messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ประชุมแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกับสหภาพยุโรป เสนอเน้นการขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติสนับสนุนมาตรการการส่งออกสินค้าสู่ยุโรปตามแผนปฏิบัติการสีเขียว

สอวช. ประชุมแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกับสหภาพยุโรป เสนอเน้นการขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติสนับสนุนมาตรการการส่งออกสินค้าสู่ยุโรปตามแผนปฏิบัติการสีเขียว

วันที่เผยแพร่ 29 มีนาคม 2021 553 Views

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ในงานประชุม “Online Discussion Between Thai and European Union Officials on Circular Economy” จัดโดย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงนโยบายและกฎระเบียบกับสหภาพยุโรป จาก บีซีจี โมเดล ที่มีความสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการสีเขียว หรือ European Green Deal ของสหภาพยุโรป โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งในประเทศไทยและในสหภาพยุโรป มากกว่า 100 ท่าน และมี ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. เป็นหนึ่งในตัวแทนผู้ร่วมการประชุมและยังเป็นผู้นำเสนอแง่มุมการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย

ดร.กาญจนา วานิชกร ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลพื้นฐาน เพื่อสร้างความเข้าใจในหลักการของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ภายใต้วิสัยทัศน์ในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ด้วยการใช้ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงนำเสนอรูปแบบแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนตามบริบทของไทยที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ โดยช่วงแรกเป็นช่วงการจัดการปัญหาขยะ ก่อนจะเข้าสู่ช่วงระยะระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งมีผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวต้องมีการขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติควบคู่ไปด้วย โดยได้เสนอกรอบการขับเคลื่อนเชิงระบบ ประกอบด้วยการขับเคลื่อนปัจจัยเอื้อที่เป็นฐานของระบบนิเวศการเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (General Intervention) เช่น มาตรการและการส่งเสริมสนับสนุนการลงทุน และโปรแกรมที่ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเชิงระบบและผลกระทบสูง ในระยะเวลาอันสั้น (Targeted Intervention) อาทิ การแลกเปลี่ยนของเสีย/วัสดุเหลือใช้ซึ่งกันและกัน (Waste Symbiosis), การขนส่งสินค้าคืนสู่ผู้ผลิตหรือรีไซเคิล (Reverse Logistic and Recycle), CE Solution Platform เป็นต้น รวมทั้งได้นำเสนอความก้าวหน้าของผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียนที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนของไทยเพื่อให้เห็นศักยภาพการปรับตัวในการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

นอกจากนี้ ดร.กาญจนา ยังได้เสนอแนะประเด็นในที่ประชุมเพื่อให้เกิดการสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียนที่ไทยได้ดำเนินการและแนวทางความร่วมมือต่างๆ ที่สามารถทำร่วมกันได้ ประกอบด้วย มาตรฐานของสินค้าสำหรับการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป การติดตามประเมินผลความก้าวหน้าการดำเนินงานเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ (Monitoring and Evaluation of Circular Economy) การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และการวิจัยและพัฒนา (Research and Development)

นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยประเด็น เศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยภายใต้ บีซีจี โมเดล จากตัวแทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม การนำเสนอแผนปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ของสหภาพยุโรป จากตัวแทนฝ่ายสิ่งแวดล้อม คณะกรรมาธิการยุโรป ในส่วนประเด็นด้านการจัดการขยะพลาสติก มีการประชุมแลกเปลี่ยน นำเสนอโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทย ปี 2018-2030 โดยตัวแทนจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้อตกลงด้านพลาสติกของโลก จากตัวแทนฝ่ายสิ่งแวดล้อม คณะกรรมาธิการยุโรป นอกจากนี้ ยังมีการพูคุยในประเด็นความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจชีวภาพ และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกลยุทธ์และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจชีวภาพของสหภาพยุโรป โดยตัวแทนฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะกรรมาธิการยุโรปอีกด้วย

Tags:

เรื่องล่าสุด