messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เตรียมพร้อมส่งเสริมการพัฒนาวิจัย นวัตกรรม ช่วยเหลือประชาชน – SMEs พร้อมฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วย บีซีจี โมเดล

สอวช. เตรียมพร้อมส่งเสริมการพัฒนาวิจัย นวัตกรรม ช่วยเหลือประชาชน – SMEs พร้อมฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วย บีซีจี โมเดล

วันที่เผยแพร่ 14 พฤษภาคม 2021 529 Views

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) เปิดเผยถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “BCG Economy Model” ที่ถูกกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ และจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า การดำเนินการขับเคลื่อนเกี่ยวกับบีซีจีนั้น สอวช. จะเข้าไปมีส่วนในการสนับสนุนเรื่องของนโยบาย โดยเริ่มจากการจัดลำดับความสำคัญว่าเรื่องไหนสำคัญอย่างไร จะต้องลงทุนอย่างไร ต้องมีการประสานงานในเชิงนโยบายกับหน่วยงานต่างๆ ที่จะเสริมสร้างเรื่องแรงจูงใจในการขับเคลื่อนในเชิงของการลงทุน อีกส่วนหนึ่งที่คิดว่าสำคัญอย่างมากคือเรื่องของการพัฒนากำลังคนที่จะมาสนับสนุนเรื่องของบีซีจี ซึ่งสอวช. ได้เข้าไปศึกษาในแง่ของความต้องการกำลังคน ว่าในแต่ละประเภทของธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ต้องการคนกลุ่มไหน มีลักษณะอย่างไร รวมไปถึงการศึกษาว่าจะนำบีซีจี เข้าไปช่วยในการฟื้นตัวของประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างไร ที่สำคัญคือการรวบรวมข้อมูลการศึกษาในด้านกฎหมาย และหาแนวทางการปลดล็อกทางกฎหมายบางตัว ที่อาจมีส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาด้านบีซีจี

“ในด้านการฟื้นฟูประเทศ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เชื่อว่าโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี จะเป็นแนวทางในการช่วยฟื้นฟูประเทศได้ แต่การดำเนินงานส่วนหนึ่งต้องมีการปรับลำดับความสำคัญ โดยตามลักษณะพื้นฐานของโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องของโรคอุบัติใหม่ แล้วขณะนี้ก็กลายเป็นโรคอุบัติซ้ำ คือการเกิดขึ้นต่อเนื่องหลายระลอก ทำให้เกิดผลกระทบหลายมิติตามมา ไม่ว่าจะเป็น มิติเรื่องสุขภาพ ที่กลายมาเป็นเรื่องเร่งด่วน ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยในเรื่องของระบบสุขภาพมากขึ้น อีกมิติหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อันเกิดจากผลกระทบของโควิด-19 ส่วนแรกคือเรื่องของการปิดตัวหรือขายของไม่ได้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อการจ้างงาน สิ่งที่ อว. ได้ทำไปแล้วก็จะมีการจ้างงานชั่วคราว สร้างให้เกิดงานขึ้นในชุมชน และเมื่อมีความเกี่ยวข้องกับชุมชนก็จะเชื่อมโยงไปถึงภาคเกษตร การท่องเที่ยว และบริการสุขภาพ อีกส่วนหนึ่งที่ต้องได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนคือกลุ่มของ SMEs มีการลงเรื่องของงานวิจัยที่จะช่วยกลุ่ม SMEs ได้มากขึ้น รวมถึงสนับสนุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงงานต้นแบบ เป็นต้น นอกจากนี้ สอวช. ยังคำนึงถึงประเด็นด้านความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นภายในประเทศ จึงเข้ามาศึกษาในด้าน Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มขึ้นด้วย” ดร.กิติพงค์ กล่าว

ในด้านบทบาทของภาคประชาชนและ SMEs ที่ต้องปรับตัวให้พร้อมสำหรับนโยบายบีซีจีดร.กิติพงค์ให้ข้อชี้แนะว่า กลุ่มเกษตรของจะต้องปรับตัวในเรื่องการใช้ Smart Farming หรือเกษตรอัจฉริยะ เรื่องของเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ เพื่อให้ผลผลิตออกมาได้มาตรฐานทุกครั้ง โดยเกษตรกรต้องเริ่มคิด เริ่มปรับตัว ส่วนทางฝั่งของรัฐเองก็จะเข้าไปสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของกลุ่ม SMEs ก็จะต้องปรับตัวแนวคิดใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมเพิ่มเติมเข้าไปในการประกอบธุรกิจ

ปัจจุบัน สอวช. กำลังคิดที่จะทำแซนด์บอกซ์ ในกลุ่มนวัตกรรมบางอย่าง เช่น นวัตกรรมทางด้านเครื่องมือแพทย์ ที่ทำออกมาแล้วให้ได้มาตรฐาน และนำไปทดลองใช้ในโรงพยาบาลต่างๆ เมื่อเกิดการนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงค่อยนำไปขยายผลในการพัฒนาต่อเนื่องและเพิ่มจำนวนให้ตอบสนองต่อความต้องการ ด้านภาครัฐจะต้องมีตลาดเข้ามาช่วยสนับสนุนการซื้อในช่วงแรก เพื่อร่วมเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจ บีซีจีขึ้นในประเทศได้

ดร.กิติพงค์ ยังได้ให้ความมั่นใจกับประชาชนและผู้ประกอบการว่า ทิศทางของบีซีจีเป็นทิศทางที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ประเทศไทยมี และภาครัฐได้พยายามเตรียมการอะไรหลายอย่างขึ้นมาในการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุนหรือการทำวิจัยนวัตกรรม รวมถึงการปลดล็อกทางด้านกฎหมายที่เป็นอุปสรรค โดยเฉพาะในภาคส่วนที่เป็นเรื่องเกษตร เรื่องอาหาร เรื่องสุขภาพ เรื่องการแพทย์ เรื่องของพลังงาน เรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญในประเทศ จึงต้องมีการเตรียมการในการทำงานอย่างเต็มที่ และมองเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องระยะยาวและต่อเนื่อง

Tags:

เรื่องล่าสุด