
(15 มีนาคม 2564) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรแห่งชาติ (สอวช.)
ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม และบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) จัดการหารือเพื่อหาแนวทางในการจัดตั้ง Thailand Synthetic Biology and Innovation Consortium โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งภาคีเครือข่าย พัฒนาความร่วมมือทั้งในมิติด้านงานวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมถึงสร้างเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีวภาพทั้งหมด และการเตรียมความพร้อมสู่การพัฒนาและใช้เทคโนโลยีชีวภาพแห่งอนาคต หรือ SynBio (Synthetic Biology) ในระดับอุตสาหกรรมในประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนบีซีจิ โมเดล ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจและกำหนดทิศทางร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี SynBio รวมถึงเชื่อมโยงความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ประกอบการและนักวิจัย ทั้งภายในและระหว่างประเทศ ต่อยอดเป็นนวัตกรรม และนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ให้แพร่หลายต่อไป
การประชุมในครั้งนี้ ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. ได้กล่าวในตอนหนึ่งของการเปิดประชุมว่า เทคโนโลยี SynBio มีการพัฒนาและเติบโตมาระยะหนึ่งแล้ว และประเทศไทยมีศักยภาพในการต่อยอดเทคโนโลยีจากความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงมีความเข้มแข็งด้านบุคลากร ทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย และนักเรียนทุนที่กำลังศึกษาในด้านนี้รวมกว่าพันคน ผนวกกับความสนใจของภาคเอกชน เป็นที่มาให้เกิดการรวมตัวกันพูดคุยหารือ แลกเปลี่ยนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อมองหาโอกาสในการพัฒนาด้านเทคโนโลยี การสร้างภาคีเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนร่วมกัน

“สอวช. เป็นหน่วยงานด้านนโยบาย ที่ให้ความสำคัญในการผลักดันบีซีจี โมเดล และมีความสนใจที่จะมีส่วนร่วมในการจับมือร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งรายใหญ่ รายเล็ก สตาร์ทอัพ และมหาวิทยาลัย เพื่อมองหาโอกาสในการสร้างภาคีเครือข่ายในเทคโนโลยี SynBio รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่สัมพันธ์กัน เนื่องจากมองว่าเป็นเทคโนโลยีที่จะสามารถสร้างโอกาสให้กับประเทศได้ การหารือในครั้งแรกนี้ อยู่ภายใต้หัวข้อ “SynBio Consortium: Driving Thailand BCG Economy to the New Frontier” มีกลุ่มเป้าหมาย คือนักวิจัย อาจารย์ นักนโยบาย ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี SynBio ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเข้าใจในนิยาม และขอบเขตการพัฒนาและการนำไปใช้ของเทคโนโลยี SynBio เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทย ทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร รวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมถึงหารือในเรื่องทิศทางและแนวทางการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ วิชาการ เอกชน และต่างประเทศ ในรูปแบบภาคีเครือข่าย ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นในการรวมตัวเพื่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของผู้เข้าร่วมประชุมและนำไปสู่การขยายผลต่อไป” ดร.กาญจนา กล่าว
เริ่มเวทีพูดคุยด้วยปาฐกถาพิเศษจาก รองศาสตราจารย์ แมทธิว ฉาง ผู้อำนวยการภาคีเครือข่ายสิงคโปร์เพื่อ Synthetic Biology หรือ Sinergy ที่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความสำเร็จในการรวมกลุ่มภาคีเครือข่าย โดยกลุ่มมีพันธกิจเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาขีดความสามารถด้าน SynBio ผ่านความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน และการเชื่อมต่อในระดับโลกด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพของสิงคโปร์ ซึ่งการจะดำเนินพันธกิจเหล่านี้ให้สำเร็จได้ ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาของภาคีเครือข่าย การพัฒนากำลังคน การจัดให้มีแหล่งข้อมูลกลางสำหรับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการสร้างความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมา Sinergy ได้จัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อสอดรับกับพันธกิจและเกิดการร่วมกิจกรรมของภาคีเครือข่าย เช่น การจัดงานสัมมนาด้านเทคโนโลยี, การสร้างความร่วมมือระดับโลก, การประชุมเชิงปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์และอุตสาหกรรม, กิจกรรมประชาสัมพันธ์และกิจกรรมที่สนับสนุนด้านการศึกษา, การประชุมระดับนานาชาติ

ด้าน ดร. ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร อาจารย์ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และรองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือตอนล่าง ได้กล่าวถึง เศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bioeconomy ของไทยว่า ปัจจุบันไทยใช้ประโยชย์จากความหลากหลายทางชีวภาพที่ธรรมชาติมอบให้เรา หรือสิ่งที่บรรพบุรุษของเราผสมคัดเลือกพันธุ์ให้ แต่หากเราสามารถใช้เทคโนโลยี SynBio คือ ไปแก้รหัสพันธุกรรมบางอย่างในตัวสิ่งมีชีวิตโดยตรง เพื่อทำให้สิ่งมีชีวิตที่มีอยู่เดิม เช่น แบคทีเรีย ยีสต์ สามารถทำงานตามที่มนุษย์ต้องการได้ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้กับประเทศที่มีข้อจำกัดในด้านทรัพยากร อีกทางหนึ่งก็จะช่วยให้ไทยสามารถใช้ประโยชน์ และปกป้องข้อได้เปรียบทางความหลายหลายทางชีวภาพที่เรามีอยู่และสามารถสร้างโอกาสในเชิงธุรกิจเฉพาะกลุ่มได้ เช่น ยา วัคซีน เป็นต้น

ในส่วนของภาคเอกชน นางสาวกิตติมา วงศ์แสน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทสนใจธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าฐานชีวภาพที่มีมูลค่าสูง (High Value Bio-Based Product) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องไปกับบีซีจี โมเดล และเทคโนโลยี SynBio ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับประเทศได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในการลดการใช้ทรัพยากร ที่มีแนวโน้มว่าจะขาดแคลนในอนาคต นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้โดยตรง ความคาดหวังในอนาคตคือการที่ประเทศไทยจะสามารถเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคของสินค้าฐานชีวภาพได้จากผลผลิตทางการเกษตร ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศ ทั้งนี้ ได้เห็นประโยชน์ของการรวมตัวเป็นภาคีเครือข่าย และมีแนวคิดในการสร้างสถาบันถ่ายทอดความรู้ SynBio Academy มีโปรแกรมฝึกอบรม แพลตฟอร์มให้คนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคเอกชน สถาบันวิจัย ภาคการศึกษา เข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายได้ในอนาคต

ด้านนางสาวมณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม เอ็นไอเอ กล่าวถึงบทบาทของหน่วยงาน ที่เน้นการทำหน้าที่เชื่อมโยงงานวิจัยสู่การปฏิบัติ และการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยมีการให้ทุนผ่านภาคเอกชนเป็นหลัก นอกจากนี้ NIA ยังมีโปรแกรมช่วยส่งเสริมกลุ่ม SMEs สตาร์ทอัพ ผ่านหลักสูตร NIA Academy ซึ่งสามารถเชื่อมโยงนำเรื่อง SynBio มาช่วยผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มได้ โดยจากข้อมูลที่ผ่านมาสตาร์ทอัพทั่วโลกกว่าร้อยละ 70 เรียนเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีชีวภาพ จึงคิดว่าหากมีกลไกสนับสนุนการรวมกลุ่มคงเกิดขึ้นได้ไม่ยากและยังสามารถขยายผลไปในด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมได้

ส่วนมุมมองในด้านการจัดตั้งภาคีเครือข่าย ศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนันท์ บุญยงมณีรัตน์ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีประสบการณ์ในด้านการพัฒนาภาคีเครือข่ายด้านโลหะวัสดุ ร่วมกับ สอวช. ให้ความเห็นว่า การจัดตั้งภาคีเครือข่ายให้สำเร็จนั้นไม่ใช่เพียงการรวมคนจากหลายภาคส่วนเท่านั้น แต่คือการใส่ใจในการจัดกิจกรรม เน้นให้คนที่เข้ามาร่วมได้รับประโยชน์ ซึ่งประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากต้นแบบที่ประสบความสำเร็จแล้วอย่างสิงคโปร์ได้ นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือการสร้างความเคารพ เชื่อมั่นซึ่งกันและกันว่าจะร่วมขับเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมกัน ซึ่งการขับเคลื่อนนี้ต้องอาศัยผู้นำที่พร้อมถ่ายทอด พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างการมีส่วนร่วม กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อให้เกิดการพัฒนาของภาคีเครือข่าย และสิ่งที่ต้องเน้นย้ำก่อนการจัดตั้งภาคีเครือข่าย คือการตั้งคำถามถึงจุดประสงค์ เป้าหมายที่ชัดเจนในการรวมกลุ่ม เพื่อให้สามารถพิจารณาได้ว่าในเครือข่ายจะต้องมีหน่วยงานใดอยู่บ้าง สำหรับการจัดการหารือจะยังมีต่อเนื่องตามโรดแมปของโครงการ โดยครั้งต่อไปจะเจาะกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มที่ 2 คือ ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ ทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก และสตาร์ทอัพ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 30 มีนาคม 2564 โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรม
