messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. แนะมหาวิทยาลัยวางแผนพัฒนาวิจัย นวัตกรรม สอดรับนโยบายประเทศ เน้นย้ำการปรับตัวเข้าเท่าทันการเปลี่ยนแปลง พร้อมรับผลกระทบหลังโควิด-19

สอวช. แนะมหาวิทยาลัยวางแผนพัฒนาวิจัย นวัตกรรม สอดรับนโยบายประเทศ เน้นย้ำการปรับตัวเข้าเท่าทันการเปลี่ยนแปลง พร้อมรับผลกระทบหลังโควิด-19

วันที่เผยแพร่ 22 เมษายน 2021 687 Views

วันที่ 21 เมษายน 2564 ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เพื่อมาเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนทิศทางนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อววน.) หัวข้อ “อุดมศึกษาไทยกับการพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรม” ในงานสัมมนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยกับภาพอนาคต : RUTS Foresight ผ่านระบบออนไลน์ โดยงานสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเติมเต็มองค์ความรู้ให้กับมหาวิทยาลัย และเพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ พัฒนามหาวิทยาลัย 20 ปี ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์นโยบายในระดับประเทศ

ดร.กิติพงค์ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ สอวช. ทำขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรก ผ่านการระดมความคิด ซึ่งได้ข้อสรุปถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกที่กระทบกับประเทศไทย ได้แก่ 1. โควิด-19 และโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ 2. ชีวิตหลากหลายขั้น (Multi-stage Life) และสังคมสูงวัย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว 3.นวัตกรรมพลิกโฉมและสังคมดิจิทัล (Disruptive Innovation and Digital Transformation) 4. ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน 5. การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการขาดแคลนทรัพยากร และ 6. การเปลี่ยนขั้วอำนาจเศรษฐกิจของโลก ที่จะเปลี่ยนจากลุ่มประเทศตะวันตก มายังประเทศตะวันออกอย่างประเทศจีน ซึ่งจะมีผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง

“ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI แสดงให้เห็นว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนสู่การใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ผลที่ตามมาคือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเร่งการเติบโตขึ้น จากการทำงานที่บ้าน (Work from Home), อี-คอมเมิร์ซ, การรับสื่อบันเทิงผ่านช่องทางออนไลน์ ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่จะชะลอตัวลงคือการเติบโตของกลุ่มพลังงานทดแทน, หุ่นยนต์ และเมกะโปรเจคต์ต่างๆ ส่วนเทรนด์ที่จะเริ่มหมุนกลับมาคือการลดความยากจน รวมถึงโลกาภิวัตน์ หลายประเทศจะเริ่มหันกลับมามองตัวเอง พยายามดึงการลงทุนกลับเข้ามาในประเทศและภูมิภาคของตัวเองมากขึ้น” ดร.กิติพงค์ กล่าว

ในด้านเศรษฐกิจ TDRI คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวสู่ระดับก่อนโควิดอย่างเร็วที่สุดในปี 2023 ภาพรวมการบริโภคและการลงทุนจะชะลอตัว เพราะมีหนี้สินสะสมมาก รัฐบาลมีข้อจำกัดด้านงบประมาณมากขึ้น แม้อัตราการว่างงานแบบเป็นทางการยังไม่อยู่ในระดับสูง แต่มีความเสี่ยงที่จะมีการว่างงานในวงกว้างมากขึ้น ส่วนด้านสุขภาพ อาจมีโรคระบาดเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่น้อยครั้งที่จะเกิดขึ้นระดับโลก เป็นผลให้ประชาชนหันมาใส่ใจสุขอนามัยเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถลดการเจ็บป่วยจากโรคติดต่อได้

ดร.กิติพงค์ ยังได้ให้ข้อมูลแนวโน้มของภาคการเกษตร ที่จะมีกลุ่มแรงงานกลับคืนถิ่นไปทำเรื่องการเกษตรมากขึ้น สิ่งที่น่าสนใจคือการทำเรื่องการขยายตลาดโปรตีนใหม่ หรือโปรตีนทางเลือก จากเทรนด์ของ Plant-Based Meat เป็นอีกหนึ่งแนวทางสร้างอาชีพให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ยังมีการเกิดขึ้นของเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ที่จะเข้ามามีบทบาทและส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม มหาวิทยาลัยจึงต้องให้ความสำคัญกับการหาแนวทางสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อนำไปช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร พัฒนาให้เกิดการเพิ่มมูลค่าสินค้าและผลิตผลทางการเกษตร เช่น การส่งออกผลไม้สดมูลค่าสูง (Premium Fresh Fruit) ที่สร้างมูลค่าการส่งออกในระดับสูงให้กับประเทศ

ด้านแนวโน้มการปรับตัวของภาคการผลิตและบริการ อุตสาหกรรมที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นคือกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร, อิเล็กทรอนิกส์ และเวชภัณฑ์ รวมถึงบริการด้านสุขภาพในอนาคต ที่จะมีระบบสนับสนุนการแพทย์ทางไกล ในรูปแบบ Telehealth, Telemedicine กรณีกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปพบแพทย์ เช่น เบาหวาน ความดัน เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยลดต้นทุนของรัฐบาลได้เป็นจำนวนมาก

อีกประเด็นที่สำคัญคือในภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษา สิ่งที่จะพบชัดเจน คือ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการว่างงานมากขึ้น มหาวิทยาลัยต้องให้ความสำคัญในการคิดวางแผนระยะยาวถึงการแก้ปัญหาในจุดนี้ อีกทั้งยังต้องปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี การเรียนการสอนที่ปรับรูปแบบไปอยู่ในช่องทางออนไลน์ ทำให้ต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขันกับแพลตฟอร์มการเรียนรู้นอกมหาวิทยาลัยที่จะเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ให้กับนักศึกษา ส่วนแนวโน้มการเรียนรู้ในอนาคต กระทรวง อว. มีนโยบายที่จะสนับสนุนแนวคิด “งานก่อน ปริญญาตาม” จากการที่หลายบริษัทรับคนทำงานตั้งแต่จบชั้นมัธยม ก่อนจะให้เสริมความรู้ในการเรียนคอร์สที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในสายงานได้โดยตรง และสามารถนำไปเทียบเป็นปริญญาได้ เมื่อเรียนจบแล้วก็จะสามารถเข้าทำงานได้ทันที

ส่วนของนโยบายและข้อริเริ่มการพัฒนา อววน. ที่สำคัญ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้แก่ 1. อว.ส่วนหน้า เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ 2. Bio Circular Green Economy (BCG Economy)  3. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นแนวหน้า (นิวเคลียร์ ซินโครตรอน และควอนตัม) 4. Space Consortium ทำพวกดาวเทียม Remote Censing 5. วิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์ (ธัชชา)  และ 6. การขอตำแหน่งวิชาการด้วยผลงานที่ไม่ใช่ตำราและงานวิจัย เป็นโจทย์สำคัญที่มหาวิทยาลัยจะต้องหาแนวทางในการดึงศักยภาพด้านการวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยออกมาพัฒนาให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงฯ

ในช่วงท้ายของการสัมมนา ดร.กิติพงค์ ยังได้สรุปภาพรวมโจทย์ใหญ่ของประเทศที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสามารถขับเคลื่อนให้เกิดผลกระทบในวงกว้างได้ ด้วยการเป็นต้นแบบเครือข่ายกลุ่มมหาวิทยาลัยในการยกระดับเศรษฐกิจของภูมิภาคด้วยนวัตกรรม โดยแบ่งเป็น 1. การพลิกโฉมอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี (Industiral and Techonology Transformation) เช่น SME 4.0, นวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบอัตโนมัติ พลังงานชีวภาพ เป็นต้น 2. การพลิกโฉมเกษตรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรสมัยใหม่ (Agricultural Transformation) ผลักดันให้เกิด Smart Farming, Smart Farmers และ 3. การพลิกโฉมสู่การท่องเที่ยวดิจิทัล (Tourism Transformation) การทำ Smart and Creative City จัดทำเทคโนโลยีระบบขนส่งมวลชน ออกแบบผังเมือง พื้นที่สาธารณะ เป็นต้น

ในช่วงก่อนจบงานสัมมนา มทร.ศรีวิชัย ได้กล่าวขอบคุณที่ สอวช. ที่ได้ฉายภาพสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต พร้อมชี้ทิศทางของนโยบายขับเคลื่อนประเทศด้วย อววน. อย่างชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางให้มหาวิทยาลัยเตรียมการรับมือได้อย่างเท่าทันและตอบโจทย์ประเทศว่ามหาวิทยาลัยจะมีบทบาทในการช่วยขับเคลื่อนประเทศได้อย่างไรบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยพยายามขับเคลื่อนให้เกิดผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม โดยการตั้งสำนักงานจัดการนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้เป็นหน่วยที่มีความเป็นอิสระมากขึ้น สำหรับข้อมูลที่ได้รับจากทาง สอวช. ในครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างมากซึ่งคณะทำงานจะได้หยิบยกไปบูรณาการเพื่อประกอบการยกร่างแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ทั้งด้านวิชาการ การวิจัย การบริหารจัดการองค์กร และการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย โดยคำนึงถึงทั้งในเรื่องแหล่งทุน และศักยภาพของ มทร. ในการขับเคลื่อนตามทิศทางด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดรับและตอบโจทย์ประเทศต่อไป

Tags:

เรื่องล่าสุด