messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ยานยนต์ไฟฟ้า อนาคตอันใกล้ วิถีใหม่การเดินทาง

ยานยนต์ไฟฟ้า อนาคตอันใกล้ วิถีใหม่การเดินทาง

วันที่เผยแพร่ 17 มีนาคม 2021 1087 Views

“รถยนต์ไฟฟ้า” หลายคนคงเคยได้ยินและรู้จัก แต่อาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวเพราะตัวเลือกของรถยนต์ที่ขายอยู่ในประเทศไทยเป็นระบบน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเมื่อมีการใช้งานจะปล่อยไอเสีย เช่น ก๊าซ CO2 ที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน และก๊าซอื่นๆ ที่สร้างมลพิษทางอากาศ รวมถึงฝุ่นขนาดจิ๋ว PM 2.5 ลอยสะสมอยู่ในอากาศ ซึ่งหากมีการสะสมและมีปริมาณที่เข้มข้นจะเป็นอันตรายและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอีกด้วย ดังนั้น สอวช. จึงมองเห็นความจำเป็นของการศึกษาและการพัฒนาเทคโนโลยีด้านยานยนต์ไฟฟ้าให้เท่าทันประเทศอื่นๆ

เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า คือ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่เก็บอยู่ในอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน อย่างเช่นแบตเตอรี่ และส่งพลังงานผ่านมอเตอร์ไฟฟ้าที่คอยทำหน้าที่ขับเคลื่อน ซึ่งการใช้พลังงานไฟฟ้ามีจุดเด่นคือ ทำให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดขาดดุลการนำเข้าพลังงาน และช่วยลดก๊าซ CO2 และมลพิษทางอากาศเพราะไม่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงเหมือนน้ำมันหรือก๊าซ

ประเทศต่างๆ จึงนิยมยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เห็นได้จากการประกาศนโยบายการเลิกใช้งานรถยนต์น้ำมัน และตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าที่โตขึ้น รวมถึงราคาที่ถูกลงและสามารถเข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ประเทศจีน มีการลดหรือยกเว้นภาษีผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ส่วนประเทศนอร์เวย์ มีแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะฟรี ในขณะที่เพื่อนบ้านเราอย่างประเทศเวียดนามได้มีการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าสมรรถนะสูงและเร่งที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอาเซียน

ยานยนต์ไฟฟ้ากำลังได้รับความสนใจและเป็นกระแสการเปลี่ยนผ่าน ที่จะเห็นภาพชัดมากขึ้นในระยะเวลาอันสั้น สอวช. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเร่งให้การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน ACES (Autonomous, Connected, Electric, and Shared Vehicles) หรือระบบการขับขี่แบบอัตโนมัติ การเชื่อมต่อ การปรับให้เป็นระบบไฟฟ้า และการแบ่งปันกันใช้งาน เพื่อเตรียมความพร้อมในเชิงรุกและใช้โอกาสของการพลิกโฉมของเทคโนโลยีในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ซึ่งต้องการการสื่อสารและสร้างความเข้าใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลุ่มผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดการใช้งานนำร่องในด้านต่างๆ

โดยในเชิงนโยบาย สอวช. ได้จัดทำ “สมุดปกขาวการส่งเสริมและพัฒนายานยนต์สมัยใหม่” ที่เสนอกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลให้ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องพร้อมรับมือกับการพลิกโฉมของเทคโนโลยี เช่น การประกาศให้ ปี ค.ศ. 2035 ยานยนต์ใหม่ควรเป็นยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle : ZEV) ในสัดส่วน 100% ของรถที่มีการจดทะเบียนใหม่ในประเทศ

นอกจากนี้ สอวช. ยังมีแนวทางเพื่อส่งเสริม ACES ไม่ว่าจะเป็น

– กำหนดนโยบายสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิต Tier 1 และติด 10 อันดับแรกของโลกด้าน ZEV และ ACES เพื่อเป็นผู้นำเรื่องการออกแบบการผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์

– สนับสนุนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านและการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในประเทศ โดยการสร้างตลาดในประเทศให้เกิดความต้องการขนาดใหญ่และเฉพาะทาง

– สร้างตลาดและสนับสนุนให้เกิดการเติบโตของบริษัท Startup รวมทั้งปลดล็อกกลไกจัดตั้ง Holding Company โดยการกำหนดนโยบายส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐและเอกชนในธุรกิจนวัตกรรม เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ

– เร่งพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพเพียงพอต่อความต้องการ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการทำวิจัยและพัฒนา การพัฒนาฐานข้อมูลและมาตรฐานข้อบังคับ กฎระเบียบและกฎหมาย เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สอวช. สนับสนุนการสร้างนโยบายที่มีความชัดเจนเพื่อก่อให้เกิดการส่งเสริมด้านการปรับตัว การพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยี (Technology Localization) อีกทั้งสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนา เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เกิดการทดลองการผลิตและเกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย เพื่อช่วยแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ เพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน และยกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมให้แข่งขันทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ ได้อย่างยั่งยืน

ขอบคุณข้อมูลจากhttps://www.enconlab.com/…/menu…/22-2017-09-18-08-57-07https://www.greennetworkthailand.com/รถยนต์ไฟฟ้า-ev-ยุโรป/https://erdi.cmu.ac.th/?p=1478https://www.prachachat.net/motoring/news-517147

Tags:

เรื่องล่าสุด