messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เชิญ ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร – ผู้ประกอบการ Plant-Based Meat ร่วมวงคุย โปรตีนทางเลือกจากพืช เชื่อ! เป็นโอกาสของธุรกิจไทย ที่สามารถเติบโตได้ในตลาดโลก

สอวช. เชิญ ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร – ผู้ประกอบการ Plant-Based Meat ร่วมวงคุย โปรตีนทางเลือกจากพืช เชื่อ! เป็นโอกาสของธุรกิจไทย ที่สามารถเติบโตได้ในตลาดโลก

วันที่เผยแพร่ 1 เมษายน 2021 1076 Views

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564  สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดรายการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ ถึงการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยรับมือกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อมองหาและสร้างโอกาสให้กับประเทศผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ตรง ในรายการ Future Talk by NXPO โดยนำเทรนด์อุตสาหกรรมที่กำลังมาแรงอย่าง “Plant-based Meat อาหารพันธุ์ใหม่ โอกาสไทยในอนาคต”มาเป็นประเด็นพูดคุย โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร. อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รองผู้อำนวยการ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) และนายวรกันต์ ธนโชติวรพงศ์ ผู้บริหารฝ่ายการตลาดและผู้ร่วมก่อตั้ง มอร์มีท สตาร์ทอัพผู้ผลิตและจำหน่าย Plant-Based Meat ร่วมพูดคุย ดำเนินรายการโดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.

ผศ.ดร. อัครวิทย์ ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า Plant-Based Meat คือเนื้อที่ทำมาจากพืช สร้างขึ้นมาทดแทนเนื้อที่ได้จากสัตว์ที่ปกติจะมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบหลัก และอาจมีสารอาหารอื่นๆ เช่น ไขมัน วิตามิน เป็นองค์ประกอบอยู่บ้าง เมื่อนำพืชมาเป็นวัตถุดิบ จึงต้องเป็นพืชที่มีความหลากหลายและมีปริมาณโปรตีนและสารอาหารเพียงพอ ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์

ในมุมของผู้ประกอบการนายวรกันต์ มองว่า จุดที่น่าสนใจของธุรกิจนี้คือ การที่สามารถนำพืชที่หาได้ในท้องถิ่น มาทำเป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช นำไปประกอบอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ได้ ต่างจากโปรตีนเกษตร ปัจจุบันสามารถนำมาปั้น ต้ม ใส่ในหม้อสุกี้ หรือทำเบอร์เกอร์ได้ ที่สำคัญคือพืชไม่มีคอเลสเตอรอล เมื่อรับประทานโปรตีนจากพืชจะสามารถควบคุมคอเลสเตอรอลได้ด้วย

“ตลาดของ Plant-Based Meat มีค่อนข้างหลากหลาย ผลิตภัณฑ์ที่ปรุงรสแต่งกลิ่นเหมือนเนื้อสัตว์เลยก็มี แต่ในผลิตภัณฑ์ของมอร์มีท เป็นโปรตีนจากพืชที่ไม่ปรุงรส ไม่แต่งกลิ่น เพราะต้องการให้ลูกค้านำไปปรุงเองต่อได้ โดยจุดเริ่มต้นของธุรกิจเกิดจากการมองเห็นปัญหา ทั้งเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม จากนั้นจึงมองหาธุรกิจที่จะสามารถมาตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ได้ จึงเริ่มศึกษาและเริ่มจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขายผ่านช่องทางออนไลน์ แต่พบว่าสินค้าของต่างชาติไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการ Plant-Based ของกลุ่มลูกค้าไทย จึงเริ่มหันมาทำสินค้าเองให้ตอบโจทย์ลูกค้าในการนำไปประกอบอาหารได้อย่างหลากหลาย รวมถึงมองเห็นโอกาสการเติบโตในตลาด มังสวิรัติ ที่ทั้งในไทยและจีนมีการเติบโตถึง 30% ตั้งแต่ปี 2019 จึงทำให้หันมาจับธุรกิจนี้อย่างจริงจัง ในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เริ่มแรกในทีมผู้ก่อตั้งไม่มีใครจบด้านอาหาร แต่รู้จักกับอาจารย์ที่จบทางด้านนี้ จึงได้เข้ามาทำงานร่วมกัน ใช้ระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่คิดค้นว่าจะใช้พืชชนิดใด จนมาเจอเห็ดแครงที่ให้ผิวสัมผัสและมีรสสัมผัสที่สามารถขบเคี้ยวได้ มีสารอาหารที่ค่อนข้างสูง ซึ่งทางอาจารย์ในทีมจะช่วยเหลือในเรื่องการคำนวณสัดส่วนของส่วนผสมที่เหมาะสม ถือเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการกับนักวิจัยไทย ก่อนจะได้เป็นผลิตภัณฑ์ออกมา”
นายวรกันต์ กล่าว

สำหรับโอกาสของธุรกิจนี้ในเมืองไทย ผศ.ดร.อัครวิทย์ มองว่า กลุ่มสตาร์ทอัพกับ SMEs ยังมีโอกาสค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะการคิดพลิกแพลงนำเนื้อสัตว์จากพืชมาประยุกต์ให้เกิดอาหารที่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น จากข้อมูลด้านการเติบโตทางการตลาด พบว่า ธุรกิจนี้เติบโตสูงในกลุ่มประเทศยุโรป สแกนดิเนเวีย และสหรัฐอเมริกา แต่ในเอเชียยังมีการเติบโตน้อย แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่จะเติบโตอีกมากในอนาคต จากกระแสเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ที่เป็นเทรนด์อยู่ทั่วโลก ดังนั้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์เรื่องรสชาติ ลักษณะของผลิตภัณฑ์ ความสะดวกในการนำไปประกอบอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ

“แนวโน้มของตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็น Plant-Based Meat มีโอกาสเติบโตสูงมากในตลาดโลก เนื่องจากภายใน 30 ปีข้างหน้า คาดว่าความต้องการอาหารโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 60% จากจำนวนประชากรโลกที่เข้าใกล้หมื่นล้านคน และในทุกช่วงวัยต่างต้องการโปรตีนเป็นองค์ประกอบในอาหารเพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย แต่พบว่าปัญหาการขาดแคลนโปรตีนในโลกยังมีอยู่ค่อนข้างสูง โดยปกติคนเราต้องกินโปรตีนประมาณ 0.8 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และกลุ่มคนที่ออกกำลังกายหนักๆ จะต้องกินโปรตีนสูงถึง 1-2 กรัมต่อน้ำหนักตัว ซึ่งโปรตีนที่บริโภคในปัจจุบันส่วนใหญ่ได้มาจากเนื้อสัตว์กับปลาเป็นหลัก แต่ด้วยกระแสของการอนุรักษ์ ความกังวลเรื่องการฆ่าสัตว์ หลายคนจึงหันมาสนใจโปรตีนทางเลือก ทำให้ตลาดทั่วโลกเติบโตสูงขึ้น เป็นโอกาสของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีวัตถุดิบพื้นถิ่นสูงกว่าประเทศอื่นๆ หลายประเทศ เพราะฉะนั้นจะมีตัวเลือกแหล่งของโปรตีนใหม่ โดยเฉพาะโปรตีนที่จะมาจากพืชในอีกหลายชนิด” ผศ.ดร. อัครวิทย์ กล่าว

ในส่วนของความต้องการด้านการสนับสนุนจากภาครัฐ นายวรกันต์ เสนอว่า รัฐควรเข้ามาให้ความช่วยเหลือในเรื่องเครื่องมือ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารใหม่ๆ ในมุมของกลุ่มที่เป็นสตาร์ทอัพ ด้านอุตสาหกรรมอาหาร เรื่องเครื่องจักรเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหญ่และมีมูลค่าสูง หากรัฐจะสามารถช่วยจัดหาเครื่องมือ หรือให้บริการในราคาที่ถูก จะเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง ในแง่การพัฒนาสินค้าเพิ่มเติม หรือเพิ่มรูปแบบสินค้าให้หลากหลายขึ้น อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของการส่งเสริมการตลาดที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสเติบโตในธุรกิจได้ง่ายขึ้น

ด้าน ผศ.ดร.อัครวิทย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมืองนวัตกรรมอาหารที่ถูกตั้งขึ้นโดย สอวช. ได้ออกแบบแพลตฟอร์มในการให้บริการภาคเอกชนไว้ค่อนข้างครบวงจร ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การผลิต การขอขึ้นทะเบียนกับ อย. และปัจจัยเรื่องการตลาดด้วย ในเรื่องของสถานที่ผลิต มีเครือข่ายอยู่กับ 15 มหาวิทยาลัย รวมถึงหน่วยงานในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ด้วย สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม มีการจัดตั้ง OEM (Original Equipment Manufacturer) โรงงานขนาดเล็กของภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการผลิตให้กับภาคเอกชน เพื่อให้ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานเองในช่วงแรก ด้านโปรตีนทางเลือกจะทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งอยู่ในระหว่างการปรับปรุงที่จะให้ได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ส่วนของการตลาด มีความร่วมมืออยู่กับ Modern Trade หลายรายในการพัฒนาผู้ประกอบการให้เข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสเติบโตสูง

ด้าน ดร.กิติพงค์ ยังได้เสริมว่า ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 อุตสาหกรรมอาหารยังถือเป็นโอกาสของประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ อีกทั้งคนไทยยังมีแนวคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่อยู่อย่างต่อเนื่องจากการมองถึงความต้องการของผู้บริโภค ประกอบกับการหาเครือข่ายที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุน โดยเฉพาะในส่วนของรัฐบาลที่มีหลายหน่วยงานพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถคิดค้น สร้างนวัตกรรมใหม่ได้ง่ายขึ้นในต้นทุนที่ลดลง ทั้ง สอวช. เอง หรือเมืองนวัตกรรมอาหารก็สามารถให้ข้อมูลและร่วมหาแนวทางสนับสนุนได้ การร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ และคาดว่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ เป็นจุดเริ่มต้นในการเริ่มธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการใหม่ๆ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ สอวช. ต้องการส่งเสริมให้เห็นการพัฒนาด้านนวัตกรรมขึ้นในประเทศไทย

Tags:

เรื่องล่าสุด