สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย IMD World Competitiveness Center ประจำปี 2021
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในภาพรวมดีขึ้น 1 อันดับ โดยขยับจากอันดับที่ 29 ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 28 จาก 64 ประเทศ โดย 3 อันดับแรกของประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ สวีเดน และเดนมาร์ก ตามลำดับ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ พบว่า ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยในปี 2021 ดีขึ้น 1 อันดับ ขยับจากอันดับที่ 39 ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 38 แสดงให้เห็นถึงความตระหนักและพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์ของไทยที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจัยสำคัญมาจากค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของทั้งประเทศที่เพิ่มจากร้อยละ 1.11 ของ GDP ในรอบปีสำรวจ 2020 เป็นร้อยละ 1.14 ของ GDP ในรอบปีสำรวจ 2021 โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนวิจัยและพัฒนาจากภาคเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา เพิ่มขึ้นจาก 4,426 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2020 เป็น 4,807 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2021 นับเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าภาคเอกชนไทยมีความพร้อม และจะยิ่งพัฒนาขึ้นไปได้อีกหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ส่วนในด้านผลงานตีพิมพ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมากกว่า 1,000 รายการ
สำหรับทางด้านการศึกษานั้น ประเทศไทยมีอันดับลดจากอันดับที่ 55 ลงมาอยู่อันดับที่ 56 (ลดลง 1 อันดับ) ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยด้านการศึกษาที่มีการพัฒนาดีขึ้น เช่น ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ (TOEFL) การศึกษาในมหาวิทยาลัยตอบโจทย์การแข่งขัน ดัชนีอันดับมหาวิทยาลัย อัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป รวมถึงทักษะทางภาษาตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ เป็นต้น