messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) จัด CE Innovation Policy Forum ครั้งที่ 1 สร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนกับทุกภาคส่วน

สอวช. ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) จัด CE Innovation Policy Forum ครั้งที่ 1 สร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนกับทุกภาคส่วน

วันที่เผยแพร่ 8 มิถุนายน 2021 643 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) จัดงานเสวนา CE Innovation Policy Forum ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “คำถามที่อยากให้ช่วยกันหาคำตอบเศรษฐกิจหมุนเวียนในบริบทไทย” เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผ่านระบบออนไลน์ เชิญผู้เล่นสำคัญ (Key Player) จากทุกภาคส่วนร่วมกันแลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทย พร้อมระดมสมองหารือแนวทางการขับเคลื่อนระดับกลุ่มรายสาขา (sector) ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มเกษตรและอาหาร เพื่อส่งต่อข้อมูลให้ภาคนโยบายออกแบบกลไกต่อไป โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมการเสวนากว่า 160 คน

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า การจัดงานเสวนาในครั้งนี้จะเป็นเวทีสื่อสารที่สำคัญในการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมเข้าไปสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย สอวช. ได้ทำงานร่วมกับสมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) นอกจากนี้ สอวช. ยังมีเครือข่ายที่มีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในด้านอื่นๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย และหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนในเรื่องการให้ทุน และบุคลากร ที่จะช่วยให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทุกภาคส่วนมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็นบทบาทของภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต การบริการ รวมถึงภาคประชาสังคมที่ต้องมีความตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น สอวช. มุ่งหวังว่าการจัดงานเสวานาในครั้งนี้จะเป็นตัวช่วยในการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และเป็นเวทีที่จะช่วยกันในการออกแบบทั้งในเชิงนโยบายและเชิงระบบ ซึ่ง สอวช.จะร่วมสนับสนุนในการนำเอาความคิดความเห็นจากเวทีเสวนามาประมวลเป็นแนวทาง นำไปผลักดันในเชิงนโยบายต่อไป และอีกส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในการกำหนดจุดยืนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประเทศไทยในเวทีนานาชาติ เช่น การประชุมเอเปค ที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 นอกจากนี้หากหน่วยงานที่เข้าร่วมในการเสวนาเห็นว่ามีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ด้วยเช่นกัน

ดร.กิติพงค์ เปิดเผยในการบรรยายหัวข้อ “ชวนมองไปข้างหน้า: การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทยเป็นอย่างไร” ว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นหนึ่งใน บีซีจี โมเดล โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ถูกยกเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ โดยยกตัวอย่างธุรกิจตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ใน 3 แนวทาง คือ 1) ลดการใช้วัตถุดิบใหม่ เช่น ร่วมมือกับร้านค้า/ห้างเพื่อตั้งสร้าง refill station ให้ลูกค้านำบรรจุภัณฑ์เดิมมา refill ได้  2) คงคุณค่าผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและวัสดุ เช่น การยืดอายุผลิตภัณฑ์ ของ เอ.พี.ฮอนด้า ด้วยการตั้งศูนย์ปรับสภาพรถจักรยานยนต์มือสองเกรดเอ (Second Hand) เพื่อจัดจำหน่ายใหม่แก่ลูกค้า และ 3) ลดผลกระทบทางลบให้เหลือน้อยที่สุด เช่น การรีไซเคิล ตัวอย่างเช่นการเก็บบรรจุภัณฑ์ของโคคา-โคล่า ผ่านการทำงานกับสตาร์ทอัพด้านการรวบรวมขยะ เพื่อนำบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล เป็นต้น

เศรษฐกิจหมุนเวียน จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์การจัดการขยะในประเทศไทย ที่ยังคงเป็นปัญหาในปัจจุบัน ทั้งขยะชุมชนและกากของเสียอุตสาหกรรม ที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ อันเนื่องมาจากการนำไปกำจัดด้วยการฝัง กลบ เผา นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้ทรัพยากรของประเทศไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรและก่อให้เกิดมูลค่าต่ำเมื่อเทียบกับจีดีพีต่อการใช้ทรัพยากรกับประเทศอื่นๆ สำหรับโอกาสและความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในเวทีโลก ภายในปี 2030 เศรษฐกิจหมุนเวียนจะสร้างโอกาสทางธุรกิจ ได้สูงถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์ (ของ GDP 90 ประเทศ) และสามารถสร้างงานได้มากถึง 395 ล้านตำแหน่ง หากไทยจะสร้างโอกาสทางธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียนจะต้องมีการปรับตัว ในการส่งออกกับประเทศคู่ค้าที่มีมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ European Green Deal ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และ Carbon neutral

ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนไทย จะทำใน 2 ส่วน คือ การแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิม ต้องนำขยะกลับมาอยู่ในรูปทรัพยากรเพื่อให้เกิดการหมุนวนใช้ใหม่ และอีกส่วนหนึ่งคือ การใช้แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นทางออกสำหรับปัญหาเก่า และโอกาสสำหรับเศรษฐกิจใหม่ เช่น Low Carbon Society, Green Job เป็นต้น สำหรับกรอบการพัฒนากลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียน 2030 ได้กำหนดเป้าหมายไว้ 3 ด้าน คือ ลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 4 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 10 mtCO2e และสร้างมูลค่าจากเศรษฐกิจหมุนเวียนร้อยละ 1 – 3 ของจีดีพี โดยตัวอย่างแนวทางที่จะเป็นกลไกในการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาแก้ไขปัญหาการจัดการขยะที่มีอยู่เดิมคือ การแลกเปลี่ยนของเสีย วัสดุเหลือใช้ซึ่งกันและกัน (Waste Symbiosis) การขนส่งสินค้าคืนสู่ผู้ขายและรีไซเคิล (Reverse Logistic & Recycle) การหมุนเวียนอาหารถูกทิ้ง (Circular Food Waste) รวมถึงกลไก CE Platform for Green Construction & Smart City ส่วนแนวทางการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ จากเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การทำ CE Solution Platform (เทคนิค, การสร้างขีดความสามารถ, match making, circular design) CE Service Provider (มาตรฐาน, การระบุคุณสมบัติวัสดุ/Material Characteristic,การออกแบบ) และการสร้างผู้ประกอบการเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE Entrepreneurs) เป็นต้น โดยต้องมีกลไกด้านการพัฒนาขีดความสามารถ แพลตฟอร์มความร่วมมือ การวิจัยและพัฒนา กฎระเบียบและแรงจูงใจทางการเงิน/การคลัง เครื่องมือการลงทุน รวมถึงการส่งเสริมการขายและการส่งออก มาเป็นตัวช่วยสำคัญในการขับเคลื่อน

“เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม สอวช. ได้ร่วมมือกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย จัดให้มีโครงการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการด้าน Circular Design & CE Innovation Hub ตั้งเป้าให้เกิดการนำร่องจาก 100 องค์กร และด้วยมูลค่าตามราคาตลาดของสมาชิกสมาคมฯ ที่มีสูงกว่า 4.2 ล้านล้านบาท ทำให้เห็นศักยภาพที่สมาคมฯ จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ นอกจากนี้ สอวช. ยังได้มีความร่วมมือกับสมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระดมความคิดเห็นและบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนผ่าน CE Innovation Policy Forum ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ และจะมีขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย” ดร.กิติพงค์ กล่าว

ด้าน ดร. วิจารย์ สิมาฉายา นายกสมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ บีซีจี โมเดล สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้กล่าวเน้นย้ำถึงโอกาสของประเทศไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นรูปแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่ช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานควบคู่กับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สอดคล้องบริบทการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในด้านเศรษฐกิจ จะช่วยสร้างโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจรีไซเคิลขยะคุณภาพสูง ธุรกิจพลังงานชีวมวล/ชีวภาพ ธุรกิจแบบ Sharing Platform ธุรกิจ Remanufacturing หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เป็นต้น ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ป้องกันไม่ให้เกิดขยะและของเสียที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม โดยครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การบริโภค การจัดการของเสีย ด้านสังคม เศรษฐกิจหมุนเวียนจะทำให้ประชาชนผู้บริโภคมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีตัวเลือกในการบริโภคที่เพิ่มขึ้น พร้อมๆ กับการมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

“ในการขับเคลื่อน บีซีจี โมเดล สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้ประสบความสำเร็จมี 6 ปัจจัยสำคัญ ประกอบด้วย 1) ขับเคลื่อนด้วย Key Project/Focus Sector และเปลี่ยนแบบอย่างความสำเร็จเป็นโมเดลขยายผลไปยังกลุ่มอื่นๆ 2) พัฒนา CE Solution Platforms สร้างขีดความสามารถด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และเชื่อมโยงความรู้สู่เป้าหมาย เช่น ผู้ประกอบการ และเกษตรกร เป็นต้น 3) ด้าน Waste Symbiosis / Secondary Resources / Regulatory Reform Sandbox โดยการปรับแก้กฏระเบียบที่เป็นอุปสรรค 4) สร้างบุคลากร/สังคม CE โดยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการผลิต การบริโภค และการใช้ชีวิตด้วยกระบวนการสร้างความรู้ ความเข้าใจ 5) การสร้างตลาด CE โดยการพัฒนากลไกตลาดที่เหมาะสม มีแรงจูงใจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และ 6) ต้องมีการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก องค์กรหรือตัวบุคคล ทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น” ดร. วิจารย์ กล่าว

ในหัวข้อ “ใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนบ้าง” รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ที่ปรึกษาสมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลว่า ในบริบทของต่างประเทศผู้เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นเริ่มตั้งแต่ผู้ออกแบบนโยบาย นักลงทุน ภาคการศึกษา ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมไปถึงภาคประชาสังคม และเมื่อมองในโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยมีความสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันโดยจะต้องใช้กลไก “จตุภาคี” คือการอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการอย่างจริงจังของทุกภาคส่วน ทั้งจากภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐ และชุมชน/ประชาสังคม รวมไปถึงความร่วมมือจากต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้ในการเสวนายังมีการแบ่งการระดมความคิดเห็น ออกเป็น 2 ห้องย่อย ได้แก่ ห้องของกลุ่มอุตสาหกรรม และห้องของกลุ่มเกษตรและอาหาร เพื่อแลกเปลี่ยนร่วมกันในแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) ได้ให้ข้อสรุปในภาพรวมว่า หัวใจสำคัญในการของเศรษฐกิจหมุนเวียนคือการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุด หรือไม่มีของเสียเลย ซึ่งการจะช่วยขับเคลื่อนในด้านเศรษฐกิจไปพร้อมกันด้วย ส่วนสำคัญคือการผลักดันเชิงนโยบาย ในเบื้องต้นเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ถูกกำหนดให้อยู่ในนโยบายในระดับสูง ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ผลักดัน บีซีจี โมเดล ให้เป็นวาระแห่งชาติ และได้กำหนดกรอบงบประมาณปี 2565 ที่มี บีซีจี เป็นตัวตั้งในการวางงบประมาณ

ในส่วนของการขับเคลื่อนจากนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ให้ความเห็นถึงการเชื่อมโยงของกรอบกฎหมาย สิทธิประโยชน์ต่างๆ สัมพันธ์กับการสร้างจิตสำนึก วิถีชีวิต การศึกษา ให้กับคนที่มีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน นอกจากนี้จะต้องมีการกำหนดมาตรฐาน ตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อจะบอกว่าการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ส่วนของการผลิตต้องมีระบบการจัดการการผลิต ระบบการดูแล การออกแบบผลิตภัณฑ์ ในส่วนของข้อมูล ควรมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยเฉพาะ รวมถึงฐานข้อมูลการแลกเปลี่ยนของเสียที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ หลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนคือการให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันในการบูรณาการ การแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ทาง สอวช. และสมาคมฯ จะต้องร่วมกันคิด ร่วมกันผลักดันในเรื่องนี้ โดย CE Innovation Policy Forum จะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในกลุ่มรายสาขาอื่นๆ อีก อาทิ ภาคท่องเที่ยวและการบริการ ภาคการเงินและการลงทุน ภาคการศึกษาและการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม รวมถึงภาคอื่นๆ เพื่อร่วมระดมความเห็นที่เป็นประโยชน์ในการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดผลสำเร็จต่อไป

Tags:

เรื่องล่าสุด