messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมกับ STIPI ศึกษาวิจัยเชิงระบบด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ถอดแนวทางการประเมินขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี (Technological Capability) ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ (ยานยนต์ไฟฟ้า)

สอวช. ร่วมกับ STIPI ศึกษาวิจัยเชิงระบบด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ถอดแนวทางการประเมินขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี (Technological Capability) ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ (ยานยนต์ไฟฟ้า)

วันที่เผยแพร่ 21 มิถุนายน 2021 1258 Views

จากการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเชิงระบบด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมอาหาร (เนื้อไก่) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมอยู่ตัว (Well-established) ในตอนที่ผ่านมา ครั้งนี้เราจะพามาถอดผลการศึกษาวิจัยเชิงระบบด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (in-transition sector) อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ (ยานยนต์ไฟฟ้า) กันบ้าง จะมีรายละเอียดอย่างไร ไปติดตามพร้อมๆ กัน

อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่ถือว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (in-transition sector) ไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมแบบพลิกผัน และมีผู้ประกอบการที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งจากอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม และผู้ประกอบการใหม่ที่มาจากอุตสาหกรรมอื่น ที่เข้ามาดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์และให้บริการในแบบที่แตกต่างกันไป ดังนั้น เพื่อให้เกิดการประเมินขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการที่ทำได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบหรือปรับกรอบการประเมินให้เหมาะสมกับบริบทของอุตสาหกรรม ซึ่งในการประเมินความสามารถด้านเทคโนโลยีครั้งนี้ได้ทำการศึกษาและประเมินผู้ประกอบการกลุ่มตัวอย่างที่มีความสนใจดำเนินธุรกิจที่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ (product) และบริการ (mobility service) ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์สมัยใหม่และเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้เริ่มดำเนินกิจกรรมเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่มาแล้วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้สามารถสะท้อนความสามารถและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่มี ทั้งในมิติกิจกรรมการดำเนินธุรกิจ (operation) การลงทุนทางด้านเทคโนโลยี (investment) และรูปแบบในการเข้าถึงเทคโนโลยีของบริษัทได้อย่างชัดเจน และเนื่องจากโครงสร้างอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงและมีผู้ประกอบการที่มาจากอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ทำให้ยังไม่สามารถระบุกิจกรรมทางธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมที่ชัดเจนได้ จึงไม่เหมาะที่จะใช้เครื่องมือประเมินขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี ของผู้ประกอยการแบบอุตสาหกรรมเนื้อไก่ที่อยู่ตัวแล้วได้ โดยในการประเมินสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์นี้ จะใช้เครื่องมือประเมินผู้ประกอบการในส่วนนี้จำนวน 2 เครื่องมือ คือ 1) เครื่องมือประเมินขีดความสามารถของผู้ประกอบการในภาพรวม (overall capability assessment) เพื่อศึกษาและประเมินทิศทางธุรกิจ ความสามารถในการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาเทคโนโลยี ปัญหาอุปสรรคที่ครอบคลุมการตลาด กฎระเบียบ ฯลฯ ตลอดจนแนวทางการจัดสรรทรัพยากรและรูปแบบการเข้าถึงและเรียนรู้เทคโนโลยีของบริษัท ซึ่งการประเมินแบบภาพรวมนี้จะช่วยให้เข้าใจถึงสภาพการณ์โดยทั่วไปของบริษัท โดยคณะผู้วิจัยได้แยกวิเคราะห์รูปแบบธุรกิจการผลิตและธุรกิจการให้บริการออกเป็น 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านศักยภาพของผู้ประกอบการ (capability) มิติด้านปัญหาและอุปสรรค (bottleneck) และมิติด้านกลยุทธ์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี (strategy for technology & RDI activities) 2) เครื่องมือประเมินความสามารถในการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี (technological learning) ของผู้ประกอบการด้วย Capability Audit Tool (CAT) เพื่อประเมินความสามารถในการเรียนรู้และของบริษัทว่ามีรูปแบบการคัดเลือกเทคโนโลยีที่สะท้อนถึงโอกาสทางธุรกิจในอนาคตหรือไม่ มีรูปแบบการเข้าถึงการเรียนรู้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนมีการจัดการการเรียนรู้และการสร้างเครือข่ายที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพหรือไม่ ในระดับใด

และเพื่อให้เครื่องมือการประเมินความสามารถด้านเทคโนโลยีนี้มีประโยชน์สูงที่สุด นอกจากที่ผู้ประเมินจะต้องมีความรู้เชิงลึกในอุตสาหกรรมเดิมแล้ว ยังจะต้องตระหนักและเข้าใจถึงแนวโน้มของเทคโนโลยีใหม่ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วที่มีผลกระทบต่อที่มีอุตสาหกรรมโลก แนวทางและนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ ซึ่งนำไปสู่โอกาสและอุปสรรคของผู้ประกอบการในการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อที่จะทำให้เข้าใจถึงบริบทของผู้ประกอบการ และประเมินความสามารถในบริบทของเขาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ทั้งยังสามารถนำความเข้าใจถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมและผลประเมินความสามารถของผู้ประกอบการไปสร้างองค์ความรู้ใหม่ (insight) เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้

ขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ (ยานยนต์ไฟฟ้า)

จากการศึกษาวิจัย ได้เก็บข้อมูลผู้ประกอบการที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีค่อนข้างสูงในอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม มีความพร้อม มีการวางแผนและได้เริ่มดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว โดยในส่วนผลการประเมินบริษัทที่มีศักยภาพด้านการผลิตสูงและเลือกที่จะผลิตรถบัสไฟฟ้า ซึ่งได้ถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะเป็นตลาดที่โตก่อนเป็นอันดับแรกสำหรับทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ด้านการผลิต พบว่า ผู้ประกอบการมีความสามารถในการประกอบยานยนต์ โดยมีฐานความรู้และเครือข่ายซัพพลายเออร์จากกลุ่มธุรกิจเดิม มีความสามารถทางด้านวิศวกรรมที่ใช้ในการออกแบบยานยนต์ ด้านวัสดุศาสตร์ และการบริหารจัดการกระบวนการผลิต (production process management) นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาร่วมกับสถาบันวิจัยในประเทศ แต่ประสบปัญหาในด้านความน่าเชื่อถือของตราสินค้า (brand) ความสามารถด้านการตลาด และการทดสอบมาตรฐานในประเทศ รวมทั้งยังขาดความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ โดยมีกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีคือ การซื้อเทคโนโลยีจากภายนอกที่ไม่ใช่เทคโนโลยีที่บริษัทมีศักยภาพในการผลิตสูงเข้ามาต่อยอดทางธุรกิจ

สำหรับผลการประเมินบริษัทที่มีศักยภาพด้านบริการ (mobility) สูง และเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการคมนาคมขนส่ง ที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเทคโนโลยีสำคัญ พบว่า ด้านการผลิต ในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า บริษัทมีการพัฒนาตู้สลับแบตเตอรี่ (battery swapping) เพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภค และมีแผนการขยายสถานีบริการสลับแบตเตอรี่ (swapping station) เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของบริษัทในอนาคต ด้านบริการ ปัจจุบันบริษัทมีการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการของบริษัท (mobility platform) และการทำวิจัยเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) เพื่อพัฒนารูปแบบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยที่มีการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น บริษัทรถยนต์ และบริษัทสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อขยายการใช้แพลตฟอร์ม (platform) ให้ครอบคลุมการให้บริการยานพาหนะหลายประเภท รวมทั้งขยายฐานการตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าเฉพาะอื่นๆ เช่น การร่วมมือกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในการพัฒนาสถานีบริการสลับแบตเตอรี่ หรือการให้บริการรถยนต์ไฟฟ้าภายในโครงการ เป็นต้น

เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่หลากหลายที่ทำกิจกรรมทางธุรกิจที่แตกต่างกัน มีธุรกิจเดิมธุรกิจหลักหรือจุดแข็งที่ต่างกัน และมีทิศทางในการขยายธุรกิจที่แตกต่างกันไป ดังนั้นจึงได้มีการศึกษาวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพื่อทำความเข้าใจทิศทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ โดยสามารถแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการออกเป็น  3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ประกอบการที่ผลิตและให้บริการด้านพลังงาน (Energy solution) ซึ่งอยู่ที่ช่วงต้นของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมใหม่ และกำลังขยายธุรกิจเข้าไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 2) กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนและประกอบยานยนต์ (Auto parts and assembly) เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดิม และได้ทำการพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีเพื่อให้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้ ควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลง แต่ก็มีผู้ประกอบการบางรายที่เริ่มขยายธุรกิจเข้าไปสู่การให้บริการ 3) กลุ่มผู้ให้บริการคมนาคมขนส่ง (Mobility service) ซึ่งใช้โอกาสที่อุตสาหกรรมอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรม มีผู้ประกอบการหลายรายได้ขยายธุรกิจเข้าไปสู่การผลิตด้วย

นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังได้พัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเบื้องต้นสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จากข้อมูลการศึกษาสัมภาษณ์และประเมินผู้ประกอบการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ควรทบทวนขอบเขตของการกำหนดเป้าหมายอุตสาหกรรม จากเดิมที่เน้นเพียงการผลิตชิ้นส่วนและการประกอบยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งยังค่อนข้างแคบ ให้ขยายครอบคลุมถึงธุรกิจด้านพลังงานและด้านคมนาคมขนส่ง (mobility) เพื่อนำไปสู่การศึกษาเชิงลึกเพื่อกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ของประเทศที่ระบุกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้เหมาะสมในมิติธุรกิจที่ครบวงจร

2. ควรวางนโยบายการถ่ายทอดหรือซื้อเทคโนโลยีเป้าหมายที่เน้นไปที่รูปแบบการร่วมลงทุน หรือมีมาตรการเฉพาะเพื่อดึงดูดให้บริษัทต่างชาติที่สนใจลงทุนวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีให้เข้ามาอยู่ในไทย โดยออกแบบนโยบายให้เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจและขนาดของผู้ประกอบการ เนื่องจากเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมนี้มีความซับซ้อน อยู่ระหว่างการแข่งขันอย่างรุนแรง ยังไม่มีรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน (dominant design) จึงยังไม่มีเทคโนโลยีของบริษัทใดที่เป็นผู้ครองตลาดโดยสมบูรณ์

3. นอกจากนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดิม กล่าวคือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนและผู้ประกอบยานยนต์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น พลังงานและบริการคมนาคมขนส่ง แล้วนั้น ควรทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงภาพรวมหรือภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรม (industry landscape) อย่างครบถ้วนสำหรับประเทศไทยและวางนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่น แต่ไม่รู้ว่าตนเองสามารถเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมใหม่นี้ได้ เช่น ผู้ผลิตมอเตอร์หรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และในขณะเดียวกันก็วางกลยุทธ์การปรับตัวและกลยุทธ์การถอนตัว (exit strategy) ให้กับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถอยู่เป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมใหม่ต่อไปได้ เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบไอเสีย ระบบเกียร์ ระบบคลัตช์ ฯลฯ โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดเล็กที่อาจไม่ได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมของตนเองหรืออุตสาหกรรมใกล้เคียง

ติดตามย้อนหลังกับผลการศึกษาวิจัยเชิงระบบด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ถอดแนวทางการประเมินขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร (เนื้อไก่) ได้ที่ https://www.nxpo.or.th/th/7949/

Tags:

เรื่องล่าสุด