messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » บพค. หนุน ม.เกษตรฯ โค้ชทีมเยาวชนให้แข่งขันผลิตหุ่นยนต์สร้างเกษตรอัจฉริยะต่อยอดเชิงพาณิชย์ เกษตรไทยต้องใช้เทคโนโลยีแม่นยำช่วย ชี้ไทยจะเป็นครัวโลกด้วยแรงงานอย่างเดียวไม่พอ มั่นใจใน 1 ปี มีนวัตกรรมออกมาใช้ และหากทำต่อเนื่องพลิกมิติประเทศไทยได้

บพค. หนุน ม.เกษตรฯ โค้ชทีมเยาวชนให้แข่งขันผลิตหุ่นยนต์สร้างเกษตรอัจฉริยะต่อยอดเชิงพาณิชย์ เกษตรไทยต้องใช้เทคโนโลยีแม่นยำช่วย ชี้ไทยจะเป็นครัวโลกด้วยแรงงานอย่างเดียวไม่พอ มั่นใจใน 1 ปี มีนวัตกรรมออกมาใช้ และหากทำต่อเนื่องพลิกมิติประเทศไทยได้

วันที่เผยแพร่ 2 เมษายน 2021 1052 Views

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ ฟีโบ้ (FIBO) จัดเสวนา FIBO Talk Series ผ่านทางเฟซบุคไลฟ์เพจ FIBO AI/Robotics for All ในหัวข้อ “การแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ สร้างระบบเกษตรอัจฉริยะต่อยอดเชิงพาณิชย์” โดยมี ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนานวัตกร วิศวกรด้านวิทยาการหุ่นยนต์เพื่อการเกษตรกรรม (Smart Agricultural Robot Contest) ภายใต้โครงการ AI for All ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) มาร่วมพูดคุย

ผศ.ปัญญา กล่าวว่า โครงการส่งเสริมวิทยาการหุ่นยนต์ฯ มีเป้าหมายเพื่อใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และเอไอเข้ามาช่วยในภาคการเกษตร เนื่องจากที่ผ่านมาเทคโนโลยีดังกล่าวมีการรับรู้และใช้เป็นประโยชน์แล้วในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น  การที่ประเทศไทยมีการผลิตวัตถุดิบจากภาคเกษตรมากมาย แต่ในขณะเดียวกันเริ่มประสบปัญหาสังคมผู้สูงอายุและแรงงานภาคการเกษตรไม่เพียงพอ  เทคโนโลยีหุ่นยนต์จะสามารถลดปัญหาดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม มักจะมีคำถามว่า ราคาจะแพงไหม เทคโนโลยีล้ำไปจนเกษตรกรเข้าไม่ถึงหรือเปล่า ซึ่งเรามองว่าทุกอย่างต้องมีจุดเริ่มต้น ประเทศชั้นนำอย่าง จีน อเมริกา ญี่ปุ่น เริ่มกันมาแล้ว  ถ้าเรามาเริ่มทำนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาซึ่งเป็นบริบทของบ้านเราและเราจำเป็นต้องแก้ไขเองให้ได้ถูกจุด เมื่อเก่งขึ้นเราก็จะสามารถเปิดตลาดใหม่ได้ด้วย  ส่วนเครื่องจักรกลทางการเกษตรแบบเดิมก็จะค่อย ๆ หายไป วันนี้เรารู้จักเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการเกษตรที่ได้เปิดตัวมาได้ระยะหนึ่งแล้วคือ โดรน ถือเป็นเทคโนโลยีแม่นยำที่มีประสิทธิภาพ

ผศ.ปัญญา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เป้าหมายสำคัญของโครงการคือ การโค้ชทีมต่าง ๆ ให้พร้อมเข้าแข่งขันการพัฒนาหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ  เราต้องสร้าง Creator ซึ่งหมายถึงนักประดิษฐ์ การจัดการแข่งขันครั้งนี้เพื่อให้เห็นการพัฒนาแบบทะลุขีดจำกัด เราจะเห็นไอเดียต่าง ๆ เยอะแยะมากมายจากคนรุ่นใหม่ เยาวชนที่แข่งขัน มี 50 ทีม ทีมละ 10 คน รวมทั้งสิ้นเราจะผลิตคนได้ 500 คน จากทั่วประเทศ ทั้งระดับมหาวิทยาลัยและอาชีวะ โดยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรในแต่ละภาคของการเกษตร ด้วยโจทย์ 11 เรื่อง   โดยเราจะใช้การแข่งขันของเยาวชนเป็นตัวนำอาศัยเครือข่ายของมหาวิทยาลัย เชื่อว่าจะสามารถขับเคลื่อนได้เร็วกว่าอดีต ที่เราเคยสร้างเยาวชนที่แข่งจนได้แชมป์โลก ทั้งนี้ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 50 ทีมจะต้องรายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการในทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ ยังมีการเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาอบรมเรื่องที่จำเป็นต้องรู้ให้แก่ทีมเหล่านี้ด้วย เช่น การคอนโทรล การเกษตร เอไอ เนื่องจากนักเรียนอาชีวะและนักศึกษาวิศวกรรมฯ ไม่ถนัดเรื่องเกษตร  ทำให้เรามองเห็นว่าในการจัดครั้งต่อไปนั้น ยังสามารถปรับปรุงให้การสร้างทีมแข่งขันสมบูรณ์ขึ้น เช่น จะต้องมีการดึงเด็กเกษตร ประมง วนศาสตร์ เพื่อเชื่อมทุกศาสตร์มาเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะเทคโนโลยีเอไอและโรโบติกส์ต้องทำงานข้ามสาขา จึงจะแก้ปัญหาได้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก ในขณะนี้การปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญบางตัว ยังใช้เทคโนโลยีการปลูกเหมือนเมื่อ 20 – 30 ปีที่แล้ว ยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้าไปช่วย จึงคิดว่าหากเมืองไทยจะเป็นครัวโลกและยังใช้แรงงานคนเพียงอย่างเดียว โดยไม่นำเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำเข้าไปใช้ โอกาสที่จะขึ้นไปถึงจุดที่คาดหวังคงไม่ง่าย

การสร้างคนกลุ่มที่สอง คือ Dreamer เมื่อเราคัดเลือกจาก 50 ทีมเหลือ 10 ทีม เราก็จะมี 10 โครงการวิจัย และสามารถนำไปขอทุนเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ เป็นการสร้างนักวิจัยพัฒนาที่เก่งขึ้น ขณะเดียวกันตลอดการแข่งขันมีการจับตามองจากภาคเอกชน หากสนใจในโครงการของผู้เข้าแข่งขันก็จะสามารถขยายผลได้ในอนาคต เชื่อว่าภายในปี 2565 เราจะมีนวัตกรรมออกมาใช้ได้ เพราะในปีถัดไปเราก็จะปั้นทีมใหม่มาเติมซึ่งจะมีนวัตกรรมเพิ่มขึ้นดันเป็นฐานปิรามิดที่แข็งแกร่ง เมื่อครบวงจรก็จะสามารถผลิตคน ผลิตงาน และมีนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ออกมาใช้ในภาคการเกษตรมากขึ้น และกลุ่มสุดท้ายคือการสร้างผู้ประกอบการ Enterprise คือการส่งเสริมการไปใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือโอท็อปด้านการเกษตร ตอนนี้เรามีการวิจัย หากทำให้เกิดผลิต และต่อไปคือการใช้งานจริง ปีแรกมีครีเอเตอร์ 500 คน ปีที่สอง ก็จะมีพันคน ถ้ามีการดำเนินการลักษณะนี้ไปเรื่อย ๆ จะสามารถพลิกมิติภาคการเกษตรของประเทศไทยได้ ด้วยการสร้างคน 3 กลุ่ม C D E ไปพร้อม ๆ กัน

โจทย์ที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ได้มาจากความต้องการของเกษตรกรจริง ๆ และน่าจะนำไปสู่การพัฒนาสตาร์ทอัพ ด้านเอไอ และสำหรับการเกษตรเขตร้อนได้   โจทย์ 11 เรื่องในการแข่งขันในครั้งนี้ ได้เก่ หุ่นยนต์กำจัดวัชพืช  หุ่นยนต์อารักขาพืช  หุ่นยนต์ปลูกผัก  หุ่นยนต์เก็บเกี่ยว  Phenotyping Robot  หุ่นยนต์ปรับระดับพื้นแปลงเกษตร  หุ่นยนต์เก็บตัวอย่างดินตรวจวิเคราะห์โครงสร้างค่าธาตุอาหารและค่าความกรดด่างในดิน  หุ่นยนต์ตรวจวัดสารตกค้างหรือตรวจหาสารสำคัญในพืชผักผลไม้  หุ่นยนต์กรีดยาง  หุ่นยนต์คัดแยกผลผลิตทางการเกษตร และหุ่นยนต์สีกะเทาะเปลือก ปลอกเปลือก แกะเปลือก คว้านเม็ด ซึ่งเป็นที่ต้องการของเกษตรกรทั้งสิ้น

“ต่อไปเราจะป้อนเด็กรุ่นน้องเข้าสู่บริษัทของรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จจนมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ซึ่งจะทำให้บริษัทแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างเป็นฐานปิรามิดดันไปเรื่อย ๆ อย่างครบวงจร จากปีนี้ 11 ประเภทการแข่งขันก็จะเพิ่มเป็น  17 ประเภทการแข่งขันในปีหน้า โจทย์ที่เพิ่มขึ้นมาจะเป็นสำหรับกระบวนการกลางน้ำมากขึ้น ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่อการจัดการด้านปศุสัตว์  หุ่นยนต์เพื่อการจัดการด้านการประมง  หุ่นยนต์เพื่อการจัดการด้านป่าไม้  หุ่นยนต์สำหรับโรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากผลิตผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง และวนผลิตภัณฑ์  หุ่นยนต์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม และหุ่นยนต์จัดการด้าน Warehouse นอกจากนี้ ในปีถัดไปก็จะเพิ่มเชิงพาณิชย์มากขึ้น เราต้องเปิดมุมมองของเหล่านักวิจัยด้านเอไอ วิศวกร ที่จะมาร่วมกันค้นพบความลับของบ้านเราว่าปัญหาของเกษตรกรคืออะไร ต่อยอดไปถึงการขายพืชผลทางการเกษตรอย่างครบวงจร เราจะสู้ต่างประเทศได้ ที่ผ่านมาจีนก็ใช้วิธีนี้และประกาศว่าบ้านเขาจะพ้นความยากจนภายใน 7 ปี  ดังนั้นการเอาเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาประเทศเราต้องเล่นครบรอบด้าน” ผศ. ปัญญา กล่าว

Tags:

เรื่องล่าสุด