สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยเชิงระบบด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อถอดบทเรียนแนวทางการประเมินขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี (Technological Capability) ของต่างประเทศ และพัฒนาแนวทางการประเมินขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี ศึกษาและวิเคราะห์ขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร (เนื้อไก่) และอุตสาหกรรมยานยนต์ (ยานยนต์ไฟฟ้า) เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางการประเมินขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและผลการประเมินขีดความสามารถดังกล่าวของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ทำไมถึงต้องมีการประเมินขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี Technological capability
การประเมินขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี จะช่วยทำให้ทราบสถานะขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) และทราบแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของผู้ประกอบการ ซึ่งมักขึ้นอยู่กับกระบวนการพัฒนาและผลิตของแต่ละอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย/มาตรการที่จะช่วยส่งเสริมการยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในส่วนมาตรการส่งเสริม และการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม
แนวทางการประเมินขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรมอาหาร (เนื้อไก่)
สำหรับการประเมินความสามารถด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมอาหาร (เนื้อไก่) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นและอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน มีระดับการเติบโตสูง อาจเรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมอยู่ตัว (Well-established Sector) จากผลการศึกษาได้มีการวิเคราะห์ข้อเสนอแนะด้านการประเมินว่า การประเมินความสามารถด้านเทคโนโลยีในสถานภาพอุตสาหกรรมอยู่ตัว อย่างอุตสาหกรรมเนื้อไก่ สามารถใช้หลักการกรอบคิดพื้นฐานของการสะสมและพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยี ของ Bell และ Pavitt ที่ได้เสนอไว้ว่า การพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่การซื้อเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีใหม่และการรับถ่ายทอดชุดความรู้ (codified knowledge) ในการใช้งานเท่านั้น แต่ยังต้องการการสร้างความรู้ที่ฝังลึก (tacit knowledge) อยู่ภายในผลิตภัณฑ์ กระบวนการ ให้เกิดขึ้นและคงอยู่ในองค์กร ซึ่งความรู้เหล่านี้จะเกิดได้ก็ต้องมีการลองผิดลองถูกในการดำเนินกิจกรรมทางเทคโนโลยี และการสะสมความรู้เชิงลึกและมีระยะเวลาการเรียนรู้ที่มากพอ โดยหลักการดังกล่าวทำให้ได้ผลลัพธ์จากการประเมินที่ชัดเจนสามารถแยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการได้ดี นอกจากนี้ในส่วนผู้ประเมินจำเป็นต้องมีความรู้เชิงลึกในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อที่จะสามารถจำแนกกิจกรรมทางธุรกิจของผู้ประกอบการออกเป็นกิจกรรมหลักและกิจกรรมสนับสนุน เข้าใจถึงรายละเอียดของกิจกรรมทางธุรกิจดังกล่าว และสามารถพัฒนาเกณฑ์การประเมินสำหรับระดับความสามารถ 4 ระดับ คือ ระดับ Routine (ระดับต่ำสุด) หมายถึง ความสามารถที่ผู้ประกอบการทำได้เพียงกิจกรรมพื้นฐานที่จำเป็นต้องทำเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้เท่านั้น ระดับ Basic (adoptive) หมายถึง ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจ สามารถใช้ประโยชน์เทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ เล็งเห็นว่าเทคโนโลยีเหล่านั้น จำเป็นต่อการประกอบกิจการหรือการบริหารจัดการ หรือมีการใช้กันทั่วไปเป็นปกติอยู่แล้ว ระดับ Intermediate (adaptive) หมายถึง ผู้ประกอบการสามารถใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น หรือ สามารถปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของเทคโนโลยีให้เข้ากับการบริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น โดยอาจเริ่มสังเกต/บันทึกข้อมูล เพื่อวิเคราะห์หาแนวทางการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น และระดับ Advanced (innovative) หมายถึง ผู้ประกอบการมีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อคิดค้นและสร้างเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ได้ ในบางกิจกรรม อาจเป็นการร่วมวิจัยและพัฒนากับหน่วยงานหรือสถาบันอื่น ๆที่มีความพร้อมมากกว่า ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ จากรายงานผลการศึกษา พบว่า องค์ประกอบสำคัญที่จำเป็นต้องมีการพิจารณาเมื่อทำการศึกษาวิจัยเชิงระบบ (systems research) คือ ผู้กระทำหรือผู้ดำเนินกิจกรรม (actor) ในระบบ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักจะถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) ภาครัฐและหน่วยงานของรัฐ 2) ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการ 3) สถาบันวิชาการ/ สถาบันการศึกษา และ 4) สังคมหรือผู้ใช้ ภายใต้บริบทของสิ่งแวดล้อม การที่จะทำความเข้าใจระบบเพื่อยกระดับคุณภาพหรือประสิทธิภาพในการดำเนินงานของระบบจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจถึงความสามารถของผู้ดำเนินกิจกรรมในระบบเหล่านั้น ซึ่งในรายงานวิจัยชิ้นนี้ได้เน้นไปที่การประเมินความสามารถด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการภาคเอกชน และได้จัดทำข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้ 1) ผู้ประเมินจะต้องศึกษาและวิเคราะห์ลักษณะของอุตสาหกรรมเป้าหมายว่าเป็นอุตสาหกรรมอยู่ตัว (well-established sector) หรืออุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (in-transition sector) และเลือกเครื่องมือการประเมินที่เหมาะสม 2) ผู้ประเมินจะต้องมีความรู้เชิงลึกในอุตสาหกรรม มีความเข้าใจถึงกิจกรรมที่ผู้ดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องทำ ตัวเลือกเทคโนโลยีที่มีในตลาด เทคโนโลยีพลิกผันและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทั้งในระดับภายในประเทศและระดับสากล รวมทั้งนโยบายอุตสาหกรรม เพื่อการประเมินที่เข้าใจถึงข้อจำกัดและอุปสรรคที่ผู้ประกอบการกำลังประสบ 3) บทวิเคราะห์และผลการประเมินความสามารถด้านเทคโนโลยีจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในระบบ ควรจะมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ศึกษา ประเมิน วิเคราะห์และสรุปภาพรวมภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้ดำเนินกิจกรรมในระบบสามารถนำองค์ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นจากการประเมินไปใช้ได้ อาทิ ภาครัฐสามารถยกระดับหรือเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ โดยออกนโยบายหรือมาตรการที่เหมาะสมกับขนาดและประเภทของธุรกิจ และตรงกับความต้องการหรือช่องว่างทางธุรกิจของผู้ประกอบการได้ ภาคเอกชน มองเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของผู้ประกอบการโดยรวม และต้องเพิ่มศักยภาพของตนหรือสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการรายอื่น สถาบันการศึกษา สามารถสร้างกำลังคนสนับสนุนที่มีทักษะในจำนวนที่เพียงพอและตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยได้โจทย์วิจัยที่นำไปใช้ได้จริง เป็นต้น
ขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหาร (เนื้อไก่)
จากแนวทางการประเมินข้างต้น พบว่า ผู้ประกอบการฟาร์มไก่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีที่ระบุได้ชัดเจนว่ามีระดับแตกต่างกัน ซึ่งเกณฑ์การประเมิน ประกอบด้วย การสร้างและเตรียมโรงเรือน การระบายอากาศ ควบคุมอุณหภูมิ และควบคุมแสง การให้อาหารและน้ำ การทำความสะอาดและการจัดการของเสีย การตรวจสอบคุณภาพ และการคัดเลือกไก่ พันธุ์ไก่ อาหารไก่ ยาและวัคซีน และการจำหน่าย โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ มีความสามารถด้านเทคโนโลยีสูงกว่าผู้ประกอบการรายเล็กในเกือบทุกมิติของเกณฑ์การประเมิน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความพร้อมด้านปัจจัยทุนและอำนาจการต่อรองเป็นสำคัญ ส่วนฟาร์มขนาดเล็ก มีระดับความสามารถใกล้เคียงกันในมิติของการทำความสะอาดและจัดการของเสีย อาหารไก่ และการจำหน่าย และฟาร์มขนาดใหญ่และฟาร์มขนาดเล็กมีระดับความสามารถที่แตกต่างกันมากที่สุดคือ มิติด้านอาหารไก่ และด้านการจำหน่าย เป็นต้น
ทั้งนี้ การประเมินความสามารถด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการข้างต้นสามารถนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการจัดสรรทุนงบประมาณด้าน ววน. ได้อีกด้วย เช่น การประกาศรับข้อเสนอโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับด้าน ววน. หรือการออกมาตรการสนับสนุนในด้านที่ผู้ประกอบการยังขาดความเข้มแข็ง หรือการสร้างเครือข่ายวิจัยที่ต้องการดึงให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วม เพราะสามารถเลือกจากระดับความสามารถของผู้ประกอบการที่มีความเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาในเชิง ววน. ของอุตสาหกรรมเนื้อไก่ได้มีการถูกวิเคราะห์ไว้แล้วในโครงการวิจัย “การกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (Priority Setting)” โดยตัวอย่างเนื้อหาจากการศึกษาวิเคราะห์ Priority Setting ของอุตสาหกรรมเนื้อไก่ ที่เป็นกิจกรรมต้นน้ำ ประเภทอาหารสัตว์ยาสัตว์ พบว่า ทิศทางของอาหารสัตว์ ยาสัตว์และการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมและเป็นที่พึงประสงค์ ควรมีลักษณะเป็นอาหารที่ส่งเสริมให้ไก่เติบโตดี มีอัตราการแลกเนื้อสูง การเลี้ยงให้ไก่เติบโตและมีสุขภาพดีโดยปราศจากยาปฏิชีวนะและสารเร่งประเภทต่างๆ คือ กินดี (สูตรอาหารที่เหมาะสม / functional feed supplement / gut microbiome) อยู่ดี (precision livestock farming) และป้องกันรักษา (autogenous vaccine / biopharma / precision medicine) ดังนั้น ตัวอย่างของ Priority issue ที่มีความสอดคล้องกับทิศทางและความประสงค์ของอุตสาหกรรมนี้ คือ 1) การพัฒนาสูตรอาหารไก่ที่เหมาะสม และทำให้มีอัตราการแลกเนื้อสูง 2) การเลือกและพัฒนาสูตร functional ingredient จากสมุนไพร pre/probiotics เพื่อทดแทนการใช้ยา 3) การศึกษาระบบและกลไกจุลชีพในทางเดินอาหารของไก่ (gut microbiome) 4) การพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต autogenous vaccine และ 5) precision medicine สำหรับปศุสัตว์ / drug delivery
ในกรณีของกิจกรรมกลางน้ำ กระบวนการแปรรูป ปรุงสุกและปรุงรส พบว่าทิศทางที่เหมาะสม คือ การปรุงสุกและปรุงรสชาติอาหารแบบแม่นยำตรงกับความต้องการของผู้บริโภค การใช้สารปรุงรสโดยลดการใช้สารที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น เกลือและน้ำตาล รวมถึงการแช่เย็นแช่แข็งที่รักษารสชาติและคุณภาพของเนื้อไก่ (taste & texture) โดยตัวอย่างของ priority issue ที่สอดคล้องกับทิศทางดังกล่าว คือ 1) การพัฒนาระบบการปรุงสุกแบบแม่นยำ (precision cooking) 2) การพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการรับรส/ประสาทสัมผัสแบบละเอียดในระดับโมเลกุล (molecular sensory science) เพื่อที่จะสามารถหาสารปรุงรสที่มาทดแทนเกลือหรือน้ำตาลได้ และ 3) การพัฒนา freezing technology ที่รักษาคุณภาพของอาหาร เช่น cell-alive system (CAS) สำหรับตัวอย่างกิจกรรมปลายน้ำ ทิศทางที่เหมาะสมสำหรับการตรวจสอบย้อนกลับ คือ ผลิตภัณฑ์อาหารสามารถมีระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า มีระบบที่สามารถวิเคราะห์และชี้เป้าสาเหตุ และพยากรณ์ปัญหา food safety และปัญหาอื่นๆ ในผลิตภัณฑ์อาหาร ในส่วน priority issue ที่เหมาะสม คือ 1) การสร้างเครื่องมือการตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อโรคที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต (ตั้งแต่ฟาร์ม โรงเชือด โรงงานแปรรูป และการขนส่ง) และ 2) ระบบ big data สำหรับวิเคราะห์และพยากรณ์สาเหตุของปัญหาด้าน food safety
ติดตามอ่านผลการศึกษาวิจัยเชิงระบบด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตอนที่ 2 ที่จะมาถอดแนวทางการประเมินขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ (ยานยนต์ไฟฟ้า) ได้เร็วๆ นี้ ทาง Facebook Fanpage สอวช.