messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ลงนามความร่วมมือกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ร่วมกันสร้างขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ดึงหลักสูตร CIRCO ของเนเธอแลนด์เป็นแนวทางสร้างองค์ความรู้และความมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนของภาคเอกชน

สอวช. ลงนามความร่วมมือกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ร่วมกันสร้างขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ดึงหลักสูตร CIRCO ของเนเธอแลนด์เป็นแนวทางสร้างองค์ความรู้และความมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนของภาคเอกชน

วันที่เผยแพร่ 21 พฤษภาคม 2021 759 Views

(20 พฤษภาคม 2564) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรแห่งชาติ (สอวช.)
ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ โครงการการพัฒนานโยบายเพื่อสร้างขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ร่วมกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand) โดยมี H.E. Mr. Kees Rade เอกอัครราชทูตเนเธอแลนด์ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานและกล่าวเปิดงาน

Mr. Kees Rade กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ประเทศไทยให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามที่รัฐบาลได้ยกเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ามาเป็นหนึ่งในนโยบายที่ประเทศต้องขับเคลื่อน แต่อีกส่วนที่สำคัญนอกเหนือจากการริเริ่มจากภาครัฐ คือความร่วมมือจากภาคเอกชนที่จะนำเอาแนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ ซึ่งประเทศเนเธอแลนด์ขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ในส่วนที่เป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกิดโมเดลการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับการใช้ทรัพยากร การคำนึงถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงต้องมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบ โดยพบว่าการนำเอาหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในประเทศเนเธอแลนด์มากขึ้น ส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 9%

“นโยบายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของรัฐบาลเนเธอแลนด์ที่สำคัญ ส่วนที่หนึ่งคือเรื่องของเสีย มีการตั้งเป้าหมายการนำของเสียในครัวเรือนกลับมาใช้ประโยชน์ และลดการเกิดปริมาณของเสีย จาก 100 กิโลกรัมต่อคน เหลือ 30 กิโลกรัมต่อคน ภายใน 5 ปี (ปี 2525) ส่วนที่สองคือการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในสินค้ากลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นตลาดของบริษัทที่จะผลิตสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นด้วย และส่วนที่สามคือการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ จากความตระหนักในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเพียงแค่ภายในประเทศ หรือในสหภาพยุโรปนั้นยังไม่เพียงพอ ต้องดำเนินการร่วมกันในระดับโลก ในนามเอกอัครราชทูตเนเธอแลนด์ประจำประเทศไทย จึงต้องมีการขับเคลื่อน โดยการแบ่งปันองค์ความรู้กับประเทศไทย และในขณะเดียวกันต้องเรียนรู้จากตัวอย่างในประเทศไทยร่วมด้วย ซึ่งการร่วมมือกับ สอวช. ในครั้งนี้เป็นการแบ่งปันความรู้การดำเนินธุรกิจโดยนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ เป็นหลักสูตรอบรมจาก CIRCO ที่เชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ และการลงนามความร่วมมือในวันนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างแรงสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อสร้างสังคมแห่งเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นบนโลกใบนี้” Mr. Kees Rade กล่าว

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เผยว่า มีความยินดีที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และหน่วยงาน CIRCO ที่สนับสนุนโดยรัฐบาลประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่จะเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งในประเทศไทยมีการเริ่มดำเนินการทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่ส่วนใหญ่เน้นไปที่โมเดลการกำจัดของเสีย การรีไซเคิล และในปัจจุบันรัฐบาลกำหนดให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นหนึ่งในระเบียบวาระสำคัญของชาติ จึงต้องมองให้ครอบคลุมถึงการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ให้เป็นวงจรแบบปิด หรือ Close Loop ที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรได้มากกว่า นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วย

ในการทำงานของ สอวช. ได้ออกสมุดปกขาวในหลักการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนไปเมื่อปีที่แล้ว ดำเนินการทั้งการแก้ปัญหาเดิมในการจัดการปัญหาขยะ และอีกส่วนคือแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการดำเนินโครงการต่างๆ ได้รับแรงสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนที่ช่วยให้เกิดโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน เน้นการนำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรมเข้ามาช่วย

“ขณะนี้ สอวช. ยังได้ผลักดันเรื่อง CE Solution Platform เพื่อให้หน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกันได้ ครอบคลุมตั้งแต่การทำ CE Design ไปจนถึงการส่งเสริมให้เกิด Service Provider เพื่อให้มองเห็นแนวทางการดำเนินการตามหลักของเศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะเมื่อนำไปปฏิบัติจริง อาจมีข้อติดขัดหลายประการ แม้แต่เรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบ ซึ่ง สอวช. ก็ได้เตรียมการที่จะอำนวยความสะดวกในส่วนนี้ไว้แล้วด้วย ในปัจจุบันมีการดำเนินการให้หน่วยบริหารจัดการทุนสนับสนุนทุนเพื่อนำไปพัฒนาให้เกิดแพลตฟอร์มนี้ขึ้น เริ่มตั้งแต่การจัดเตรียมระบบ ผู้ที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนที่อาจเป็นรูปแบบ Social Enterprise แต่คนที่อยู่ในแพลตฟอร์มจะมีหลากหลายกลุ่ม ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทขนาดเล็ก และสตาร์ทอัพ” ดร.กิติพงค์ กล่าว

ดร.กิติพงค์ ยังได้เสริมว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นวาระสำคัญทั้งในด้านนโยบาย และการปฏิบัติ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือ ทั้งรัฐบาล และภาคเอกชน นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ได้ทำงานร่วมกับสมาคมฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการริเริ่มสร้างความตระหนักและสร้างขีดความสามารถในการออกแบบ เรื่องของ CE Design ในระดับที่ลงถึงองค์กร โดยมีการตั้งเป้าการทำงานร่วมกัน ให้เกิดการนำร่องใน 100 องค์กร ก่อนจะขยายไปในวงกว้างขึ้น โดยมีความร่วมมือกับ CIRCO International และ CIRCO เนเธอแลนด์ ที่มีแนวทางในเรื่องของ Design thinking และกระบวนการการออกแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน

ในส่วนของนางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand) กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในวันนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับนโยบายของชาติด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยต้องดึงภาคธุรกิจ ภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งในปัจจุบันองค์กรขนาดใหญ่หลายองค์กรเริ่มนำแนวทางการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้แล้ว และด้วยมูลค่าตามราคาตลาดของสมาชิกสมาคมฯ ที่สูงกว่า 4.2 ล้านล้านบาท ทำให้เห็นศักยภาพที่สมาคมฯ จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

“บทบาทที่สำคัญของสมาคมฯ คือการสนับสนุนธุรกิจต่างๆ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่กับการปรับเอาเทคโนโลยีมาใช้ ตั้งแต่ในกระบวนการการผลิต เริ่มแรกจากปรับวิธีคิด ทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงผู้บริโภค ต้องเพิ่มขีดความสามารถารแข่งขันให้สูงขึ้นเพื่อการอยู่รอดได้ในระยะยาว หลักความคิดนี้ก็จะสอดคล้องกับหลักการออกแบบเพื่อการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เห็นความสำคัญการเลือกใช้วัตถุดิบ ใส่ใจวัสดุที่ใช้ออกแบบผลิตภัณฑ์ นำนวัตกรรมตรงนั้นมาใช้เป็นเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้อง ตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product life cycle) เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดตลอดอายุการใช้งาน” นางสาวธันยพร กล่าว

ช่วงท้ายของพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ได้มีการบรรยายในหัวข้อ Learnings in fuelling the circular transition, by CIRCO ซึ่ง CIRCO เป็นโปรแกรมการออกแบบหมุนเวียนที่สนับสนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยหลักสูตรนี้จะแสดงให้เห็นถึงโอกาสของรูปแบบธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดห่วงโซ่อุปทาน รูปแบบการผลิต การบริการที่เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านกระบวนการ Design Thinking , Business Model Design และ Supply Chain Analysis โดยพัฒนามาจากกรอบความคิด  “Products That Last” ซึ่งประกอบไปด้วยโมเดลธุรกิจหมุนเวียน และกลยุทธ์การออกแบบหมุนเวียนที่ถูกวิจัยและพัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัย Technical University of Delft (TU Delft) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้เป็นขั้นตอนการออกแบบที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้ธุรกิจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างนวัตกรรมได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้หลักสูตรการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) ของ CIRCO  ได้ถูกใช้กับผู้ประกอบการและบริษัทมากกว่า 1,000 แห่ง ในประเทศเนเธอร์แลนด์และในอีก 8 ประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป ตุรกี อินโดนีเซีย เป็นเครื่องมือขยายการดำเนินการเศรษฐกิจหมุนเวียนครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ และมีการประยุกต์ใช้และสร้างเครือข่าย Innovation Hub จากการดำเนินหลักสูตร CIRCO เป็นต้น

โดยสมาคมฯ เริ่มนำหลักสูตรนี้มาสาธิตเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้สนใจเกือบ 200 ราย และมีเสียงตอบรับที่มั่นใจได้ว่ากระบวนการในหลักสูตรนี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับภาคเอกชนได้ และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่การดูแลสิ่งแวดล้อมได้ โดยไม่เพียงสนับสนุนการลดต้นทุนของการผลิต แต่มีการแก้ปัญหาด้วยการนำวัสดุมาใช้ใหม่ ต่อยอดเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจ และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ตลาดโลกที่มีความต้องการสูงขึ้น การทำงานร่วมกับ สอวช. จึงเป็นโอกาสที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยไปพร้อมกับผู้นำภาคเอกชน และการจัดอบรมจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้เกิดแพลตฟอร์มที่เป็นระบบนิเวศสนับสนุนผู้ประกอบการสามารถนำไปต่อยอดเองได้ในอนาคต

โครงการ Circular design จะจัดอบรมทั้งหมด 10 รุ่น สำหรับ 10 เส้นทางธุรกิจ (Track) ภายในระยะเวลา 18 เดือน สำหรับกิจกรรมการอบรมรุ่นที่ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน ก.ค. 2564 นี้ ทางสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยเปิดรับบริษัทผู้ผลิต และองค์กรที่สนใจเริ่มต้นเส้นทางสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนที่ดำเนินงานในเส้นทางธุรกิจสิ่งทอ เสื้อผ้า หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆในกลุ่มออกแบบอุตสาหกรรม

โดยองค์กรธุรกิจที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซด์สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือติดต่อคุณกมลนาถ องค์วรรณดี (ผู้จัดการโครงการ) โทร. 081-919-9740

Tags:

เรื่องล่าสุด