messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เผยผลการลงทุน R&D ไทยปี 62 มูลค่า 193,072 ล้านบาท คิดเป็น 1.14% ของจีดีพี คาดจะลดลงต่ำกว่า 1% เล็กน้อย ในปี 63-65 จากผลกระทบของโควิด-19 ยันตั้งเป้าเดิมแตะ 2% ในปี 70 ด้วยมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ

สอวช. เผยผลการลงทุน R&D ไทยปี 62 มูลค่า 193,072 ล้านบาท คิดเป็น 1.14% ของจีดีพี คาดจะลดลงต่ำกว่า 1% เล็กน้อย ในปี 63-65 จากผลกระทบของโควิด-19 ยันตั้งเป้าเดิมแตะ 2% ในปี 70 ด้วยมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ

วันที่เผยแพร่ 15 มิถุนายน 2021 3921 Views

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจตัวเลขค่าใช้จ่ายการวิจัยและพัฒนา ในปี 2562 ที่ สอวช. ได้ทำร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พบว่า มีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 193,072 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.14 ของจีดีพี เติบโตขึ้นร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยแบ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชน 149,244 ล้านบาท และการลงทุนของภาครัฐ 43,828 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนภาคเอกชนต่อภาครัฐอยู่ที่ร้อยละ 77 และร้อยละ 23 ตามลำดับ ซึ่งการลงทุนของภาคเอกชนจะเกิดผลกับเศรษฐกิจเป็นหลัก ส่วนภาครัฐจะเน้นไปที่การลงทุนการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) ในปีที่ผ่านมาเน้นการศึกษาวิจัยใน 4 เรื่องหลัก คือ 1. Quantum Technology 2. Space Science & Technology 3. High Energy Physics และ 4. Molecular Biology นอกจากนี้ภาครัฐยังได้ลงทุนกับการวิจัยขั้นพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาบุคลากรวิจัยด้วย

เมื่อแบ่งตามประเภทของอุตสาหกรรมพบว่า อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
1.อุตสาหกรรมอาหาร
มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุด อยู่ที่ 32,321 ล้านบาท โดยมีการลงทุนก่อสร้างศูนย์นวัตกรรมอาหารเพื่อจุดประสงค์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการวิจัย มีการวิจัยและพัฒนาการนำวัตถุดิบเหลือใช้มาทำการเพิ่มมูลค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดของเสียจากการผลิต รวมถึงมีการวิจัยพัฒนาเกี่ยวกับการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิม ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค 2.อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ 11,958 ล้านบาท โดยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์และกระบวนการเดิมเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดค่าใช้จ่ายหรือสร้างผลลัพธ์อื่นๆ มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน รักษาและขยายส่วนแบ่งของผลิตภัณฑ์ในตลาด และต่อยอดธุรกิจข้างเคียง ตลอดจนมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน Scale up และสร้างความสามารถการทำวิจัยและพัฒนาที่สูงขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น และ 3.บริการด้านการเงินและประกันภัย มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ 11,579 ล้านบาท โดยมีการวิจัยและพัฒนา Mobile Banking Platform และพัฒนาระบบการทำธุรกรรมออนไลน์ให้น่าเชื่อถือ ป้องกันการโจรกรรมและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด รวมถึงมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาเพื่อมองหาโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ ในรูปแบบใหม่ๆ ทดแทนธุรกิจที่จะถูก Digital Disruption ได้ง่าย

สำหรับจํานวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ในปี 2562 ผลสำรวจพบว่า ประเทศไทยมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่ทำงานเทียบเท่าเต็มเวลา (full-time equivalent) รวมทั้งสิ้น 166,788 คน-ปี คิดเป็นสัดส่วน 25 คน ต่อประชากร 10,000 คน-ปี โดยแบ่งเป็นบุคลากรจากภาคเอกชน 115,543 คน-ปี และบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐ (รวมภาคอื่นๆ) 51,245 คน-ปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69 และร้อยละ 31 ตามลำดับ โดยจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ประจำปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 4.6 และในปี 2570 ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่ทำงานเทียบเท่าเต็มเวลา (full-time equivalent) ให้อยู่ในสัดส่วน 40 คน ต่อประชากร 10,000 คน-ปี

ในส่วนของการประเมินสถานภาพการลงทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศ ปี 2563 – 2570 ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ภาคเอกชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องลดทอนค่าใช้จ่าย เพื่อรักษากิจการไว้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาที่จะถูกพิจารณาปรับลดลง สอวช. คาดการณ์ว่าการลงทุนในด้านนี้ของประเทศไทยจะลดลงเป็นอย่างมากในช่วงปี 2563 – 2565 และจะลดลงไปสู่จุดที่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของจีดีพีเล็กน้อยและจะกลับมาฟื้นตัวได้หลังจากพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปแล้วในปี 2566 เป็นต้นไป โดยในปี 2563 คาดว่าตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาจะอยู่ที่ร้อยละ 0.91 ต่อจีดีพี ปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 0.94 ต่อจีดีพี และปี 2565 คาดการณ์ตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ร้อยละ 0.96 ต่อจีดีพี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันหลายภาคส่วนจะมีความตระหนักและเห็นความสำคัญว่าการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันทำให้ธุรกิจและเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่หากไม่มีมาตรการที่มาช่วยกระตุ้น ส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐเพิ่มเติม ก็คาดว่าในปี 2570 ประเทศไทยจะมีการลงทุนในด้านนี้คิดเป็นร้อยละ 1.46 ของจีดีพี หรือเป็นเม็ดเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 2 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

“แน่นอนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่มีมาตรการอะไรมากระตุ้นหรือรองรับ ตัวเลขการลงทุนที่จะไปถึงเป้าหมายร้อยละ 2 ต่อจีดีพีคงเป็นไปได้ยาก แต่ด้วยในปัจจุบันองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการแข่งขันในเวทีโลก การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจะเป็นการลงทุนที่สร้างโอกาสให้กับประเทศในระยะยาวได้ เราจึงยังคงยืนยันในการรักษาเป้าหมายการลงทุนวิจัยและพัฒนาในปี 2570 ที่ร้อยละ 2 ต่อจีดีพี ตามเป้าหมายเดิม ภายใต้การมีมาตรการรองรับหรือกระตุ้นให้เกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนา โดยภาครัฐจะต้องมีมาตรการในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนทำวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้” ดร.กิติพงค์ กล่าว

การคลี่คลายของการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลต่อการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในประเทศ หากสถานการณ์คลี่คลายเร็ว ภาคเอกชนจะกลับมาลงทุนเร็ว ภาคบริการ การท่องเที่ยว ต้องมีการปรับตัว มีเรื่องสุขภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง และจากแรงกดดันของการทำธุรกิจและการตลาด จะยิ่งหนุนให้ต้องมีการทำวิจัย ส่วนในสาขาอาหาร ต้องให้ความสำคัญกับการทำเรื่องอาหารปลอดภัย การขนส่ง การผลิตอาหารสดไปถึงมือผู้บริโภค โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ด้านอุตสาหกรรมการผลิต ต้องหันมาใช้ Automation และ AI มากขึ้น ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศน้อยลง

ในช่วงหลังปี 2565-2566 แนวทางในการผลักดันให้ตัวเลขการวิจัยและการพัฒนาเพิ่มสูงขึ้นได้ในภาพรวมคือ 1. กองทุนต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการเเข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น 2. แรงจูงใจทางด้านภาษี โดยหลักการคือให้บริษัทใหญ่ๆ ที่ต้องการเห็นนวัตกรรมในประเทศ บริจาคเงินเข้ากองทุนนวัตกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แล้วนำยอดเงินนั้นไปขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากกรมสรรพากร โดยสามารถยกเว้นภาษีได้ 2 เท่า และเงินที่อยู่ในกองทุนนี้จะเอาไปส่งเสริมกลุ่ม SMEs เพื่อให้อยู่รอดและขายสินค้าให้กับบริษัทใหญ่ รัฐบาล รวมถึงตลาดทั้งในประเทศ และตลาดโลกได้ 3. การปรับหรือ   ปลดล็อกในเชิงกฎระเบียบหรือกฎหมาย ให้การสนับสนุนทุนวิจัยทำได้ง่ายขึ้น สามารถสนับสนุนทุนให้กับภาคเอกชนได้โดยตรง ในลักษณะของการทำ Matching Fund

ด้านนโยบายที่จะเข้าไปส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชน ได้แก่ 1. การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดการลงทุน เช่น การสร้างแรงจูงใจทางภาษี 2. เรื่องบุคลากร หากจะทำนวัตกรรมต้องการผู้ที่มีความสามารถเข้าไปช่วย จะต้องปรับเปลี่ยนจากการให้นักวิจัยทำงานในมหาวิทยาลัยทุกวัน ให้มีการเข้าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมด้วย 3. การเงิน ต้องมีระบบสนับสนุนในเชิงการเงิน เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนร่วมลงทุน เช่น การทำ Matching Fund ร่วมกับหน่วยบริหารจัดการทุน 4. โครงสร้างพื้นฐานที่ไปสนับสนุนวิจัยและนวัตกรรม ต้องมีการสนับสนุนตั้งแต่เครื่องมือ ไปจนถึงห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้บริการแก่ภาคเอกชน  5. การปลดล็อกเรื่องกฎ ระเบียบที่ต้องใช้เวลานาน และซับซ้อน เช่น การรับรองมาตรฐานต่างๆ 6. สำหรับผู้ประกอบการใหม่ และผู้ประกอบการขนาดเล็ก ต้องมีศูนย์ช่วยเหลือ ทั้งในด้านการตลาดและการระดมทุน ต้องมีการสนับสนุนเมนเทอร์ หรือโค้ชเข้าไปช่วยชี้แนะแนวทาง

สำหรับการกระตุ้นการลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาครัฐ จะเน้นไปที่การวิจัยและพัฒนา ซึ่งสิ่งที่ทำอยู่แล้วคือการให้ทุนกับหน่วยวิจัย อีกส่วนหนึ่งคือการสนับสนุนในบางสาขาที่กลไกตลาดไม่ทำงาน เช่น การทำเทคโนโลยีทางการเกษตรเพื่อนำไปใช้ทั่วประเทศ ซึ่งภาคเอกชนไม่เข้ามาลงทุน เนื่องจากถือเป็นบริการสาธารณะ รัฐบาลจึงต้องเข้าไปดูแล สนับสนุนเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อไปช่วยผู้ประกอบการรายย่อย หรือกลุ่ม SMEs อีกส่วนที่สำคัญคือการสร้างแรงจูงใจที่จะให้นักวิจัยทำนวัตกรรม ด้วยการผลักดัน พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่กำหนดให้ผู้รับทุนสามารถขอเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้ ซึ่งจะส่งผลให้ภาคเอกชนสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อยอด เกิดธุรกิจนวัตกรรมจากการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ รวมถึงสร้างแรงจูงใจต่อการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยและนักวิจัยให้ตรงกับความต้องการของตลาด ตอนนี้กำลังอยู่ในสภาคือกฎหมายส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย ผลงานที่ทำออกมาตกลงเป็นของผู้รับทุน เราจะปลดล็อกให้นักวิจัยไปทำต่อเองได้

เป้าหมายที่จะเกิดขึ้นหากมีการสนับสนุนในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยประเทศไทยให้หลุดจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โดยตั้งเป้าช่วยเหลือครัวเรือนเกษตร ให้มีรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้นจาก 58,000 บาท/ปี ขึ้นมาอยู่ที่ 150,000 บาท/ปี ช่วยขจัดวงจรความยากจนของคนจนเมือง และช่วยสร้างความยั่งยืนในด้านทรัพยากร และด้านสังคมให้กับประเทศได้ “สอวช. ยังคงเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะสามารถไปถึงเป้าหมายการลงทุนวิจัยและพัฒนาในปี 2570 ที่ร้อยละ 2 ต่อจีดีพีได้อย่างแน่นอน เนื่องจากภาคเอกชนไทยเก่ง และมีกำลังเพียงพอที่จะขับเคลื่อนไปสู่จุดนั้น เมื่อเข้าสู่การแข่งขันที่ต้องอยู่บนฐานนวัตกรรม ภาคเอกชนต้องมาร่วมกันกับรัฐบาลในการขับเคลื่อน เชื่อว่าเรามีศักยภาพมากพอ ส่วนภาคเอกชน รายย่อย กลุ่ม SMEs รัฐบาลจะต้องมีกลไกสนับสนุน นอกจากนี้ยังมั่นใจว่ามหาวิทยาลัยไทยในด้านวิชาการไม่แพ้มหาวิทยาลัยในภูมิภาค มีหลายอย่างที่เราทำได้เอง โดยเฉพาะ Bio-based หรือเรื่องอาหาร สุขภาพ ที่ประเทศไทยมีศักยภาพทัดเทียมหลายประเทศ โดย สอวช. จะช่วยหนุนในเชิงนโยบาย ผลักดันให้เกิดมาตรการ กลไกที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนาทั้งในส่วนภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้ประเทศไทยมีองค์ความรู้ มีเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ซึ่งนอกจากการรักษาเป้าหมายการลงทุนวิจัยและพัฒนาแล้ว การดำเนินงานของ สอวช. ผ่านการสร้างสรรค์นโยบาย มาตรการ กลไก และข้อเสนอต่างๆ ที่นำศักยภาพด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมาใช้ เชื่อว่าจะสามารถส่งมอบอนาคตประเทศไทย สร้างโอกาสใหม่ให้กับทุกภาคส่วนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม” ดร.กิติพงค์ กล่าว

Tags:

เรื่องล่าสุด