messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เชิญผู้สร้างดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรก พูดคุยถึงโอกาสของประเทศ ชี้ไทยมีศักยภาพส่งดาวเทียมไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ เชื่อกลไกสำคัญคือการสร้างคน

สอวช. เชิญผู้สร้างดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรก พูดคุยถึงโอกาสของประเทศ ชี้ไทยมีศักยภาพส่งดาวเทียมไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ เชื่อกลไกสำคัญคือการสร้างคน

วันที่เผยแพร่ 28 มิถุนายน 2021 1424 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดรายการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ ถึงการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยรับมือกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อมองหาและสร้างโอกาสให้กับประเทศผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ตรง ในรายการ Future Talk by NXPO ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ในครั้งนี้เป็นการพูดคุยในประเด็น “ก้าวที่ยิ่งใหญ่ สู่อวกาศ กับ “ผู้สร้างดาวเทียม” สัญชาติไทยดวงแรก และความเป็นไปได้ในการสร้างยานอวกาศไปดวงจันทร์ในอีก 7 ปีข้างหน้า” ได้รับเกียรติจาก ดร. พงศธร สายสุจริต อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย (INSTED) และนายชวัลวัฒน์ มาตรคำจันทร์ Sub Project Manager โครงการ BCC-SAT-1 และประธานนักเรียน UNISEC Thailand ร่วมพูดคุย ดำเนินรายการโดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.

ดร.พงศธร เริ่มเล่าถึงการเข้าสู่วงการดาวเทียมและอวกาศจากการได้เป็นนักเรียนทุนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นจนจบระดับปริญญาเอก และกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สาขาที่เรียนเกี่ยวข้องกับการสร้างดาวเทียม และหุ่นยนต์อวกาศ (Space Robot) และในระหว่างเรียนเคยมีประสบการณ์สร้างดาวเทียมขนาดเล็กหลายโครงการ เมื่อกลับมาที่ประเทศไทยก็ได้ทุนจาก กสทช. สร้างดาวเทียมขนาดเล็กที่เรียกว่า CubeSat ขนาด 10 เซนติเมตรชื่อว่า KnackSat ส่งขึ้นสู่วงโคจรไปเมื่อปี 2561 และปัจจุบันในมหาวิทยาลัยได้มีการตั้งสถาบันเทคโนโลยีอวกาศขึ้นมา ชื่อย่อว่า INSTED โดยมีความหวังว่าอยากจะสร้าง Jet Propulsion Laboratory: JPL ของเมืองไทย เป็นห้องปฏิบัติการที่มีเทคโนโลยีด้านอวกาศและนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ

ด้านนายชวัลวัฒน์ กำลังจะเข้าศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมนาโน นานาชาติ โดยช่วงระหว่างการศึกษาในชั้นมัธยมที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้มีส่วนร่วมในโครงการ BCC Space Program เป็นโครงการที่สอนให้นักเรียนสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก 1U (Unit) ชื่อว่า BCCSAT-1 มีภารกิจในการถ่ายภาพเพื่อการสำรวจทรัพยากรทางธรรมชาติประเภทพืชพันธุ์ ซึ่งดาวเทียมนี้ถูกส่งเข้าสู่วงโคจรไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา และตอนนี้อยู่ในวงโคจรเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันนายชวัลวัฒน์ยังเป็นประธานนักเรียนขององค์กร UNISEC Thailand ที่ทำเกี่ยวกับการให้ความรู้และจัดอบรมด้านวิศวกรรมอวกาศทั่วโลก การที่หันมาศึกษาเรื่องดาวเทียมและอวกาศมาจากความสนใจเรื่องเทคโนโลยีตั้งแต่เด็ก และได้รับแรงบันดาลใจจาก ดร.พงศธร ในชั้นเรียน BCC Space Program ที่กล่าวว่า “ดาวเทียมหรือยานอวกาศเป็นสิ่งที่ซับซ้อนที่สุดเท่าที่มนุษยชาติจะสร้างได้ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นถ้าสามารถสร้างดาวเทียมได้ อะไรบนโลกนี้ก็สร้างได้ทั้งนั้น” หลังจากได้ผ่านประสบการณ์ในการร่วมสร้างดาวเทียมจึงถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากในชีวิต

เมื่อพูดถึงความสำคัญของการศึกษาเรื่องดาวเทียมและอวกาศ ดร.พงศธร ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีที่เราใช้อยู่หลายอย่างถูกพัฒนามาจากเทคโนโลยีอวกาศ เทคโนโลยีอวกาศจึงคล้ายกับหัวหอกเทคโนโลยีชั้นนำของโลกที่เราได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนเรื่องดาวเทียมเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของเทคโนโลยีอวกาศ ดาวเทียมนั้นมีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียมสื่อสาร อย่างดาวเทียมไทยคม หรือดาวเทียมสำรวจโลก รวมถึงดาวเทียมที่โครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย หรือ Thailand Space Consortium (TSC) กำลังพัฒนาก็จะเป็นดาวเทียมเชิงแสงที่เป็นประโยชน์กับการทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ทำให้มองเห็นในสิ่งที่ตาคนมองไม่เห็น ต่างจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรทั่วไป เราจะสามารถเห็นความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ ปริมาณสารตกค้าง สารพิษจากยาฆ่าแมลงในพืช หรือความชุ่มชื้นของดิน เป็นต้น เทคโนโลยีเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มีอุตสาหกรรมขั้นสูง การพัฒนาดาวเทียมวิทยาศาสตร์ หรือดาวเทียมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์กับประเทศไทยได้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างมาก

“สิ่งที่ยิ่งใหญ่ในการทำดาวเทียม คือการที่นักเรียน นักศึกษาในประเทศไทยที่ไม่ได้มีความรู้ด้านอวกาศมาก่อน เริ่มคิดตั้งแต่เศษกระดาษว่าจะทำอะไร ควักกระเป๋าสตางค์เอาค่าขนมตัวเองไปซื้อเศษขยะมาแกะ มาสร้างดาวเทียม ความภาคภูมิใจคือการได้พาคนที่มีความสนใจด้านนี้มาสร้างดาวเทียมจริงๆ ส่งไปในอวกาศ ถ้าเทียบกันแล้วในต่างประเทศการทำเรื่องนี้ง่ายกว่าประเทศไทย เพราะมีอุตสาหกรรมอวกาศ มีระบบสนับสนุน แต่ประเทศไทยนอกจากพบปัญหาทางด้านเทคนิคแล้ว ยังมีปัญหาด้านความเข้าใจ การตั้งคำถามจากสังคม ความสำเร็จที่แท้จริงจึงเป็นการทำให้สังคมไทยได้เห็นความสำคัญของดาวเทียมและเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้” ดร.พงศธร กล่าว

สำหรับเป้าหมายการสร้างดาวเทียมไปโคจรรอบโลกและรอบดวงจันทร์ ดร.พงศธร กล่าวว่า ตามเป้าหมายหลักของโครงการ TSC คือต้องการจะสร้างคน ตามคำกล่าวที่ว่า “ดาวเทียมสร้างคน ไม่ใช่คนสร้างดาวเทียม” ดังนั้นไม่ว่าจะสร้างดาวเทียมเพื่อไปโคจรรอบโลกหรือรอบดวงจันทร์ เป็นเพียงโจทย์เท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องส่งเสริมคือเรื่องคน เราต้องทำคนของเราให้เก่ง มีฝีมือ มีเทคโนโลยี ส่วนคำถามที่ว่าเราจะทำได้จริงไหม หรือเราเก่งขนาดไหนในเวทีโลก ต้องมีเกณฑ์มาตรฐานในการวัดความสำเร็จ อาจเริ่มจากการสร้างดาวเทียมโคจรรอบโลกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นให้สำเร็จ ส่วนการไปดวงจันทร์มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่เป็นเป้าหมายที่เราอยากจะไปถึง และโดยภาพรวมจากการได้สัมผัสกับกลุ่มนักวิจัย กลุ่มคณาจารย์หรือกลุ่มผู้ประกอบการในประเทศไทย ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพ เชื่อว่าดาวเทียมลูกแรก ดาวเทียม GSC 1 ที่เราจะส่งภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ไม่น่าจะเกินความสามารถของประเทศไทย ส่วนเรื่องไปดวงจันทร์เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและละเอียด เราจะมีโครงการระหว่างทางที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นไป เพื่อให้มีศักยภาพที่จะทำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยได้มากขึ้นในอนาคต

สำหรับสมาชิกของโครงการ TSC จะมีสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA เป็นผู้ที่คอยดูแลเรื่องการสนับสนุนผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพที่มีไอเดียหรือมีเทคโนโลยีที่จะสามารถมาช่วยสนับสนุนโครงการได้ เราจะสรรหาผู้ประกอบการเหล่านี้เพื่อมาร่วมกันสร้าง ร่วมกันพัฒนาดาวเทียมที่กำลังจะส่งขึ้นไปในอนาคต นอกจากนี้ยังมีโครงการ Outreach Program ที่นอกจากสนับสนุนผู้ประกอบการแล้ว ยังมีการจัดการแข่งขัน เช่น โครงการ Space Fight ที่ให้นักเรียน นักศึกษาช่วยกันออกแบบไอเดียว่าจะไปทดสอบอะไรในอวกาศ ที่ตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการแข่งขัน โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้ส่งชิ้นส่วนที่ตัวเองคิด และทำขึ้นไปทดสอบในอวกาศจริงๆ หรืออย่าง UNISEC Thailand ก็เป็นหน่วยงานที่ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนในการให้ความรู้ด้านอวกาศว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

ดร.พงศธร เน้นย้ำว่า อยากให้ประเทศไทยมีความหวัง เชื่อว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเดินไปข้างหน้า เพื่อเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้า เป็นประเทศที่มั่งคั่ง อยากให้ทุกคนเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคิดอย่างมีเหตุผล ด้านนายชวัลวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนจำนวนมาก ที่ชอบและสนใจเรื่องอวกาศ แต่ยังไม่มีประสบการณ์ในการได้ไปลองทำจริง จึงอยากให้กำลังใจว่าทาง TSC ได้เริ่มเปิดโครงการต่างๆ ขึ้นมา และหลายโครงการมีความต้องการในเชิงบุคลากรสูง เพราะฉะนั้นคนที่ต้องการทำตามความฝันตัวเอง อยากให้ลองศึกษาเพิ่มเติม และคว้าโอกาสที่ดีไว้ เพื่อเป็นประสบการณ์นำไปต่อยอดในอนาคตได้

ดร.กิติพงค์ ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีโครงการที่ให้การสนับสนุนเรื่องนี้คือโครงการ TSC ที่มี สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เป็นแกนหลัก แต่ในเรื่องการทำวิจัยจะมีหลายหน่วยงาน รวมถึงมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมด้วย พื้นที่ทำวิจัยมีทั้งที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Changchun Institute of Optics, Fine Mechanics and Physics หรือ CIOMP ของประเทศจีน Institute of Optics ประเทศฝรั่งเศส Korea Astronomy and Space Science Institute หรือ KASI ของเกาหลีใต้ ที่เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

Tags:

เรื่องล่าสุด