สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดนิทรรศการ “เปิดบ้านฟีโบ้ระบบภาพเสมือน FIBO Virtual Open House 2021” โดยถือเป็นการจัดอีเวนท์ทางออนไลน์เต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 25-27 มีนาคม 2564 ซึ่งภายในงานมีการนำเสนอเทคโนโลยีหุ่นยนต์แบบบูรณาการ สาธิตผลงานวิจัยและพัฒนาที่ก้าวหน้า และผลงานต้นแบบที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ นอกจากนี้ยังมีการสาธิตแพลตฟอร์มนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นโดยฟีโบ้และพันธมิตร เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีความพร้อมให้กับ ภาคเอกชน และภาครัฐที่สนใจ ให้เลือกนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้งานได้อย่างถูกต้อง ในราคาที่เหมาะสมกับภาคธุรกิจไทย รวมทั้งมีการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ การอบรมเชิงปฏิบัติการ และแสดงการแข่งขันการออกแบบชิ้นงานสามมิติเชิงวิศวกรรมสำหรับ 3-D printing โดยผู้เข้าแข่งจากโรงเรียนต่าง ๆ
โดยนิทรรศการเปิดบ้านในครั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้จากทุกที่ ผ่านคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือได้โดยง่าย หลังจากลงทะเบียนผ่านระบบก็สามารถเยี่ยมชมโซนนิทรรศการที่มีการจัดแสดงผลงาน พร้อมข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจจำนวน 20 บูธ สามารถรับฟังการบรรยาย หรือเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการได้แบบฟรี ๆ กับวิทยากรและกูรูในหัวข้อที่จัดไว้กว่า 20 หัวข้อ และสามารถ chat ถามคำถามได้ทันทีสำหรับเรื่องที่สนใจตลอดช่วงการจัดงานทั้ง 3 วัน ตัวอย่างงานที่แสดงไว้ในนิทรรศการเสมือนจริง ได้แก่ การควบคุมระบบ Smart Factory และระบบ 3d Printing จากระยะไกล การวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อการวินิจฉัยโรคจากภาพถ่ายทางการแพทย์ การวิจัยและพัฒนาแขนเทียมสำหรับหยิบจับวัตถุด้วยกล้องสามมิติและสัญญาณกล้ามเนื้อ และตัวอย่างการอบรมเชิงปฏิบัติการ ได้แก่ “Machine Learning Workshop” ภายใต้ทีมวิจัยของ รศ.ดร. สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม
ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมสถาบันหุ่นยนต์ระดับประเทศ ผ่านมือถือของได้ที่ http://bit.ly/3ewzL2h ตั้งแต่วันที่ 25 – 27 มีนาคม 2564 เวลา 10:00 – 18:00 น. ของแต่ละวัน
ส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยและพัฒนาและการพัฒนาบุคลากรที่นำมาแสดงครั้งนี้ อยู่ภายใต้โครงการ AI for All ซึ่งได้รับทุนจากหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เพื่อพัฒนาบุคลากรด้าน AI ในทุกระดับ