3) วันที่ 8 มีนาคม 2564 ณ หอประชุมชั้น 2 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งลำปาง จังหวัดลำปาง

โดยการจัดประชุมครั้งนี้มีการระดมความคิดเห็นจากองค์กรภาคประชาชนกว่า 60 แห่ง อาทิ สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดลำปาง สมาคมการท่องเที่ยว จังหวัดลำปาง สถาบันธรรมาภิวัฒน์ สมัชชาการศึกษาจังหวัดลำปาง เครือข่ายพุทธศิลป์ ชมรมครูทัศนศิลป์จังหวัดลำปาง ฯลฯ  โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กรอบการศึกษาและการขับเคลื่อนงานลำปางศึกษา (Lampang Study) และการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่จะไปสู่การกำหนดกรอบการเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำฐานข้อมูลหรือ Data Science พัฒนาสู่การเป็นหอศิลปวิทยาการของจังหวัดลำปาง

รองศาสตราจารย์ ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า เป้าหมายหลักของการสนับสนุนทั้งงบประมาณ และกลไกการทำงานในครั้งนี้  เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของพื้นที่คือจังหวัดลำปาง ที่อยากจะมอบองค์ความรู้ให้กับคนรุ่นหลัง

“เจตนารมณ์ของการสนับสนุนงานวิจัยในครั้งนี้เรียกว่า “Citizen Based Research” คือองค์ความรู้ใหม่ที่ประชาชนเป็นผู้วิจัยหลัก โดยการสนับสนุนทั้งงบประมาณและกลไกการทำงาน และกระบวนการที่ใช้คือกระบวนการ สุ จิ ปุ ลิ คือการมาช่วยกันทำ ช่วยกันตั้งคำถาม ช่วยกันถกเถียง ซึ่งการทำงานวิจัยในครั้งนี้เป็นเหมือนการสร้างห้องสมุดร่วมกัน อาจจะเป็นห้องสมุดออนไลน์ เพราะถ้าออนไลน์อยู่ได้ร้อยปี ข้อมูลที่เรามาร่วมกันทำในวันนี้จะอยู่ได้ถึงร้อยปีเช่นกัน และข้อมูลเหล่านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือภาคประชาชนจะนำไปใช้ในการพัฒนาจังหวัดลำปางต่อไป”

ด้าน ดร.ขวัญนภา สุขคร ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งลำปาง  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต  อธิบายว่า การจัดประชุมรอบนี้ถือเป็นครั้งที่ 3  ซึ่งจะเป็นเวทีระดมความคิดเห็น และร่วมกันออกแบบกรอบการเก็บข้อมูล ซึ่งเครือข่ายที่ประสานมาร่วมประชุมจะมาช่วยกันกำหนดเนื้อหาว่าต้องการจะศึกษาเรื่องอะไรภายใต้กรอบ 5 ภูมิวัฒนธรรมคือ ภูมิหลัง ภูมิเมือง ภูมิปัญญา ภูมิวงศ์ และภูมิธรรม แต่ละกรอบก็จะมีรายละเอียดแยกย่อยออกไป เช่น ภูมิหลัง จะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ประวัติความเป็นมาในยุคสมัยต่าง ๆ ภูมิเมืองก็เป็นเรื่องของการพัฒนาเมือง การพัฒนาย่านต่าง ๆ ของเมือง เป็นต้น

“เวทีนี้เราจะให้แต่ละเครือข่าย แต่ละองค์กรได้อธิบายภาพการดำเนินงานของตนเอง เช่น เป้าหมายขององค์กรคืออะไร และที่ผ่านมาดำเนินงานเรื่องอะไรไปบ้างแล้ว และมีความสนใจอยากจะเสนอให้ทีมวิจัยลงไปเก็บข้อมูลเรื่องไหนต่อ ซึ่งเวทีลักษณะนี้ เราจะได้ความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยจริง ๆ เพราะเราไม่ได้กำหนดกรอบเนื้อหาเอง แต่ผู้ใช้ประโยชน์จะเป็นผู้กำหนด นักวิจัยทำหน้าที่แค่การลงไปเก็บข้อมูล และนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ เป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง”   

จุติภพ ตันอุดม  จาก เครือข่าย กิ่วลม-ชมละคร ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งกลับมาใช้ชีวิตทีบ้านเกิด ผ่านการใช้ศิลปะและการละครขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคมให้ทัศนะว่า เป็นเรื่องดีที่ลำปางจะมีฐานข้อมูลของจังหวัด เพราะยังมีคนรุ่นใหม่อีกมากที่อยากกลับมาพัฒนาบ้านเกิด แต่ยังไม่รู้ว่าจะกลับมาทำอะไร “เพราะคนรุ่นใหม่อยากกลับมาเยอะ แต่ยังไม่รู้ว่าอยากกลับมาทำอะไร ในส่วนของตัวผมกลับมาได้ปีกว่า ก็เห็นว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้ใหญ่ทำไว้เยอะ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเชื่อมข้อมูลกันอย่างไร ผมมองว่า ถ้าสามารถเชื่อมต่อองค์ความรู้เก่าและใหม่ได้ คนรุ่นใหม่ก็อยากจะกลับมาช่วยกันพัฒนาจังหวัดลำปาง  อยากทำให้ลำปางมีสีสัน และสนุก อยากให้ลูกหลานไปต่อได้”

Tags:

เรื่องล่าสุด