messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » บพท. ลงนามความร่วมมือกับ 11 หน่วยงาน บูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจน พร้อมขยายผลสำรวจช่วยเหลือติดตามคนจนในพื้นที่เป้าหมายเฟส 2 เพิ่มเป็น 20 จังหวัด

บพท. ลงนามความร่วมมือกับ 11 หน่วยงาน บูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจน พร้อมขยายผลสำรวจช่วยเหลือติดตามคนจนในพื้นที่เป้าหมายเฟส 2 เพิ่มเป็น 20 จังหวัด

วันที่เผยแพร่ 26 มีนาคม 2021 1091 Views

(26 มีนาคม 2564) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับหน่วยงาน ร่วมกับอีก 11 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการพัฒนาชุมชน กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ การเคหะแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สอดรับตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นการเร่งด่วน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงดำเนินการนำงานวิจัยและนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการพัฒนาพื้นที่ปฏิบัติการร่วมกัน โดยการลงนามข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้มี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธี

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวว่า ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ท่านนายกรัฐมนตรีให้ความสนใจติดตามอยู่เสมอ คนจนถือเป็นแก่นของความมั่นคงของรัฐและสังคม การใช้ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนนั้นสำคัญ แต่ระบบคิด (Mindset) และวัฒนธรรมก็สำคัญ เราต้องทำให้คนจนเข้มแข็ง ฝึกทักษะให้เขา ทำให้เขาเห็นโอกาสใหม่ เพิ่มโอกาสเข้าสู่ระบบศึกษา รวมทั้งต้องสร้างและปลุกเร้าครอบครัวให้เป็นแกนในการแก้ปัญหาความยากจน พื้นฐานของคนไทยเป็นคนเก่ง คนจนของไทยก็เป็น “คนจนที่ยิ่งใหญ่” ใช้หลักศาสนาและการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ภาครัฐและกระทรวง อว. จะทำหน้าที่เสริมและเติมเต็มศักยภาพ ทักษะ และระบบคิดให้คนจนไม่รู้สึกว่าเขาเป็นคนที่อ่อนด้อย แต่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาทำได้

“ทั้งหมดนี้เราต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนในระดับครัวเรือนเสียก่อน โดยแผนงานวิจัยนี้เป็นการขับเคลื่อนใน 10 จังหวัดนำร่อง ถือว่าเป็นงานวิจัยแรกที่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ใคร ที่ไหน ครัวเรือนอะไร ที่จน ซึ่งระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา มีบุคลากรทั้งจากนิสิต นักศึกษา อาสาสมัคร กว่า 1,500 คน ลงพื้นที่สำรวจ วิเคราะห์สภาพปัญหาเชิงลึกของความยากจน สร้างกลไกค้นหาและสอบทานคนจน รวมทั้งวิเคราะห์ทุนของคนจนในพื้นที่รายครัวเรือนและรายชุมชน สามารถค้นหาสอบทานครัวเรือนยากจนรวมทั้งสิ้น 92,656 ครัวเรือน หรือ 352,991 คน จากจำนวนกลุ่มเป้าหมายเดิม 131,040 คน” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าว

ด้าน ดร.กิตติ สัจจา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ให้ข้อมูลว่า จุดเด่นของโครงการนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อตอบคำถามสำคัญ 3 ข้อคือ  คนจนที่แท้จริงในพื้นที่เป็นใครอยู่ที่ไหน จนด้วยสาเหตุอะไร และจะใช้ทุนเข้าไปช่วยเหลือให้หายจนอย่างเบ็ดเสร็จและยั่งยืนได้อย่างไร โดยเริ่มสำรวจแบบปูพรมในพื้นที่ 10 จังหวัดนำร่องที่มีดัชนีความก้าวหน้าของคนด้านรายได้ของครัวเรือนต่ำที่สุด ได้แก่ ปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ นอกจากนี้ยังนำไปสู่การแก้ไขปัญหาผ่านองค์ความรู้ทางวิชาการ กลไกการทำงานที่ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่ ส่งต่อความช่วยเหลือให้กับพี่น้องประชาชนคนยากจนอย่างตรงจุด โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมทั้งสิ้น 10 กรมจาก 3 กระทรวง 3 องค์การมหาชน

“ผลการดำเนินงาน 9 เดือนที่ผ่านมา ได้รูปธรรมความสำเร็จทั้งระบบค้นหาและสอบทานข้อมูลคนจนและครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ ระบบส่งต่อความช่วยเหลือทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลาง รวมถึงการออกแบบโครงการวิจัยและนวัตกรรมแก้จนอย่างตรงเป้า ผลงานทั้งหมดนำไปสู่แผนการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับจังหวัดโดยกลไกแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดด้วยความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งระบบข้อมูลและตัวเลขคนจนทั้งหมด 92,656 ครัวเรือนที่สำรวจแล้ว จะส่งต่อเข้าสู่ระบบช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น เพื่อเป็นก้าวหนึ่งของการดำเนินงาน อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ส่วนในปี 2564 จะเพิ่มจังหวัดเป้าหมายในเฟส 2 อีก 10 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ นราธิวาส อุบลราชธานี ลำบาง พัทลุง นครราชสีมา ร้อยเอ็ด พิษณุโลก เลย และยะลา  ” ดร.กิตติ กล่าว

ในส่วนของนางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า พม. ได้เปลี่ยนนโยบายจากการช่วยเหลือคนจนแบบสงเคราะห์ มาเป็นการแก้ปัญหาพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนกลุ่มเปราะบาง โดยได้จัดให้ข้าราชการในกระทรวง 1 คน รับผิดชอบอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) 25 คน และ อพม. 1 คน รับผิดชอบดูแล 10 ครัวเรือนเป้าหมาย เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่แท้จริง โดยให้กลุ่มคนจนได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของเขาเอง มีแม่งานหลักคือกระทรวงมหาดไทย ในระดับองค์กรส่วนท้องถิ่น โดยจะบูรณาการความร่วมมือช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้มีที่อยู่อาศัย มีอาชีพ ดูแลครอบครัวได้ มีความมั่นคงทางรายได้ และมีความสุข จากงานวิจัยของ บพท. ที่เข้าไปสำรวจค้นหาคนจนรายคน รายพื้นที่ คัดกรองปัญหาคนยากจน และติดตามคนจนเป้าหมายนั้น สอดคล้องกับภารกิจที่พม.ดำเนินการอยู่ ในการเข้าไปช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ เชื่อว่าจากความร่วมมือในการขับเคลื่อนแก้ปัญหาความยากจนตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะช่วยให้คนไทยพ้นจากความยากจนได้อย่างแน่นอน

หลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ยังได้มีการจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยน ในหัวข้อ “งานวิจัยกับการแก้ไขปัญหาความยากจน” โดยมีตัวแทนทีมนักวิจัย ของจังหวัดเป้าหมายในเฟสแรกร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงานในพื้นที่จริง รวมถึงวิธีการเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชนที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่น จังหวัดปัตตานีที่นำเอาปลาพื้นถิ่น อย่างปลาสลิดดอนนา มาสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชน เริ่มจากการพัฒนาพื้นที่ทำบ่อเลี้ยงปลา สร้างรายได้ตลอดเส้นทางการเลี้ยง ตั้งแต่การขายพันธุ์ปลาไปจนถึงขายหญ้าหมักเพื่อเป็นอาหารปลา พร้อมทั้งส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปทำปลาแดดเดียวส่งออกขายในต่างประเทศ ทั้งในมาเลเซีย สิงคโปร์ ขายได้สูงถึง ราคา 1,000 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นการยกระดับอาชีพเกษตรกรไปสู่อาเซียน สร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ และใช้องค์ความรู้เข้าไปแก้ปัญหาให้กับคนจนกลุ่มเปราะบางได้

Tags:

เรื่องล่าสุด